ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) มาอยู่ที่ระดับ ?B-? จากระดับ ?B? แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ลดต่ำลงเป็นระยะเวลายาวนาน ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่อ่อนแอ และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลด้านสภาพคล่องของบริษัท จากการที่หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทจะครบกำหนดชำระในระยะเวลา 12-15 เดือนข้างหน้า ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการกู้ยืมใหม่เพื่อใช้ชำระหนี้เดิมหรือรีไฟแนนซ์ของบริษัทมีข้อจำกัดจากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่อ่อนแอในปัจจุบัน ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทยังขึ้นเป็นอย่างมากกับกระแสเงินสดที่จะได้รับจากการลงทุนในรูปแบบ Special Purpose Acquisition Company (SPAC) ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งความสำเร็จจากการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานอ่อนแอเป็นระยะเวลานาน
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอและมีผลขาดทุนมากกว่าที่คาดจากการฟื้นตัวของธุรกิจที่เป็นไปอย่างล่าช้า รายได้ของบริษัทลดลงในอัตราที่มากกว่าความสามารถในการลดต้นทุนการดำเนินงานของบริษัท บริษัทรายงานรายได้อยู่ที่ 441 ล้านบาทในปี 2564 และ 413 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ในขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ติดลบที่ -204 ล้านบาทในปี 2564 และ -203 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565
ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทยังคงเป็นไปอย่างจำกัดแม้ว่าสภาวะการดำเนินธุรกิจจะดีขึ้นหลังภาวะการเกิดโรคระบาด เนื่องจากแหล่งรายได้หลักของบริษัทมาจากงานโครงการต่าง ๆ อีกทั้งต้นทุนการดำเนินงานยังอยู่ในระดับสูง ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่สดใส ทริสเรทติ้งจึงมองว่ายังมีความไม่แน่นอนทั้งเรื่องของระยะเวลาและขนาดของโครงการที่บริษัทมีแผนเข้าร่วมประมูล ในขณะที่รายได้ประจำจากงานให้บริการยังคงอยู่ในระดับไม่สูงนัก โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ประจำจากงานให้บริการของบริษัทจะอยู่ที่ 150-250 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนคงที่ของบริษัท
ผลการดำเนินงานจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นแต่เงินทุนจากการดำเนินงานยังคงติดลบ
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ดีขึ้นและมี EBITDA เป็นบวกได้แต่ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับกับต้นทุนทางการเงิน สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 560-710 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวได้รวมการพิจารณามูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบของบริษัท (Backlog) ซึ่งคาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้จำนวนประมาณ 90 ล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี 2565 กับอีกประมาณ 290 ล้านบาทในปี 2566 และประมาณ 250 ล้านบาทในปี 2567
EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ -270 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 20-60 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 ด้วยต้นทุนทางการเงินในระดับสูง ทำให้คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ -385 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ -60 ถึง -90 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 โดยในประมาณการดังกล่าวทริสเรทติ้งได้พิจารณาถึงความพยายามของบริษัทที่จะปรับรูปแบบเป็นบริษัทที่มีเน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งการขยายไปยังธุรกิจใหม่ ๆ ที่รวมถึงธุรกิจการผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์ผ่านการลงทุน 40% ในบริษัท สยาม เมดิแคน จำกัด อย่างไรก็ดี
ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีความไม่แน่นอนหลายประการตลอดจนมีความเสี่ยงในการดำเนินการอีกด้วย
ความสามารถในการชำระหนี้จำกัด
สถานะทางการเงินที่อ่อนแอของบริษัทถูกกำหนดด้วยภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่อ่อนแอซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเป็นไปได้อย่างจำกัด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อน เทียบกับหนี้สินรวมประมาณ 40% โดยเมื่อพิจารณาจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะติดลบในปี 2565 และจะอยู่ที่ประมาณ 0.2-0.5 เท่าในระหว่างปี 2566-2567
แหล่งเงินทุนหลักที่ช่วยให้บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ใช้ในการชำระหนี้สินทางการเงิน รวมถึงลงทุนคือเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ Advance Opportunities Fund (AO Fund) และ Advance Opportunities Fund 1 (AO Fund 1) โดยในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ AO Fund และ AO Fund 1 รวมมูลค่า 750 ล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้แปลงสภาพทั้งหมดได้ถูกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ในเดือนสิงหาคม 2565 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อนุมัติการออกหุ้นกู้แปลงสภาพเพิ่มเติมมูลค่ารวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาทให้แก่ AO Fund และ AO Fund 1 ซึ่งบริษัทมีแผนจะออกและจำหน่ายหุ้นกู้แปลงสภาพรวม 110 ล้านบาทในปี 2565 และ 440 ล้านบาทในปี 2566 อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมองว่าการออกหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวเป็นแหล่งเงินทุนที่ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ในระยะยาวกว่านั้น การที่สถานะทางการเงินและเครดิตของบริษัทจะดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน บริษัทจะต้องพลิกฟื้นการดำเนินธุรกิจให้สำเร็จและทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานกลับมาเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่อง
ตามข้อกำหนดทางการเงินที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity -- D/E) ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่า และดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio -- DSCR) ไม่ต่ำกว่า 1.2 เท่านั้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมี D/E อยู่ที่ 2.18 เท่า และ DSCR อยู่ที่ -0.23 เท่าตามลำดับ ซึ่งบริษัทได้รับการผ่อนผันจากเจ้าหนี้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่อง DSCR ได้ การออกหุ้นกู้แปลงสภาพช่วยลดโอกาสที่บริษัทจะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินเรื่อง D/E อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทอาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่อง DSCR ได้ในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้าและอาจต้องขอรับการผ่อนผันจากเจ้าหนี้เพิ่มเติม
สภาพคล่องตึงตัวมาก
ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัทเป็นอย่างมาก ในเดือนกรกฎาคม 2565 บริษัทได้ขอขยายอายุของหุ้นกู้ CHO212A, CHO228A, และ CHO229A ออกไปอีก 12 เดือน ในอีก 15 เดือนข้างหน้านับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นกู้จำนวน 838 ล้านบาท ในขณะที่คาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในระดับประมาณ -175 ล้านบาท และคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 250-300 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกัญชา แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือจำนวน 35 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 และเงินจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 505 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทยังต้องการเงินทุนอีกจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้เงินทุน ในขณะที่ความสามารถในการรีไฟแนนซ์เป็นไปอย่างจำกัด
สิ่งที่อาจจะเป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทสามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องได้บางส่วนและทำให้สถานะทางการเงินดีขึ้นจะมาจากการที่บริษัทประสบความสำเร็จจากการลงทุนในรูปแบบ SPAC ผ่านบริษัท AROGO Capital Acquisition Corporation (AROGO) ซึ่งขณะนี้ AROGO อยู่ในขั้นตอนของการรวมกิจการกับ EON Reality, Inc., อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมองว่ายังคงมีความเสี่ยงอยู่มากในการควบรวมกิจการ (De-SPAC) และแม้ว่าการควบรวมกิจการจะประสบความสำเร็จตามแผน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่จะส่งผลต่อผลตอบแทนในการลงทุนของบริษัทด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 560-710 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
? EBITDA จะอยู่ที่ประมาณ -270 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 20-60 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
? บริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ -385 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ -60 ถึง -90 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 400-500 ล้านบาทในระหว่างปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอับดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งด้านสภาพคล่องของบริษัทจากการที่หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทจะครบกำหนดชำระในระยะเวลา 15 เดือนข้างหน้า โดยที่แผนในการจัดหาเงินทุนยังไม่ชัดเจน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากมีสัญญาณความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากธุรกิจและสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยมีรายได้จากการดำเนินงานที่แน่นอนยิ่งขึ้นและมีภาระหนี้ที่ลดลง และความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินก็ได้รับการแก้ไขอย่างแน่ชัดแล้ว
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO)
อันดับเครดิตองค์กร: B-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative