ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ
?AA-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นบริษัทเอกชนผู้ให้บริการน้ำประปาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายน้ำประปากับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) อุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจสำหรับคู่แข่งที่อยู่ในระดับสูง และสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทต้องพึ่งพานโยบายของ กปภ. และการต่อสัญญากับ กปภ. รวมไปถึงโอกาสในการขยายธุรกิจในพื้นที่ดำเนินงานปัจจุบันของบริษัทที่มีข้อจำกัดอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทเอกชนผู้ให้บริการน้ำประปารายใหญ่ที่สุดซึ่งมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้สูง
บริษัทเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 1.08 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน
บริษัทมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากปริมาณการซื้อน้ำขั้นต่ำของ กปภ. ตามสัญญา ทั้งนี้ บริษัทและ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้ดำเนินการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครและเขตพื้นที่รังสิต-จังหวัดปทุมธานีที่จำนวน 712,000 ลบ.ม. ต่อวันภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปาระยะยาวกับ กปภ. โดยสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดอายุในปี 2577 และในเดือนตุลาคม 2566 ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการผลิต จำหน่าย และให้บริการน้ำประปา รวมทั้งให้บริการบำบัดน้ำเสียในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเป็นระยะเวลา 30 ปีอีกด้วย โดยสิทธิ์ดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2582
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการให้บริการน้ำประปาในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครคิดเป็น 64% ในเขตพื้นที่รังสิต-จังหวัดปทุมธานี 30% และในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 6% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท
สัมปทานของบริษัทประปาปทุมธานีจะหมดอายุในปี 2566
สัญญาซื้อขายน้ำประปาระยะยาวระหว่างบริษัทประปาปทุมธานีและ กปภ. จะหมดอายุภายในเดือนตุลาคม 2566 โดยสัญญาดังกล่าวระบุว่าบริษัทประปาปทุมธานีมีสิทธิ์ที่จะต่อสัญญาออกไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ในการนี้ ทั้งบริษัทประปาปทุมธานีและ กปภ. ก็ได้มีการเจรจากันแล้วและคาดว่าน่าจะมีผลสรุปออกมาในปี 2566
ในปี 2564 บริษัทประปาปทุมธานีมีรายได้อยู่ที่ 1.8 พันล้านบาทและมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1.4 พันล้านบาทซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของรายได้และ EBITDA รวมของบริษัททีทีดับบลิว
อุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจอยู่ในระดับสูง
การเข้าสู่ธุรกิจผลิตน้ำประปานั้นถือว่ามีอุปสรรคที่สูงเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ประกอบการต้องการลงทุนในโครงข่ายท่อส่งน้ำซึ่งประกอบไปด้วยท่อน้ำประธาน โครงข่ายท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการ และการสร้างโรงผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงข่ายท่อส่งน้ำก็ยังมีความยุ่งยากในการที่จะได้รับสิทธิ์ในการใช้พื้นที่สาธารณะ และในการก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปานั้นก็ยังต้องมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำอีกด้วย
การที่บริษัทเป็นเจ้าของท่อน้ำประธานและโครงข่ายท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันมิให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาดำเนินงานในเขตพื้นที่ที่บริษัทให้บริการอยู่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ แหล่งน้ำดิบและการได้รับสัมปทานจาก กปภ. ก็ยังถือว่าเป็นข้อจำกัดอีกส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่ธุรกิจอีกด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มที่ กปภ. จะให้สัมปทานน้ำประปาใหม่แก่บริษัทเอกชนอื่น ๆ นั้นถือว่าต่ำ
มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าและโอกาสในการขยายธุรกิจที่จำกัด
บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากบริษัทมี กปภ. เป็นลูกค้ารายใหญ่อยู่เพียงรายเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา กว่า 95% ของรายได้รวมของบริษัทมาจากรายได้จากการจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตของ กปภ. ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจก็ยืนยันให้เห็นว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่เกิดจากคู่สัญญา (Counterparty Risk) อยู่ในระดับต่ำ ส่วน กปภ. เองนั้นก็ถือว่าเป็นคู่แข่งรายสำคัญของบริษัทด้วยเช่นกันเนื่องจาก กปภ. มีโรงกรองน้ำประปาและมีโครงข่ายการจ่ายน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่บริษัทให้บริการด้วย
แนวโน้มการเติบโตของบริษัทนั้นถือว่ามีข้อจำกัดเนื่องจากการเติบโตของรายได้ของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับการเติบโตภายในพื้นที่ให้บริการในปัจจุบันเป็นหลัก ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาที่จะขยายบริการไปในพื้นที่ใหม่ ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังคงดำเนินนโยบายในรูปแบบของธุรกิจผลิตน้ำประปาเอกชนอยู่เช่นเดิมในขณะที่การให้สิทธิ์สัมปทานแก่ผู้ผลิตน้ำประปาเอกชนนั้นก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ความสามารถในการทำกำไรที่เข้มแข็ง
บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่เข้มแข็ง โดยมี EBITDA อยู่ที่ราว ๆ 4.7-5.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 81%-83%
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทประปาปทุมธานีจะสามารถต่อสัญญากับทาง กปภ. ได้ ในขณะที่อุปสงค์ของปริมาณน้ำประปาน่าจะเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 1% ต่อปีซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากอุปสงค์ในการขยายตัวของที่อยู่อาศัยและการฟื้นตัวของธุรกิจในภาคพาณิชยกรรมภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ได้คลี่คลายลงจนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ราคาน้ำประปาจะมีการปรับราคาทุก ๆ ปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค โดยที่อานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคในปี 2565 จะส่งผลทำให้ราคาน้ำประปาในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6%-7% จากปี 2565 ซึ่งสามารถชดเชยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและค่าไฟฟ้าได้
ในระหว่างปี 2565-2567 รายได้ของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว ๆ 5.7-6.0 พันล้านบาทโดย EBITDA จะอยู่ที่ 4.7-5.0 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA Margin นั้นคาดว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 86% ในปี 2567 จากระดับ 83% ในปี 2565
ฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งต่อไปได้ในระหว่างปีประมาณการ ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.7-1.0 เท่าในระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 1-2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทประปาปทุมธานีได้ต่อสัญญา บริษัทก็จำเป็นจะต้องลงทุนอีกประมาณ 4.5 พันล้านบาท ดังนั้น ค่าใช้จ่ายสำหรับเงินลงทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาทในปี 2565 และที่ประมาณ 5 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2567
สภาพคล่องที่จัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งสภาพคล่องประกอบด้วยเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวนประมาณ 2 พันล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะได้รับอีกจำนวนราว ๆ 4 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระหนี้เงินกู้ธนาคารและหุ้นกู้รวมจำนวนประมาณ 1.7 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินลงทุนที่ราว ๆ 3.2 พันล้านบาทในปี 2566
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกินกว่า 2.1 เท่า โดยบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 0.5 เท่า ณ เดือนกันยายน 2565 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาก ดังนั้น บริษัทจึงไม่น่ามีปัญหาในการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 5.7-6.0 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 83% ในระหว่างปี 2565-2566 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 86% ในปี 2567
? ค่าใช้จ่ายสำหรับเงินลงทุนจะอยู่ที่จำนวน 200 ล้านบาทในปี 2565 และที่จำนวน 5 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งต่อไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในระหว่างปีประมาณการอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างมีสาระสำคัญโดยไม่ทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เพิ่มมากเกินไปจนส่งผลกระทบในทางลบต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TTW255A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
TTW272A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable