ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile ? SACP) ของบริษัทที่ระดับ ?a-? ขึ้นมา 1 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของบริษัทว่าเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AAA/Stable?) ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่แข็งแกร่งและค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน รวมไปถึงฐานะฐานทุนที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีจากการมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง รวมถึงการมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดในระดับหนึ่งจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและกฎระเบียบควบคุม และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทจากสถานะการเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของบริษัท แม้ว่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% สถานะของบริษัทยังสะท้อนถึงความเกี่ยวข้องผ่านทางตัวแทนคณะกรรมการของบริษัท โดยตัวแทนที่มาจากธนาคารคิดเป็นหนึ่งในสามของคณะกรรมการรวม 12 ท่าน และประธานคณะกรรมการของบริษัทมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ความเสี่ยงของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ถึงแม้ว่าธนาคารจะขายหุ้นของบริษัทออกไปในปี 2561 และ 2564 แต่บริษัทยังคงเป็นสมาชิกอยู่ในระดับ full consolidation ของธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งส่วนหนึ่งในนโยบายการควบคุมความเสี่ยงของบริษัทสอดคล้องกับกรอบแนวทางการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธนาคารจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในยามที่บริษัทต้องการเนื่องจากความเสี่ยงด้านชื่อเสียงของธนาคาร
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้การสนับสนุนด้านการเงินกับทางบริษัทผ่านวงเงินที่พร้อมเบิกใช้ได้ทันที ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีเงินกู้คงค้างที่ได้รับจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 8.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 16% ของเงินกู้คงค้างทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในจำนวนอีกกว่า 1.69 หมื่นล้านบาทอีกด้วย
มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง สนับสนุนโดยสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง การเติบโตที่ดีในธุรกิจนายหน้าประกันภัย และการกระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ที่ดี บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย (ส่วนใหญ่เป็นประกันภัยรถยนต์) บริษัทมีสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่จำนวน 7.59 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 23.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากการเติบโตที่ระดับ 19.7% ในปี 2564 การเติบโตที่แข็งแรงในปี 2565 เกิดจากภาวะตลาดที่ดีขึ้น การเริ่มใช้บริการบัตรกดเงินสด (บัตรติดล้อ) และการขยายเครือข่ายสาขา โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 บริษัทได้เปิดสาขาใหม่จำนวน 288 สาขา ทำให้จำนวนสาขารวมทั้งหมดอยู่ที่ 1,574 สาขา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565
รายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันภัยของบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 18%-20% ของรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งเป็นการเติบโตควบคู่กับการเติบโตที่รวดเร็วของธุรกิจหลักในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ธุรกิจนายหน้าประกันภัยจึงกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญและสม่ำเสมอแหล่งหนึ่งของบริษัทที่ช่วยสนับสนุนสถานะการกระจายตัวทางธุรกิจที่เข้มแข็มของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันวินาศภัยเพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
บริษัทเป็นบริษัทในธุรกิจสินเชื่อมีทะเบียนรถเป็นประกันเพียงแห่งเดียวที่มุ่งเน้นการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การให้บริการบัตรกดเงินสดติดล้อ ผนวกกับระบบภายในที่ได้รับการพัฒนา และการสร้างแพลตฟอร์มในการทำงานต่าง ๆ ช่วยทำให้เจ้าหน้าที่ประจำสาขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อคงค้างรวมต่อสาขาและพนักงานเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
มีสถานะฐานทุนที่แข็งแรงและมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี
ฐานทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแรงมาก โดยมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ 31.8% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ลดลงจาก 35.8% ณ สิ้นปี 2564 การลดลงนั้นเป็นผลจากการเติบโตที่ดีของสินเชื่อ จากสมมติฐานของทริสเรทติ้งบนการเติบโตที่ 15%-25% ต่อปี และอัตราการจ่ายเงินปันผลที่เป็นเงินสดที่ 25% ของกำไรสุทธิ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังสามารถคงสถานะฐานทุนในระดับที่แข็งแกร่งมากไว้ได้ในระดับที่สูงกว่า 25% ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่สม่ำเสมอจากธุรกิจนายหน้าประกันภัย และระดับความสามารถในการทำกำไรที่ดี ทั้งนี้ ใน 9 เดือนแรกของปี 2565 และปี 2564 ความสามารถในการทำกำไรซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 6.7% และ 6.9% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจากการสิ้นสุดลงของมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวในการช่วยเหลือลูกหนี้ อาจจะกดดันทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 6% ในปี 2566-2567
การปรับเพิ่มขึ้นของหนี้เสียจะบรรเทาลงจากการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง
ทริสเรทติ้งคาดว่าการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวังและนโยบายการอนุมัติสินเชื่อใหม่ที่เข้มงวดจะช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับกรอบแนวทางการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร บริษัทมีอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (สินเชื่อชั้นที่ 3) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.52% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.19% ณ สิ้นปี 2564 โดยเป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดไว้หลังจากการสิ้นสุดลงของมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวในการช่วยเหลือลูกหนี้ รวมไปถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อที่ยังคงอยู่ในมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวน้อยกว่า 1% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 14% ในปีที่แล้ว
