ทริสเรทติ้งยกเลิก ?เครดิตพินิจ? (CreditAlert) แนวโน้ม ?Negative? หรือ ?ลบ? ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 พร้อมยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?
อันดับเครดิตที่ระดับ ?BBB+? ยังคงสะท้อนถึงตำแหน่งผู้นำของบริษัทในธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนชื่อเสียงที่แข็งแกร่ง และประวัติการดำเนินงานที่ยาวนานของบริษัทลูกคือ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นจากกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไปมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การซื้อกิจการธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ของ LEONI ถูกยกเลิก
ทริสเรทติ้งยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้ม ?Negative? หรือ ?ลบ? ที่ได้ให้ไว้แก่บริษัทตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 โดยการประกาศเครดิตพินิจดังกล่าวเป็นผลจากการที่บริษัทได้ประกาศที่จะซื้อหุ้นทั้งหมดของ LEONI Kabel GmbH และ LEONIsche Holding Inc. จาก LEONI AG ที่มูลค่าไม่เกิน 560 ล้านยูโร (หรือประมาณ 2.06 หมื่นล้านบาท) โดยแผนการซื้อธุรกิจดังกล่าวสร้างความกังวลว่าจะทำให้บริษัทมีภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากธุรกรรมดังกล่าวจะใช้เงินกู้ในสัดส่วนสูงถึง 75%
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 บริษัทได้ประกาศยกเลิกการลงทุนดังกล่าวเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในทางลบหลายประการ รวมถึงข้อมูลใหม่ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทเป้าหมาย ทั้งนี้ เงินเพิ่มทุนก้อนใหม่สำหรับการซื้อธุรกิจดังกล่าวจำนวน 5.58 พันล้านบาทนั้นบริษัทน่าจะนำไปใช้ในการลงทุนด้านอื่น ๆ โดยขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของผู้ถือหุ้น
มีตำแหน่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าของบริษัทมีฐานการผลิตอยู่ใน 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ในเดือนกันยายน 2565 กำลังการผลิตสายไฟฟ้ารวมของบริษัทอยู่ที่ 222,600 ตันต่อปี โดยเป็นกำลังการผลิตในประเทศไทยที่ 85,600 ตันและในประเทศเวียดนามที่ 137,000 ตัน ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในประเทศไทยสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 57% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่ธุรกิจสายไฟฟ้าในประเทศเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% และส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจโลจิสติกส์
อันดับเครดิตของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตสายไฟฟ้าของบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ ซึ่งเป็นลูก โดยบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ เป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าชั้นนำในประเทศไทยซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตที่ตกทอดมาจากเจ้าของเดิมซึ่งได้แก่ Phelps Dodge Corporation และ General Cable ปัจจุบัน บริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ เป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดในสัดส่วน 22% ในปี 2564 ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ นั้นสะท้อนถึงแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่ง ประวัติการดำเนินงานที่ยาวนานในประเทศไทยมากกว่า 50 ปี และการมีสินค้าที่หลากหลาย โดยบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ เป็นผู้ผลิตภายในประเทศเพียงรายเดียวที่สามารถผลิตสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษซึ่งมีแรงดันมากกว่า 230 กิโลโวลต์ได้
ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในประเทศเวียดนามของบริษัทดำเนินการโดยบริษัทลูกคือ Thipha Cables (TPC) และ Dong Viet Non-Ferrous Metal and Plastic (DVN) โดย TPC นั้นเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่ ส่วน DVN เป็นผู้ผลิตสายทองแดงและอลูมิเนียมในประเทศเวียดนาม หลังจากที่บริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัททั้ง 2 แห่งดังกล่าวในไตรมาสแรกของปี 2563 ประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงงานของ TPC & DVN ก็ปรับตัวดีขึ้นอันเป็นผลมาจากการนำแนวปฏิบัติที่ดีและความรู้ด้านการผลิตของบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ มาใช้
ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นด้วยการเน้นสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรสูง
ทริสเรทติ้งมองว่ากลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสายไฟฟ้าแรงดันปานกลางจนถึงแรงดันสูงเป็นพิเศษนั้นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยบริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ซึ่งไม่รวมผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเป็น 19.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จาก 17.5% ในปี 2564 และ 14.5% ในปี 2563
บริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ มีผลิตภัณฑ์สายเคเบิลซึ่งมีอัตรากำไรสูงที่หลากหลายตั้งแต่สายไฟแรงดันปานกลางไปจนถึงสายไฟแรงดันสูงเป็นพิเศษและสายเคเบิลชนิดพิเศษ ซึ่งรายได้จากกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 61% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จาก 51% ในปี 2564 และ 44% ในปี 2563 ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแนวโน้มแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษและจะออกผลิตภัณฑ์สายเคเบิลชนิดพิเศษใหม่ ๆ ให้มากยิ่งขึ้น
ในประเทศเวียดนามนั้นรายได้จากสายไฟฟ้าแรงดันต่ำยังคงเป็นสัดส่วนหลักซึ่งคิดเป็น 75% ของยอดขายสายไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในช่วงยกระดับความสามารถในการผลิตของโรงงานในประเทศเวียดนามและกำลังยื่นขอใบรับรองการผลิตเพื่อให้สามารถผลิตสายไฟฟ้าแรงดันสูงได้มากยิ่งขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงให้ถึง 40% ในอนาคต
มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและอัตราแลกเปลี่ยน
เนื่องจากต้นทุนของวัตถุดิบทองแดงและอลูมิเนียมของบริษัทนั้นคิดเป็นประมาณ 70%-80% ของต้นทุนการผลิตสายไฟฟ้าทั้งหมด บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาของโลหะเหล่านี้ซึ่งส่งผลทำให้บริษัทมีผลกำไรและเงินทุนหมุนเวียนที่ผันผวนตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ลดความเสี่ยงดังกล่าวลงโดยใช้กลยุทธ์ตั้งราคาขายแบบส่งผ่านต้นทุน (Cost-plus Pricing Strategy) และนโยบายในการทำสัญญากำหนดราคาวัตถุดิบหลังจากได้รับการยืนยันการสั่งสินค้าจากลูกค้า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าผลการดำเนินงานของบริษัท มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เนื่องจากระยะเวลาการชำระเจ้าหนี้การค้าในการนำเข้าวัตถุดิบที่ยาวนานถึงประมาณ 360 วัน ทริสเรทติ้งมองว่าด้วยการใช้ระยะเวลาการชำระเจ้าหนี้ที่ยาวมากนั้น ทำให้การใช้สัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging Contract) อาจจะสามารถทำได้เพียงบางส่วน
มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของยอดขาย
เรามองว่ายอดขายสายไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระหว่างปี 2564-2565 ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มมากขึ้น และระยะเวลาในการเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าที่นานขึ้นได้ส่งผลทำให้วงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle) ของบริษัทยาวนานขึ้น รวมถึงทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ อย่างไรก็ตามบริษัทสามารถเติมเต็มความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ด้วยการหาวงเงินสินเชื่อระยะสั้นใหม่ ๆ และใช้วิธีการออกหุ้นกู้ โดยหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 จาก 1.43 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวก็มีผลกำไรที่แข็งแกร่งขึ้นเป็นสิ่งชดเชย โดยกำไรของบริษัทนั้นยังคงสูงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดย EBITDA (รวมผลกำไรและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่า EBITDA ทั้งปีที่ระดับ 4.3 พันล้านบาทในปี 2564
สถานะทางการเงินยังคงเดิม
ในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทน่าจะได้ประโยชน์จากอุปสงค์ของสายไฟฟ้าที่ยังแข็งแกร่งในประเทศไทยและในประเทศเวียดนาม อัตรากำไรของบริษัทมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากบริษัทยังคงเน้นการจำหน่ายสายไฟฟ้าที่มีมูลค่าสูงและยังคงดำเนินโครงการลดต้นทุนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงระหว่างปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 2.8-3.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วน EBITDA Margin นั้นจะคงอยู่ในช่วง 15%-18% หรือคิดเป็น EBITDA ที่ประมาณ 4.5-5.8 พันล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าสถานะทางการเงินของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิมโดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ในช่วง 2.5-4 เท่าใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่จัดการได้
ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทน่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้เงิน โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 0.45 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การใช้เงินทุนหลัก ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นจะประกอบด้วยการชำระหนี้เงินกู้จำนวนประมาณ 1.97 พันล้านบาทและการลงทุนตามแผนอีกประมาณ 0.96 พันล้านบาท ทั้งนี้ หุ้นกู้มูลค่ารวม 2.78 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566 นั้นบริษัทน่าจะใช้วิธีออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทน
ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังไม่ได้นับ เงินเพิ่มทุนมารวมไว้ในการประเมินสภาพคล่อง โดยบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนและได้รับเงินจำนวน 5.45 พันล้านบาทในเดือนตุลาคม 2565 อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ในการใช้เงินเพิ่มทุนดังกล่าวนั้น ถูกจำกัดไว้สำหรับการซื้อกิจการผลิตสายไฟฟ้าสำหรับยานยนต์จาก LEONI เป็นหลัก
โครงสร้างหนี้เงินกู้
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีหนี้เงินกู้ ซึ่งไม่รวมหนี้จากสัญญาเช่าการเงินอยู่ที่จำนวน 1.58 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ที่เป็นของบริษัทย่อยนั้นมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 9.1 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับประมาณ 57.7% ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งซึ่งอยู่ที่ระดับ 50% ดังนั้น ทริสเรท ติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของลำดับในการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.8-3.1 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567
? EBITDA จะอยู่ในช่วง 4.5-5.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567
? เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 0.4-1.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567
? อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50% ของกำไรสุทธิโดยจะเริ่มจ่ายในปี 2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและในประเทศเวียดนามเอาไว้ได้ โดยคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตรากำไรในระดับสูงเอาไว้ได้เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าแรงดันสูงที่มากขึ้นและการมีโครงการปรับปรุงต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากฐานรายได้และกระแสเงินสดของบริษัทขยายตัวจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเกิดจากการที่บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าหรือในธุรกิจอื่น ๆ
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทสูงเกินกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลานานซึ่งอาจเป็นผลมาจากการทำธุรกรรมซื้อและควบรวมกิจการใหม่ ๆ โดยใช้การกู้ยืมเงินมากเกินไปจนทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable