ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?AA+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?
อันดับเครดิตของบริษัทนั้นมีการปรับเพิ่มขึ้น 2 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Standalone Credit Profile ? SACP) ที่ระดับ ?aa-? สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทมีสถานะเป็น บริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศที่มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม ปตท. อันดับเครดิตเฉพาะดังกล่าวยังพิจารณาถึงระดับภาระหนี้ที่สูงขึ้นในช่วงที่บริษัทกำลังขยายกิจการ และยังรวมถึงปัจจัยเรื่องราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งจะกดดันกำไรของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศ
ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 6,001 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดที่ขนาด 3,703 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 62% ของกำลังการผลิตรวม ตามมาด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ขนาด 1,758 เมกะวัตต์ (29%) และโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งมีกำลังการผลิตรวมที่ขนาด 514 เมกะวัตต์ (9%)
บริษัทคาดว่ากำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,236 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากผลของการขยายกำลังการผลิตของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้ Avaada Energy Private Ltd. (Avaada) และจากการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของหน่วยผลิตไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU) สัดส่วนการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันเป็น 38% ของกำลังการผลิตรวมภายในปลายปี 2568
โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความหลากหลาย
บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวหลากหลาย โดยบริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าจำนวน 36 แห่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้า 6 แห่งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2,439 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 41% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท บริษัทยังมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอีก 20 แห่งที่อยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2,196 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 37% ของกำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอีกด้วย ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีก 22% นั้นมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 10 แห่ง
กำลังการผลิตประมาณ 70% ของบริษัทมาจากโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและกำลังการผลิตที่เหลืออีก 30% มาจากโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศทั้งประเทศอินเดีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
อันดับเครดิตมีพื้นฐานมาจากกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการที่โรงไฟฟ้าของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. (ได้รับอันดับเครดิต ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง) และผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงของกลุ่ม ปตท. โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ยอดขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 53% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ส่วนไฟฟ้าและไอน้ำที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 47%
บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา IPP และ SPP โดยสัญญาที่มีกับ กฟผ. ส่วนใหญ่มีอายุสัญญาที่ประมาณ 21-25 ปี สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPP นั้น บริษัทจะได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment -- AP) เต็มจำนวนตราบเท่าที่โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความพร้อมในการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาถึงแม้ว่า กฟผ. จะไม่ได้สั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเลยก็ตาม ในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SPP นั้นมีความแตกต่างเล็กน้อยจากโรงไฟฟ้า IPP โดย กฟผ. ตกลงรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจำนวน 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งประเภท IPP และ SPP นั้นยังมีกลไกส่งผ่านภาระค่าก๊าซอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา SPP แบบ Non-firm เพื่อช่วยบริหารจัดการเรื่องการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่มีข้อบังคับให้บริษัทต้องจ่ายกระแสไฟฟ้า อีกทั้งบริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าภาคอุตสาหกรรมหลายรายในเขตพื้นที่มาบตาพุดอีกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวมีอายุระหว่าง 5-15 ปี
ขยายกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียน
บริษัทยังคงขยายกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เป้าหมาย 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จาก 1,758 เมกะวัตต์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โครงการ Avaada ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่บริษัทซื้อมาในปี 2564 จะมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มกลยุทธ์การเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัท ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2565 โครงการ Avaada มีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทที่ 1,227 เมกะวัตต์ ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการ Avaada จะเพิ่มกำลังการผลิตให้บริษัทอีก 762 เมกะวัตต์ภายในปี 2567
ในเดือนกันยายน 2565 บริษัทแจ้งว่าสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขบังคับก่อน (Condition Precedent) ของสัญญาซื้อขายหุ้นในโครงการ CI Changfang Ltd. (CF) และ CI Xidao Ltd. (XD) เสร็จสิ้นแล้ว โดยธุรกรรมนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจำนวน 149 เมกะวัตต์ให้แก่บริษัทเมื่อเปิดดำเนินงานครบทุกเฟส
ระดับภาระหนี้สูงขึ้นจากแผนการเติบโต
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วงขยายธุรกิจ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไต้หวัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงภายใต้โครงการ SPP Replacement และโรงไฟฟ้า ERU ในประเทศไทย ในประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในช่วงปี 2565-2568 5.95 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1.09-1.26 แสนล้านบาทในปี 2565-2568 เพิ่มขึ้นจาก 9.67 หมื่นล้านบาทในปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50% ในปี 2565-2568 จาก 45% ณ สิ้นปี 2564
กำไรถูกกดดันจากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น
ราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นกดดันกำไรของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับราคาค่าเชื้อเพลิงที่ล่าช้าสำหรับไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรม โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่บริษัทจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมนั้นเชื่อมโยงกับราคาค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ และจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มค่า Ft นั้นมักจะล่าช้ากว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าจะปรับในช่วงเวลาใดและที่อัตราเท่าไร
ราคาก๊าซเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2564 และขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่เหนือระดับราคา 550 บาทต่อล้านบีทียูในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 อย่างไรก็ตาม อัตราค่า Ft ค่อย ๆ เริ่มถูกปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 97% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 31% โดยส่วนต่างดังกล่าวคาดว่าจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เมื่ออัตราค่า Ft ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2565 เริ่มปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ในประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาก๊าซจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565 และจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับปกติตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ในขณะที่ค่า Ft จะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2566 และจะลดลงในปี 2567 เป็นต้นไป
ในประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจะลดลงเหลือ 1.65 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จาก 2.02 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 7.4 เท่าในปี 2565 อย่างไรก็ตาม จากสมมติฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าราคาก๊าซจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับปกติในปี 2566 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะลดลงเป็นต่ำกว่า 6 เท่าในปี 2566 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะลดลงต่ำกว่า 10% ในปี 2565 และปรับตัวดีขึ้นเป็น 12%-16% ในปี 2566-2568
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท.
ทริสเรทติ้งคงมุมมองว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. จากวิสัยทัศน์ของ ปตท. คือ ?Powering Life with Future Energy and Beyond? (ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน) กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 15% จากระดับในปี 2563
บริษัทเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่มที่จะทำหน้าที่เป็นเรือธงในการขยายธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานและการจัดการพลังงาน ห่วงโซ่คุณค่าแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาดในรูปแบบอื่น ๆ เช่น พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีบทบาทเป็นเครื่องมือในการไปให้ถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ปตท. อีกด้วย
ได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากกลุ่ม ปตท.
เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทเรือธงในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานแห่งอนาคตของกลุ่ม ปตท. ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่า ปตท. จะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทอย่างเต็มที่ต่อไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กลุ่ม ปตท. ปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าโดย ปตท. และ บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด ซื้อหุ้น 10.8% ของบริษัทจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ณ เดือนสิงหาคม 2565 ปตท. ถือหุ้นในบริษัทเป็นสัดส่วน 47.3% ซึ่งระดับการถือหุ้นโดยตรงของ ปตท. ในบริษัทจะใกล้เคียงกับบริษัทเรือธงอื่น ๆ ของ ปตท. เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยออยล์ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
การสนับสนุนที่แข็งแกร่งจาก ปตท. ได้พิสูจน์ให้เห็นจากการที่ ปตท. ได้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือทั้งหมดของบริษัทเพื่อสนับสนุนการซื้อกิจการของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ในปี 2562 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 7.4 หมื่นล้านบาทครบทั้งจำนวนและ ปตท. ยังได้ให้เงินให้กู้ยืมอีกจำนวน 2 หมื่นล้านบาทเพื่อให้บริษัทนำไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า ปตท. จะให้การสนับสนุนพิเศษแก่บริษัทต่อไปเมื่อมีความจำเป็น
สถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (วงเงินที่ไม่สามารถยกเลิกได้และวงเงินที่ไม่มีภาระผูกพัน) ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ดังนั้น เงินสดและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ตลอดจนเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ไว้จะเพียงพอสำหรับการชำระเงินกู้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดราว 1.07 หมื่นล้านบาทได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
โครงสร้างหนี้สิน
ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้ตามงบการเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 1.14 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมของบริษัทย่อย ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 12.2%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2568 ดังต่อไปนี้
? ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 18,600-20,800 ล้านหน่วยต่อปี
? ปริมาณจำหน่ายไอน้ำอยู่ที่ประมาณ 14-15 ล้านตันต่อปี
? EBITDA อยู่ที่ราว 1.65-2.39 หมื่นล้านบาทต่อปี
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวมถึงการลงทุนสุทธิจะอยู่ที่จำนวน 5.95 หมื่นล้านบาท
? อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ประมาณ 56%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะดำเนินงานด้วยความราบรื่นและสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ตามประมาณการ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงินในการดำเนินกลยุทธ์การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานแห่งอนาคต
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงไปจากที่ทริสเรทติ้งคาดหวังไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากซึ่งอาจเกิดจากการก่อหนี้เพื่อการลงทุนในระดับสูง อันดับเครดิตเฉพาะอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถลดภาระหนี้สินทางการเงินลงได้อย่างมีสาระสำคัญได้อย่างต่อเนื่อง
การเปลี่ยนแปลงของสถานะเครดิตของ ปตท. หรือการเปลี่ยนแปลงในความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและ ปตท. อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: AA+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
GPSC22NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA+
GPSC24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA+
GPSC258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA+
GPSC26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA+
GPSC29NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA+
GPSC308A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA+
GPSC31NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 AA+
GPSC34NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2577 AA+
GPSC358A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2578 AA+
GPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA+
GPSC276A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA+
GPSC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA+
GPSC326A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 AA+
GPSC376A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2580 AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable