ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงรายได้ที่สม่ำเสมอจากการจำหน่ายไฟฟ้าและสาธารณูปโภค รวมถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีหนี้สินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งมีโอกาสที่จะสร้างแรงกดดันต่อกำไรของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ยอดขายที่ดินมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายที่ดินของบริษัทจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศและการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์
ชื่อเสียงและประสบการณ์อันยาวนานของบริษัทน่าจะช่วยเพิ่มการฟื้นตัวของยอดขายที่ดินได้อีกด้วย ทั้งนี้ การที่บริษัทมีบริการและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีทั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและในเขตพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจึงเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตที่มีความประสงค์จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย
หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) แล้ว บริษัทก็เริ่มมีการฟื้นตัวของทั้งยอดขายและยอดโอนที่ดิน โดยบริษัทมียอดขายที่ดินในระหว่างเดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคม 2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 700-800 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของยอดขายปกติต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประมาณ 40% ของยอดขายดังกล่าวเป็นยอดขายที่ดินจำนวนมากที่มีผู้ซื้อเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายหนึ่ง
ภายใต้ประมาณการขั้นพื้นฐานทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมียอดขายที่ดินและการโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 และจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับปกติในปี 2567 ทั้งนี้ยอดขายที่ดินของบริษัทนั้นคาดว่าจะสูงถึง 2.5 พันล้านบาทในปี 2565 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.2 พันล้านบาทในปี 2566 และ 1.3 พันล้านบาทในปี 2567
รายได้ที่พึ่งพาได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า
บริษัทมีกระแสเงินสดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ราว ๆ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนในปี 2564 นั้น ยอดรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ระดับประมาณ 85% และ 70% ของยอดรายได้และ EBITDA รวมตามลำดับ
บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยแห่งหนึ่งของบริษัทมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 3 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 489 เมกะวัตต์ บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าในสัดส่วน 55% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัทลูกดังกล่าวให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) ระยะยาวอายุ 25 ปีจำนวน 3 สัญญาในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) และ ณ เดือนมิถุนายน 2565 สัญญาดังกล่าวมีอายุเหลืออีก 3 ปี 16 ปี และ 20 ปีตามลำดับ ทั้งนี้ ข้อมูลจากผู้บริหารระบุว่าบริษัทเลือกที่จะไม่ต่อสัญญากับทาง กฟผ. ในส่วนของสัญญาที่ใกล้จะหมดอายุเนื่องจากบริษัทคาดว่าอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าจากทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมจะครอบคลุมปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายให้แก่ กฟผ. ในส่วนที่จะไม่มีการต่อสัญญา
นอกจากนี้ บริษัท โรจนะ เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัทก็ยังได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยอยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) จำนวนทั้งสิ้น 3 สัญญาอีกด้วย สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ต่ออายุโดยอัตโนมัติทุก ๆ 5 ปี ทั้งนี้ บริษัทโรจนะ เอ็นเนอร์จีได้รับสิทธิ์ในการได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) จำนวน 8 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากวันที่เริ่มดำเนินการผลิตในเดือนเมษายนและสิงหาคม 2557 โดยสิทธิในการได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มที่จะสิ้นสุดในปี 2567 นั้นจะส่งผลทำให้รายได้ที่บริษัทจะได้รับจากการจำหน่ายไฟฟ้าจากโซล่าร์ฟาร์มลดลงไปสองในสามส่วนจากระดับในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี สัดส่วน EBITDA ที่บริษัทได้รับจากการจำหน่ายไฟฟ้าจากโซล่าร์ฟาร์มคิดเป็นเพียง 4% ของ EBITDA ทั้งหมดในปี 2564 เท่านั้น
แรงกดดันจากราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นในธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรของบริษัทในปี 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 35%-40% ของยอดขายไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft อย่างไรก็ตาม การปรับค่า Ft นั้นจะล่าช้ากว่าและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าจะปรับในช่วงเวลาและที่อัตราเท่าใด ดังนั้น ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำไรของโรงไฟฟ้า SPP อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินต่อไปเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ เดือนตุลาคม 2565 ราคาก๊าซเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าระดับ 500 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่ง
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าราคาก๊าซจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องต่อไปในปี 2565 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับปกติในปี 2567 ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งก็คาดว่าค่า Ft จะเพิ่มสูงขึ้นโดยสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ด้วย
จากสมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ราว ๆ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 และจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับราว ๆ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ในขณะที่ EBITDA นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.6-4.0 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
ภาระหนี้คาดว่าจะลดลงหลังจากถึงจุดสูงสุดในปี 2565
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในรอบ 5 ปีในปี 2565 ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงในระหว่างปี 2566-2567 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดินและระบบสาธารณูปโภคนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการ ส่วนระดับหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วคาดว่าจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2567
จากการที่ EBITDA ของบริษัทน่าจะปรับตัวลดลงในปี 2565 ก่อนที่จะค่อย ๆ ปรับสู่ระดับปกติในช่วงปี 2566-2567 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 5 เท่าในระหว่างปี 2566-2567 จากระดับ 8 เท่าในปี 2565 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7% ในปี 2565 และ 15% ในระหว่างปี 2566-2567
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่คาดว่าจะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่จำนวน 6 พันล้านบาทโดยมีเงินลงทุนอยู่ที่ 1 พันล้านบาท ในขณะแหล่งสภาพคล่องประกอบด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะได้รับจำนวน 1.6 พันล้านบาท รวมทั้งเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นอีกจำนวน 6.3 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกจำนวน 5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ดังนั้น แหล่งสภาพคล่องเหล่านี้จึงน่าจะเพียงพอสำหรับบริษัทในการจ่ายชำระหนี้สินและใช้เป็นเงินลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้เงินกู้จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทซึ่งไม่รวมสัญญาเช่าทางการเงิน โดยหนี้ของบริษัทย่อยทั้งหมดถือว่าเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้รวมของบริษัทที่ระดับ 51% เนื่องจากอัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทนั้นมีมากกว่า 50% ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจะเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องของสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ระดับ 1.3-2.5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
? รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีประมาณการอยู่ที่ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
? อัตรา EBITDA โดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 16% ในปี 2565 และจะเพิ่มไปอยู่ที่ราว ๆ 30% ในปี 2567
? งบดำเนินการและงบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 1 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปีประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเอาไว้ได้ ในขณะที่สัดส่วนกระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นคาดว่าจะช่วยบรรเทาความผันผวนของยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทลงไปได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ลดลงต่ำกว่าระดับ 4 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้เงินกู้จำนวนมากจนส่งผลทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างชัดเจนหรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับเกินกว่า 9 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
?
บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (ROJNA)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable