ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?AA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาคจากการที่บริษัทมีตราสินค้าที่แข็งแกร่งและมีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางรวมทั้งมีความยืดหยุ่นในการสร้างกระแสเงินสด นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความตั้งใจจริงของบริษัทที่จะปรับลดภาระหนี้ลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง กฎระเบียบที่เข้มงวด และการขึ้นภาษีสรรพสามิตในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยที่มีบ่อยครั้งเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้คาดว่าจะฟื้นตัว
หลังจาก 2 ปีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) รายได้ของบริษัทเริ่มฟื้นตัวตามการกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติในหลาย ๆ ประเทศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็น 1.4 แสนล้านจากผลของการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในธุรกิจเบียร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนามในขณะที่ธุรกิจสุรายังคงทรงตัว ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะฟื้นตัวประมาณ 12% ในปีงบประมาณ 2565 และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ต่อปีในช่วงปีงบประมาณ 2566 ถึงปีงบประมาณ 2567 โดยการเติบโตได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากการผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) จะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 18% ในช่วงปีงบประมาณ 2565 ถึงปีงบประมาณ 2567 ความกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นถูกบรรเทาลงจากการเพิ่มราคาสินค้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายในส่วนค่าใช้จ่ายโฆษณาและการส่งเสริมการขายหลังจากการกลับมาให้บริการของผับ บาร์ และสถานบันเทิงอื่น ๆ
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่มากขึ้น
บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในทุกพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดำเนินงาน สำหรับในประเทศไทยนั้น บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามปริมาณการจำหน่ายสุรามากกว่า 90% และเบียร์เกือบ 40% นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มและน้ำดื่ม อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายสำคัญในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ อีกด้วย สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น Sabeco เป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนามซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 35%-40% ในขณะที่ Grand Royal Group (GRG) ก็เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเหล้าวิสกี้รายใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 70% ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะที่แข็งแกร่งทางการตลาดเอาไว้ได้จากการมีตราสินค้าที่แข็งแกร่งและเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง
สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นจากการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่มากขึ้นหลังจากที่ได้ขยายธุรกิจไปในประเทศเวียดนามและเมียนมา โดยตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทั้ง 2 ประเทศมีโอกาสในการเติบโตสูงเนื่องจากมีจำนวนประชากรที่มีอายุน้อยเมื่อเทียบกับตลาดแอลกอฮอร์ที่อิ่มตัวในประเทศไทย ดังนั้น ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่ารายได้จากต่างประเทศจะเติบโตในอัตราที่สูงกว่ารายได้ในประเทศ แม้ว่าความเสี่ยงด้านกฎระเบียบอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายในต่างประเทศ
มีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง
บริษัทได้สร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางซึ่งครอบคลุมร้านค้าปลีกในประเทศไทยมากกว่า 500,000 ร้าน โดยมีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ 4 แห่งและมีรถขนส่งสินค้าจำนวนมากกว่า 7,000 คัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทนที่มีประสิทธิภาพอีกมากกว่า 250 รายและมีพนักงานขายมากกว่า 1,700 คน อีกทั้งยังขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนผ่านบริษัทในเครือที่สำคัญ ๆ ด้วย อาทิ Fraser and Neave Ltd. (F&N) ซึ่งมีสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดของตนเองในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ส่วนการซื้อกิจการ Sabeco และกลุ่ม GRG นั้นก็ช่วยเพิ่มเครือข่ายในการกระจายสินค้าในประเทศเวียดนามและเมียนมา
กฎระเบียบภาครัฐจำกัดการเติบโตในประเทศ
การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการควบคุมดูแลที่เข้มงวดของภาครัฐโดยมีกฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ การจำกัดการโฆษณาและการทำกิจกรรมทางการตลาด การกำหนดเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น กฎระเบียบดังกล่าวทำให้การเพิ่มยอดขายและการทำการตลาดในกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ กระทำได้ยากแม้ว่าจะมีการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ การเก็บภาษีสรรพสามิตยังเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ภาครัฐนำมาใช้เพื่อลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาภาครัฐมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตหลายครั้ง ในอดีตนั้นบริษัทสามารถรักษาอัตราการทำกำไรโดยการส่งผ่านภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้บริโภคซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลงชั่วคราว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราการทำกำไรหรือปริมาณการจำหน่ายของบริษัทจึงมีโอกาสที่จะสูงมากกว่าระดับในปัจจุบันหากมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตที่ไม่บ่อยเกินไป ส่วนในประเทศเวียดนามนั้น รัฐบาลเวียดนามได้มีการบังคับใช้ฎหมายห้ามขับรถขณะมึนเมาฉบับใหม่ที่มีบทลงโทษรุนแรง โดยการบังคับใช้กฎหมายใหม่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับการดื่มนอกบ้าน บริษัทเชื่อว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ในประเทศเวียดนามจะค่อย ๆ ฟื้นตัวเนื่องจากผู้บริโภคจะปรับพฤติกรรมการบริโภคให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่
ภาระหนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ภาระหนี้ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าผลการดำเนินงานจะลดลงบ้างจากผลกระทบของโรคโควิด 19 โดยภาระหนี้ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัท ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1.93 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 เป็น 1.75 แสนล้านบาทในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับประมาณ 1.36 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 เมื่อเทียบกับระดับ 4.5 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมากในช่วง 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากผู้บริหารของบริษัทได้แสดงถึงความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะทำการลดภาระหนี้ลง ภายใต้สมมติฐานดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับประมาณ 2.6 เท่าในปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ บริษัทอาจจะสามารถลดภาระหนี้ได้เร็วกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง หากบริษัทประสบความสำเร็จในแผนการปรับมูลค่าสุทธิของกิจการ (Enterprise Value)
สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
บริษัทมีสถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดจำนวน 3.97 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะเดียวกันบริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีข้อผูกมัดจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 บริษัทได้ออกหุ้นกู้จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในการชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดด้วย เมื่อรวมสภาพคล่องทั้งหมดของบริษัทแล้วคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้และการลงทุนของบริษัทในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีภาระหนี้สินระยะยาวที่จะต้องชำระประมาณ 2.18 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ บริษัทมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 1.36 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้วางแผนในการใช้งบลงทุนไว้ที่จำนวนประมาณ 4.5 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 อีกด้วย
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 0.95 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 3 เท่า
ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีหนี้สินที่เป็นภาระดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นจำนวน 2.05 แสนล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนนั้นเป็นหนี้ที่ไม่มีการค้ำประกันของบริษัทย่อย ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 17%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 12% ในปีงบประมาณ 2565 และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ระหว่างปีงบประมาณ 2566-2567
? EBITDA Margin คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 18%
? งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการ
? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับ 2.6 เท่าในปีงบประมาณ 2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า บริษัทจะสามารถลดภาระหนี้ลงได้จากการมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งอีกทั้งบริษัทจะยังคงดำรงสถานะผู้นำทั้งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศและในตลาดภูมิภาคนอกประเทศไทยได้ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทปรับลดต่ำกว่า 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะไม่สามารถลดภาระหนี้ได้ตามเป้าหมายและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ระดับเกินกว่า 3.5 เท่าเป็นเวลานาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TBEV233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA
TBEV243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
TBEV244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA
TBEV253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA
TBEV25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,395 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA
TBEV27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,478 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA
TBEV283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 14,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA
TBEV293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 10,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA
TBEV29NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA
TBEV32NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,662 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable