ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้นำในธุรกิจให้เช่ารถยนต์ ตลอดจนการรักษาระดับความสามารถในการทำกำไร ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น
สถานะทางการตลาดของบริษัทค่อย ๆ แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นแม้ว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะมีความท้าทายก็ตาม โดยในช่วงปี 2562-2564 บริษัทสามารถขยายพอร์ตสินทรัพย์ให้เช่าได้ถึง 13% ในขณะที่พอร์ตสินทรัพย์ให้เช่าของผู้ประกอบการชั้นนำ 10 รายแรกในอุตสาหกรรมหดตัวที่ระดับ 10% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากคุณภาพการให้บริการในระดับสูงของบริษัทและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งระบุว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของสินทรัพย์ให้เช่าดำเนินงานสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.7% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 6.2% ในปี 2563 โดยมีพอร์ตสินทรัพย์ให้เช่าอยู่ที่ระดับ 4.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 หรืออยู่ในอันดับที่ 6 ในบรรดาคู่แข่งในอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์การเติบโตแบบคัดสรรของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะขยายพอร์ตสินทรัพย์ให้เช่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 3%-5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ความได้เปรียบในการแข่งขันเป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไร
ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากการบูรณาการในการดำเนินงานภายในเครือข่ายธุรกิจของผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งรวมไปถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หลายแห่งด้วย โดยการบูรณาการดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถซื้อสินทรัพย์รถยนต์เพื่อใช้ในการให้เช่าได้ในราคาที่ค่อนข้างดี นอกจากนี้ บริษัทยังมีศูนย์บริการซ่อมบำรุงของตนเองซึ่งทำให้บริษัทมีค่าบำรุงรักษารถยนต์ให้เช่าที่ต่ำซึ่งช่วยสนับสนุนอัตราการทำกำไรให้แก่บริษัท อีกทั้งบริษัทยังสามารถจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าแล้วให้แก่ลูกค้ารายย่อยด้วยอัตรากำไรที่น่าพึงพอใจโดยผ่านทาง บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด (KA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่เป็นตัวแทนซื้อขายรถยนต์มือสองที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดอีกด้วย
ผลการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดการชะงักงันจากการขยายอายุสัญญาเช่าออกเป็น 4-5 ปีจากเดิม 3 ปี อันเป็นผลมาจากกลยุทธ์การควบคุมต้นทุนของลูกค้าของบริษัท ซึ่งการขยายอายุสัญญาทำให้รายได้จากค่าเช่าและบริการต้องกระจายออกไปในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเช่าดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงในแต่ละปี โดยอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเช่าดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ระดับ 13.4% ในปี 2564 เทียบกับระดับประมาณ 16%-18% ในช่วงระหว่างปี 2560-2562 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเช่าดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 12%-14% ในระยะปานกลางโดยคำนึงถึงผลกระทบจากอายุสัญญาเช่าที่ยาวนานขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานโดยรวมให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากการจำหน่ายรถยนต์มือสองที่อยู่ในช่วง 28%-30% อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 27.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับระดับ 29.3% ในปี 2564 การลดลงดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นชั่วคราวเนื่องจากยอดขายรถยนต์มือสองส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ที่ซื้อมาจากศูนย์ประมูลซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำกว่า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจากการจำหน่ายรถยนต์มือสองจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 27%-30% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าโดยจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทนำระบบดิจิทัล (Digital Platform) ที่มีต้นทุนต่ำเข้ามาใช้งานและทำการตลาดแบบออนไลน์ (Online Marketing) เพื่อขยายฐานลูกค้า
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อรายได้ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13.5% จากระดับ 13.8% ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อรายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14% ในระหว่างปี 2565-2567 เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์มือสองที่เพิ่มขึ้น
ภาระหนี้อยู่ในระดับต่ำ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 52%-54% และอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่า บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 53.8% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นก็ต่ำเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 1.4 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าพอร์ตสินทรัพย์ให้เช่าของบริษัทจะค่อย ๆ ขยายตัวที่ระดับ 3%-5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตแบบคัดสรรของบริษัท นอกจากนี้ นโยบายการปรับลดการจ่ายเงินปันผลที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ก็น่าจะช่วยเสริมให้ฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในระยะปานกลางอีกด้วย
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่ายจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า รวมทั้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3-4 เท่าในระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 4.2 เท่าในปี 2564 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่ดี รวมทั้งมีภาระหนี้ในระดับค่อนข้างต่ำ และมีต้นทุนทางการเงินที่ควบคุมได้อย่างดีในระยะปานกลางอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีด้วยเช่นกันโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 40% ในระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 42% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565
มีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
บริษัทพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะยาวเป็นแหล่งเงินทุนหลักเพื่อให้สอดคล้องกับอายุสัญญาเช่าของบริษัท โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะยาว (รวมส่วนที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) คิดเป็น 98% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งเพื่อใช้เสริมความยืดหยุ่นทางการเงินนอกเหนือไปจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้อีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมดจำนวน 2.7 พันล้านบาท โดย 66% ของวงเงินดังกล่าวยังไม่มีการเบิกใช้และยังมีวงเงินสินเชื่อเช่าซื้ออีกจำนวน 1 พันล้านบาท ซึ่งใช้เป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมในภาวะที่บริษัทขาดสภาพคล่องได้อีกด้วย
ธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์ได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ในปี 2565 อุปสงค์รถยนต์แบบเช่าดำเนินงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยอุปสงค์แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม มูลค่าสินทรัพย์ให้เช่าของผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ ยังคงลดลงเนื่องจากการหดตัวของพอร์ตสินทรัพย์ให้เช่าของผู้ประกอบการไม่กี่ราย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 มูลค่าสินทรัพย์ให้เช่าปรับตัวลดลงประมาณ 7% จากสิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นการหดตัวที่ลดลงต่อเนื่องจากการหดตัวที่ระดับ 15% ในปี 2564 นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในด้านการตั้งราคาค่าเช่าจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าแรงกดดันจากการแข่งขันจะยังคงดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม ผลกำไรที่ดีขึ้นจากการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปทานรถยนต์มือสองที่ลดลงในขณะที่อุปสงค์มีมากขึ้นนั้นน่าจะช่วยสนับสนุนกำไรจากการดำเนินงานให้แก่ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ในระดับหนึ่ง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 มีดังนี้
? สินทรัพย์ให้เช่ารวมจะเติบโตที่ระดับ 3%-5%
? อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเช่าดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับประมาณ 12%-14%
? ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.8%-3%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดตลอดจนสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานเอาไว้ได้เช่นเดิม นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานการคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำและรักษากระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่เข้มแข็งเอาไว้ได้ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากสถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนนำไปสู่ผลการดำเนินงานทางการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่แข็งแกร่งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการตลาดของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากผลการดำเนินงานทางการเงินหรือกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทถดถอยลงโดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่ายลดต่ำลงกว่าระดับ 2 เท่า
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) (KCAR)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable