ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? และในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพในทางกฎหมายของ ธอส. ซึ่งเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทยใน ?ระดับสูงสุด? (Integral) และมีบทบาทที่ ?สำคัญมากที่สุด? (Critical) ต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่รัฐบาลให้การค้ำประกันภาระผูกพันทางการเงินของธนาคารอย่างชัดเจนโดยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ ในกรณีที่จำเป็นอีกด้วย ซึ่งในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาลอย่างทันท่วงทีและเพียงพอในกรณีที่ธนาคารมีปัญหาทางการเงิน
ส่วนการคงอันดับเครดิตพันธบัตรของ บตท. นั้นสะท้อนถึงการควบรวมกิจการของ บตท. เข้ากับ ธอส. ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2563 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 อันเป็นผลทำให้สินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของ บตท. ถูกโอนมายัง ธอส.
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลในระดับสูงสุด
ธอส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 ซึ่งทริสเรทติ้งประเมินว่าความเชื่อมโยงระหว่างธนาคารกับรัฐบาลนั้นอยู่ใน ?ระดับสูงสุด? อันเนื่องมาจากสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจของธนาคารที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวโดยผ่านการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างธนาคารกับรัฐบาลยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ธนาคารเคยมีประวัติได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลในรูปของการเพิ่มทุน การค้ำประกันเงินกู้ และเงินชดเชยจากความสูญเสียที่เกิดจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีการควบคุมการดำเนินงานของ ธอส. อย่างเข้มงวดโดยผ่านการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการของธนาคารอีกด้วย
ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ธนาคารได้รับการประเมินผลในด้านการบริหารจัดการและผลการดำเนินงานประจำปีโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น ธอส. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในกรอบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง ความเพียงพอของเงินทุน และการคุ้มครองผู้บริโภค
มีบทบาทสำคัญมากที่สุดต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบทบาทของ ธอส. ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้นมี ?ระดับความสำคัญมากที่สุด? ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ? ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารมีบทบาทพิเศษที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยผ่านการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ประชาชนเข้าถึงได้
ในการนี้ รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ ธอส. อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการตามพันธกิจได้โดยผ่าน ?บัญชีตามธุรกรรมนโยบายรัฐ? (Public Service Account ? PSA) ในรูปของเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยและความสูญเสียที่เกิดจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บัญชีตามธุรกรรมนโยบายรัฐมีสัดส่วนคิดเป็น 9.91% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร และจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งหมดของธนาคารจำนวน 246.9 พันล้านบาทในปี 2564 นั้น 78% เป็นการปล่อยให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง
เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดและเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามในประเทศไทย
ธอส. เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดของประเทศโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 34.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 สินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ของ ธอส. จำนวน 246.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 นั้นคิดเป็น 40.3% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศซึ่งรวมสินเชื่อที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ด้วย และเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วยกันแล้ว ธอส. ถือว่าเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 เมื่อพิจารณาในแง่ของขนาดของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 สินทรัพย์รวมของธนาคารมีมูลค่าทั้งสิ้น 1.6 ล้านล้านบาท
ตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงของ ธอส. นั้นมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้กู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางเป็นส่วนใหญ่รวมไปถึงข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยลูกค้าของธนาคารมากกว่า 80% เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ในขณะที่กลุ่มข้าราชการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของฐานลูกค้าของธนาคาร ธนาคารยังได้เริ่มเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มลูกค้าโดยได้ขยายไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางจนถึงสูงตามเป้าหมายกลยุทธ์สำหรับปี 2564-2568 อีกด้วย ปัจจุบันธนาคารสัดส่วนสินเชื่อดังกล่าวทยังคงอยู่ในระดับต่ำแต่มีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่และขนาดกลาง ในขณะที่การริเริ่มนำระบบธนาคารดิจิทัลมาใช้ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้แก่ธนาคารได้อีกด้วยเนื่องจากเป็นการลดเวลาของขั้นตอนในการให้บริการสินเชื่อลง
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าความเชื่อมโยงของธนาคารกับรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูงสุดและบทบาทที่สำคัญมากที่สุดของธนาคารในการดำเนินนโยบายภาครัฐในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจและรัฐวิสาหกิจนั้นจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ ธอส. อาจได้รับการปรับลดลงหากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในด้านนโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อบทบาทของธนาคารในการดำเนินนโยบายของภาครัฐหรือกระทบต่อความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลและธนาคาร
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SMCT236A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
SMCT238A: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
SMCT23OA: พันธบัตรไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable