ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. บ้านปู เพาเวอร์” ที่ “A+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 9, 2022 15:58 —ทริส เรตติ้ง

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่หลากหลาย คุณภาพของสินทรัพย์ด้านพลังงาน และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของบริษัท ในทางกลับกัน อันดับเครดิตถูกลดทอนลงบางส่วนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นจากการขยายกำลังการผลิต อันดับเครดิตยังมีปัจจัยมาจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นซึ่งจะกดดันกำไรของบริษัทอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทย่อยหลักของ BANPU

ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของ BANPU โดย BANPU ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า โดยบริษัทเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญที่รับผิดชอบธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเป็นส่วนประกอบสำคัญในกลยุทธ์ ?Greener and Smarter? ของกลุ่ม BANPU บริษัทยังมีความเกี่ยวข้องกับ BANPU เป็นอย่างมากในแง่ของการดำเนินงาน ธุรกิจ และกลยุทธ์ทางการเงิน นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนสำคัญในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจแหล่งพลังงานของกลุ่ม BANPU สมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย ในแง่ของผลการดำเนินงาน บริษัทสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนให้กับ BANPU ซึ่งช่วยชดเชยความผันผวนด้านรายได้ในธุรกิจถ่านหินของ BANPU ได้ในระดับหนึ่ง

ในด้านการสนับสนุน ทริสเรทติ้งเชื่อว่า BANPU จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่บริษัททั้งในด้านการเงินและการปฏิบัติการเพื่อที่บริษัทจะสามารถดำเนินการได้ตามกลยุทธ์ของ BANPU

มีธุรกิจไฟฟ้าที่หลากหลาย

บริษัทมีธุรกิจไฟฟ้าที่หลากหลายโดยมีโครงการโรงไฟฟ้ามากกว่า 40 โครงการทั่วกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific-Rim) ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งสุทธิอยู่ที่ 3,153 เมกะวัตต์ เมื่อวัดตามสัดส่วนการถือหุ้นในสินทรัพย์ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบดั้งเดิมคิดเป็น 64% ของกำลังการผลิตสุทธิ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power -- CHP) 3 แห่งในประเทศจีน บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) ในจังหวัดระยอง และ Hongsa Power Co., Ltd. (HPC) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

(สปป. ลาว) โดยโรงไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำ (High Efficiency, Low Emission -- HELE) คิดเป็น 27% ของกำลังการผลิตสุทธิ และส่วนที่เหลืออีก 9% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

โรงไฟฟ้าในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 33% ของกำลังการผลิตสุทธิ ในขณะที่กำลังการผลิตสุทธิในประเทศไทยและ สปป. ลาว คิดเป็น 48% โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในประเทศสหรัฐอเมริกา (โรงไฟฟ้า Temple I) คิดเป็น 12% และส่วนที่เหลืออีก 7% กระจายไปทั่วเอเชียและออสเตรเลีย

กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการลงทุน

บริษัทได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง โดยบริษัทถือหุ้น 50% และ 40% ใน BLCP และ HPC ตามลำดับ โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งดำเนินงานภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) ระยะเวลา 25 ปีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) โดยสัญญาภายใต้โครงการ IPP จะมีลักษณะแบบจ่ายตามความพร้อม (Pay-if-available) ซึ่งช่วยปกป้องโรงไฟฟ้าจากความผันผวนของอุปทานและความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยสัญญาระบุว่าโรงไฟฟ้าจะได้รับกระแสเงินสดตราบเท่าที่โรงไฟฟ้ายังคงรักษาความพร้อมของโรงไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและพร้อมสำหรับการเรียกให้จ่ายไฟฟ้าจาก กฟผ.

นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้น 30% ในโครงการ Shanxi Lu Guang Power Co., Ltd. (SLG) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินประสิทธิภาพสูงขนาด 1,320

เมกะวัตต์ในประเทศจีน โดยโรงไฟฟ้า SLG เริ่มเปิดดำเนิงานในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผ่านการถือหุ้น 50% ใน บริษัท บ้านปูเน็กซ์ จำกัด (Banpu Next Co., Ltd. ? BANPUNEXT) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทกว่า 90% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถคาดการณ์ได้จากอัตราค่าไฟฟ้าที่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ต่ำ

?

กระแสเงินสดจำนวนมากจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ

โรงไฟฟ้า Temple I ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงขนาด 768 เมกะวัตต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทเป็นจำนวนมากหลังจากที่บริษัทเข้าซื้อกิจการในปลายปี 2564 โรงไฟฟ้า Temple I จำหน่ายไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้าในรัฐเทกซัส (The Electric Reliability Council of Texas -- ERCOT) โดยโรงไฟฟ้าต้องเสนอราคาค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ในตลาด ERCOT เพื่อที่จะจำหน่ายไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ในตลาดซื้อขายไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกามีเครื่องมืออนุพันธุ์ที่หลากหลายที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านตลาดด้วย และเนื่องจากในตลาด ERCOT มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงกว่า 40%-50% จึงทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซเป็นผู้กำหนดราคาจำหน่ายไฟฟ้า ดังนั้น ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันด้านราคา โรงไฟฟ้า Temple I มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจจากการมีอัตราค่าความร้อนที่แข่งขันได้ ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่ในช่วงฤดูร้อนโดยมีดัชนีกำลังการผลิต (Capacity Factor) ประมาณ 70%-80% อย่างไรก็ตาม อัตราการเดินเครื่องในฤดูอื่นอาจอยู่ในระดับปานกลางโดยมีดัชนีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 40%-50% โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 โรงไฟฟ้า Temple I มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 1.7 พันล้านบาท คิดเป็น 42% ของ EBITDA ของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้า Temple I จะยังคงมีอัตราค่าความร้อนเป็นที่น่าพอใจและยังคงสามารถแข่งขันในตลาด ERCOT ได้ต่อไป ทริสเรทติ้งประมาณการว่าดัชนีกำลังการผลิตเฉลี่ยของโรงไฟฟ้า Temple I จะอยู่ที่ประมาณ 50%-60% ในแต่ละปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า

การปฏิรูปตลาดไฟฟ้าในประเทศจีน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนค่อย ๆ ปฏิรูปตลาดธุรกิจไฟฟ้าให้มุ่งเน้นตลาดมากขึ้น (Market Oriented) โรงไฟฟ้าถ่านหินจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่วิสาหกิจระบบส่งระดับจังหวัดตามจำนวนไฟฟ้าที่กำหนดเป็นรายปีภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าฐานสำหรับแต่ละจังหวัดโดยมีช่วงราคาลอยตัวที่ -15% ถึง +10% จากอัตราค่าไฟฟ้าฐานซึ่งเป็นอัตราที่กำหนดไว้ในปี 2562 โดยในช่วงปลายปี 2564 รัฐบาลจีนสนับสนุนให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าร่วมในตลาดซื้อขายไฟฟ้าโดยอนุญาตให้ขยายช่วงราคาลอยตัวเป็น -20% ถึง +20% ซึ่งให้ความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าในการส่งผ่านต้นทุน ในช่วงปลายปี 2564 โรงไฟฟ้า CHP จำนวน 2 แห่งของบริษัท ซึ่งได้แก่ Zhengding (ZD) และ Luannan (LN) เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งต้องเสนอปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการจำหน่ายด้วยราคาที่สามารถแข่งขันได้เข้าไปในตลาดเพื่อจำหน่ายไฟฟ้า โรงไฟฟ้า CHP ยังคงมีทางเลือกที่จะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่วิสาหกิจระบบส่งระดับจังหวัดภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าฐานอีกด้วย การขยายช่วงค่าไฟฟ้าลอยตัวในตลาดซื้อขายไฟฟ้า ทำให้โรงไฟฟ้า CHP สามารถเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 0.41 หยวนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จากที่ระดับ 0.33-0.34 หยวนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปีก่อนหน้า ซึ่งช่วยลดแรงกดดันจากต้นทุนถ่านหินที่สูง

โรงไฟฟ้า CHP อีกแห่งในประเทศจีนคือโรงไฟฟ้าโจวผิง (Zouping -- ZP) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำเป็นระยะเวลา 28 ปีกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม ราคาไฟฟ้าและไอน้ำเป็นราคาคงที่ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงและต่อตันตามลำดับ และจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาถ่านหินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

คาดว่าโรงงาน CHP จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของโรงไฟฟ้า CHP ของบริษัทจะฟื้นตัวในช่วง 3 ปีข้างหน้า ราคาถ่านหินที่สูงขึ้นในช่วงปี 2564 ถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมของบริษัทลดลงเหลือประมาณ 8%-12% จากประมาณ 24%-28% ในปี 2561-2563

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็น 21%-26% ในช่วงปี 2566-2568 ประมาณการดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจีนในหลาย ๆ ด้านเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยนโยบายดังกล่าวรวมถึงการส่งเสริมการผลิตถ่านหินในประเทศในภูมิภาคสำคัญต่าง ๆ การควบคุมราคาถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้า IPP การเพิ่มเพดานอัตราค่าไฟฟ้า และการอุดหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ขายไอน้ำและน้ำร้อนให้กับลูกค้ากลุ่มที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ บริษัทยังใช้การจัดหาถ่านหินแบบรวมศูนย์สำหรับโรงไฟฟ้า CHP ทั้ง 3 โรง ซึ่งจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองกับผู้จัดหาถ่านหิน ทริสเรทติ้งคาดว่าโรงไฟฟ้า CHP จะสามารถจัดหาถ่านหินได้ในราคาประมาณ 700-1,000 หยวนต่อตันในปี 2565-2566 และราคาถ่านหินอาจลดลงสู่ระดับปกติในช่วงเวลาหลังจากนั้น

ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในช่วงการเติบโต

ภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้า Temple I ในช่วงปลายปี 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว 1.81 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุน 24.3% ณ เดือนกันยายน 2565 เทียบกับ 3.5 พันล้านบาทและ 7.7% ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาขนาด 167 เมกะวัตต์ในประเทศจีน โดยโครงการนี้จะพัฒนาโดยโรงไฟฟ้า ZD ซึ่งได้รับเลือกโดยรัฐบาลเมืองเจิ้งติ้ง (Zhengding) ภายใต้นโยบาย ?Whole County Solar Rooftop? ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะใช้เงินราว 8.1 พันล้านบาทสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนในปี 2565-2568 โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา

ในประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.7-2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2565-2568 รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.31-1.51 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2565-2568 เพิ่มขึ้นจาก 7.4 พันล้านบาทในปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นมาจากโรงไฟฟ้า Temple I เป็นหลัก ต้นทุนถ่านหินที่คาดว่าจะลดลงของโรงไฟฟ้า CHP จะช่วยเพิ่ม EBITDA ให้แก่บริษัทและสามารถชดเชยรายได้เงินปันผลจากบริษัทร่วมที่ลดลง โดยคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ราว 4.1-4.6 พันล้านบาทต่อปีและมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 3.1-3.9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2568 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ราว 4-5 เท่าในปี 2566-2568 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ 15%-17%

ในประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งยังไม่รวมการลงทุนในโครงการที่ยังไม่มีข้อผูกมัดของบริษัท เพื่อตอบสนองต่อกลยุทธ์ เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน (Greener and Smarter Strategy) ของกลุ่ม BANPU บริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิเป็น 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 3,330 เมกะวัตต์ในเดือนกันยายน 2565 กำลังการผลิตที่ต้องเพิ่มเข้ามาประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ส่วนใหญ่จะมาจากโรงไฟฟ้า HELE ประมาณ 1,600- 1,700 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนใหญ่ในพลังงานหมุนเวียนจะได้รับการพัฒนาภายใต้ BANPUNEXT หากบริษัทยังคงเติบโตตามเป้าหมาย ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะลงทุนในตลาดที่คุ้นเคยในโครงการที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทได้ทันที

สภาพคล่องที่น่าพอใจ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องในระดับที่น่าพอใจ ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 6.3 พันล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีภาระผูกพันที่ยังไม่เบิกใช้อีก 6.5 พันล้านบาทซึ่งเพียงพอสำหรับหนี้ระยะสั้นและระยะยาวของบริษัทที่จะครบกำหนดในอีก 12 เดือนข้างหน้าเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2.8 พันล้านบาท

โครงสร้างหนี้

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้รวม 2.02 หมื่นล้านบาท หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทอยู่ที่ 2 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ระดับบริษัทย่อยของบริษัท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 10%

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาขนาด 167 เมกะวัตต์ในประเทศจีนเปิดดำเนินงานในช่วงระหว่างปี 2566-2567

? ในระหว่างปี 2565-2568 รายได้อยู่ระหว่าง 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี รายได้เงินปันผลจากบริษัทร่วมอยู่ที่ 0.9-1.7 พันล้านบาทต่อปี

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) อยู่ที่ 27%-33%

? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนรวม 8.1 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2568

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า โรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงเดินเครื่องได้อย่างราบรื่นและสร้างกระแสเงินสดได้ตามที่คาดไว้ และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทและกระแสเงินสดต่อภาระหนี้จะอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้งในช่วงการขยายธุรกิจ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากขึ้นและภาระหนี้เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง หากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าด้อยกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญหรือสถานะการเงินอ่อนแอลงอย่างมากซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก

ทั้งนี้ ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือ BANPU โดยการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่ก็จะมีผลต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสถานะของบริษัทต่อกลุ่ม BANPU ก็มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

บริษัท อีเทอร์นิตี้ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (ETP)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

BPP266A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

BPP296A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+

BPP326A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+

BPP346A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2577 A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