ทริสเรทติ้งมองว่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทจะกลับมาอยู่ในระดับปกติที่สูงกว่า 2% ในระยะปานกลาง เนื่องจากทริสเรทติ้งมองว่าสำรองส่วนเกินที่เคยมีอยู่ได้ถูกนำไปใช้หมดแล้ว และจากสัญญาณการถดถอยลงของคุณภาพสินเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เกิดขึ้นใหม่ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าการถดถอยของคุณภาพสินเชื่อดังกล่าวจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออัตราผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทในระยะสั้นถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าแรงกดดันดังกล่าวจะบรรเทาลงจากวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็งของบริษัท รวมไปถึงระดับการตั้งสำรองที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และระดับฐานทุนที่แข็งแรงจะช่วยรักษาอันดับเครดิตในระดับปัจจุบันไว้ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ในอนาคต ทริสเรทติ้งมองว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงจากนวัตกรรมต่าง ๆ จะเป็นส่วนช่วยลดผลกระทบจากการกลับไปสู่ระดับปกติของตัวชี้วัดต่าง ๆ ในด้านคุณภาพสินเชื่อได้ในระดับหนึ่ง
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องมีเพียงพอ
ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทเกิดจากการที่บริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยาและเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการกระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นมากยิ่งขึ้น โดย ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทและ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกเหนือจากวงเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีกจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาประมาณ 1.69 หมื่นล้านบาท เงินกู้ยืมระยะสั้นของบริษัทซึ่งรวมส่วนของเงินกู้ยืมระยะยาวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 37% ของเงินกู้ยืมรวม ณ เดือนกันยายน 2565 ในขณะที่กระแสเงินสดจากการชำระค่างวดรายเดือนของลูกหนี้รวมถึงวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาและสถาบันการเงินอื่น ๆ น่าจะมีมากเกินพอที่จะรองรับความจำเป็นด้านสภาพคล่องได้
ยังคงมีความท้าทายและความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกัน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 อัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการใหญ่ 3 รายแรกยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการเติบโตที่แข็งแกร่งของสินเชื่อนี้ยังคงน่าจะไปต่อได้ในระยะปานกลางจากการขยายจำนวนสาขาและเป้าหมายการเติบโตในเชิงรุกของผู้ประกอบการเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ รวมไปถึงความต้องการสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองเห็นความท้าทายและผลกระทบที่ผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันต้องเผชิญและยังคงต้องคอยเฝ้าติดตาม เริ่มจากการลดลงของส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของผู้ประกอบการจากการแข่งขันด้านราคาและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง ความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้นจากกลยุทธ์การขยายสินเชื่อในเชิงรุกและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายในการขยายสินเชื่อในเชิงรุกจะทำให้สัดส่วนฐานทุนลดลง ซึ่งถ้ายังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทต่าง ๆ ได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
? สินเชื่อใหม่จะขยายตัวที่ระดับประมาณ 30% ในปี 2565 และจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20%-25% ต่อปีหลังจากนั้น
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงคาดว่าจะรักษาให้อยู่ในระดับที่เกินกว่า 25%
? อัตราดอกเบี้ยรับโดยรวมจะยังคงอยู่ในระดับ 17%-18%
? ต้นทุนทางด้านเครดิต จะรักษาระดับอยู่ที่ประมาณ 2.0%-2.5%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม อยู่ที่ระดับระหว่าง 52%-54%
?
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาฐานทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและรักษาสถานะผู้นำในตลาดสินเชื่อทะเบียนรถเอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงมีผลประกอบการทางการเงินที่น่าพึงพอใจต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างเสถียรภาพทางธุรกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นโดยการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการตลาดอย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแรงและผลประกอบการทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้ในเวลาเดียวกัน
ในทางกลับกัน การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการแข่งขันหรือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 25%
นอกจากนี้ หากมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่มีต่อกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีสาระสำคัญก็อาจเป็นสาเหตุให้มีการทบทวนอันดับเครดิตเพื่อสะท้อนมุมมองดังกล่าวอีกด้วย
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) (TTCL)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TIDLOR22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 450 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
TIDLOR234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
TIDLOR234C: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,450 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
TIDLOR236A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
TIDLOR238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
TIDLOR244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
TIDLOR244B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
TIDLOR247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
TIDLOR259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable