ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ที่ระดับ ?A-? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท ที่ระดับ ?BBB+? แนวโน้มอันดับเครดิตยังคง ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 1 ขั้นเนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้ที่มีหลักประกันในสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันอย่างมีนัยสำคัญ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ได้รับอันดับเครดิต ?AAA/Stable?) อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงโครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ช่วยลดความเสี่ยง และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากความไม่แน่นอนของกระแสน้ำ ภาระหนี้สินและภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงของบริษัท อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภทฝายทดน้ำขนาดใหญ่
บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (โครงการไซยะบุรี) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภทฝายทดน้ำขนาด 1,285 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายหลักในจังหวัดไซยะบุรี สปป.ลาว
โครงการไซยะบุรีเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม 2562 โดยโครงการสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปีหากมีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเพียงพอ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภทฝายทดน้ำซึ่งเป็นเขื่อนผันน้ำในแม่น้ำโดยไม่มีอ่างเก็บน้ำเหมือนเขื่อนทั่วไป โดยเขื่อนจะควบคุมระดับน้ำของต้นน้ำและปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามแนวแม่น้ำ ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าจะเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโรงไฟฟ้า
แม้โครงการไซยะบุรีจะดำเนินงานใน สปป. ลาว แต่ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงประเทศนั้นถูกลดทอนลงมากจากการที่โครงการถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาว (The Government of the Laos -- GOL) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ โครงการไซยะบุรียังจำหน่ายไฟฟ้าเกือบทั้งหมดให้กับ กฟผ. และมีสิทธิ์รับเงินจาก กฟผ. ผ่านบัญชีธนาคารในประเทศไทย
กระแสเงินสดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
อันดับเครดิตโดยส่วนใหญ่พิจารณาจากกระแสเงินสดที่เชื่อถือได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอายุ 29 ปีกับ กฟผ. ซึ่งเป็นสัญญาแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-Pay Basis) สัญญาประเภทนี้ช่วยลดความเสี่ยงด้านการตลาดของบริษัท
ไฟฟ้าที่จำหน่ายจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ พลังงานไฟฟ้าหลัก (Primary Energy -- PE) พลังงานไฟฟ้ารอง (Secondary -- SE) และพลังงานไฟฟ้าส่วนเกิน (Excess Energy -- EE) พลังงานไฟฟ้า PE และ SE ถูกแบ่งตามช่วงเวลาที่จำหน่าย ในขณะที่พลังงานไฟฟ้า EE เป็นส่วนที่จำหน่ายเกินจากพลังงานไฟฟ้า PE และ SE อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับ PE จะได้รับชำระเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 50% และสกุลเงินบาท 50% ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับ SE และ EE จะได้รับชำระเป็นสกุลเงินบาท โดย กฟผ. มีเงื่อนไขต้องซื้อไฟฟ้าจำนวน 5,709 ล้านหน่วย (Gigawatt-hour -- GWh) ในแต่ละปี ซึ่งเป็นปริมาณเป้าหมายไฟฟ้าต่อปีหรือหน่วยไฟฟ้าที่ต้องรับซื้อ โดยปริมาณเป้าหมายไฟฟ้าต่อปีประกอบด้วยพลังงานไฟฟ้าหลักจำนวน 4,299 ล้านหน่วย และไฟฟ้ารองจำนวน 1,410 ล้านหน่วย
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ
โครงการไซยะบุรีมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าประเภทอื่น อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.9-2 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า กฟผ. จะเรียกกระแสไฟฟ้าจากบริษัทสำหรับใช้เป็นพลังไฟฟ้าฐาน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้าเป็น 1.26 หมื่นล้านบาท รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปริมาณน้ำที่มากขึ้น ปริมาณน้ำไหลเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4,033 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจาก 3,190 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. 6,184 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 10.8% จาก 5,581 ล้านหน่วยในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ความเปราะบางต่อความผันผวนของการไหลของน้ำ
ความเสี่ยงที่สำคัญที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของโครงการไซยะบุรีคือความผันผวนของการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง ระดับน้ำที่ไหลผ่านโรงไฟฟ้าขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายรอง และกระแสน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนในประเทศจีน โครงการไซยะบุรีต้องการน้ำไหลเข้าประมาณ 400-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพื่อให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับ กฟผ. หนึ่งเครื่องเริ่มทำงาน ในขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ต่ำสุดในช่วงฤดูแล้งจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของกระแสน้ำหรือฤดูแล้งที่ยาวนานนั้นมีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น บริษัทประสบกับปริมาณน้ำในระดับต่ำในปี 2563-2564 ซึ่งเป็นผลให้ผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
โครงสร้างสัญญาช่วยลดความเสี่ยงที่สำคัญ
สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีโครงสร้างที่ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของกระแสน้ำ โดยมีกลไกให้บริษัทสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้มากกว่าปริมาณเป้าหมายไฟฟ้าต่อปีในปีที่น้ำหลาก ปริมาณไฟฟ้าที่ส่งมอบที่สูงกว่าปริมาณเป้าหมายไฟฟ้าต่อปีจะถูกบันทึกไว้และชดเชยในปีที่น้ำแล้ง ในทางกลับกัน หากบริษัทส่งมอบไฟฟ้าต่ำกว่าปริมาณเป้าหมายไฟฟ้าต่อปีในปีแล้ง บริษัทสามารถบันทึกปริมาณไฟฟ้าที่ขาดและส่งมอบในปีถัดไปได้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีกลไกป้องกันการรับชำระเงินจากการดำเนินงาน โดย กฟผ. จะชำระเงินไปยังบัญชีของบริษัทที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จาก กฟผ. คิดเป็นประมาณ 98% ของรายได้รวม กลไกดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในการโอนเงินข้ามประเทศและการแปลงสกุลเงิน
โครงสร้างเงินทุนที่มีภาระหนี้สูง
ภาระหนี้สินที่สูงของบริษัทและภาระดอกเบี้ยจำนวนมากเป็นผลมาจากเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นเพื่อสนับสนุนต้นทุนโครงการเพิ่มเติมสำหรับการสร้างระบบสำหรับให้ปลาว่ายผ่าน ระบบจัดการให้ตะกอนในแม่น้ำไหลผ่าน และระบบต้านทานแผ่นดินไหว ตามคำร้องขอของรัฐบาล สปป. ลาว ในเดือนกรกฎาคม 2565 บริษัทได้ออกหุ้นกู้มูลค่า 8.4 พันล้านบาทเพื่อชำระคืนหนี้เดิม โดยชำระคืนหนี้เงินกู้โครงการและเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นในสัดส่วนเท่า ๆ กัน การออกหุ้นกู้เพื่อนำไปชำระหนี้เดิมทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนของหนี้สินและช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย
ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินรวม 1.03 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้โครงการจำนวน 7.73 หมื่นล้านบาท หุ้นกู้จำนวน 8.4 พันล้านบาท และเงินกู้ยืมผู้ถือหุ้นและดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวนรวม 1.77 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ 75% อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 6.5 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ 10%
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในประมาณการกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีรายได้ราว 1.36 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2569 คิดเป็น EBITDA ราว 1.15-1.21 หมื่นล้านบาทต่อปี และเงินทุนจากการดำเนินงาน 6.4-6.9 พันล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งยังตั้งสมมติฐานว่าบริษัทจะออกหุ้นกู้อีกราว 1.8 หมื่นล้านบาทเพื่อชำระคืนเงินกู้โครงการและเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นในช่วงปี 2566-2569 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะลดลงไปต่ำกว่า 65% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะต่ำกว่า 6 เท่าภายในปี 2569
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ เงินกู้โครงการมีกลไกสำรองเงินสดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และการชำระคืนหนี้ โดยมีเงื่อนไขให้สำรองเงินสดสำหรับการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยจ่ายที่มีกำหนดชำระใน 6 เดือนข้างหน้า ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีเงินสดและเงินฝากธนาคารที่มีข้อจำกัดรวมประมาณ 1.05 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับภาระหนี้ที่จะถึงกำหนดใน 12 เดือนข้างหน้ารวม 5.5 พันล้านบาท
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้ประมาณ 1.03 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่มีหลักประกันภายใต้เงินกู้โครงการจำนวน 7.73 หมื่นล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีหลักประกันต่อภาระหนี้รวมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับ 75% ซึ่งสูงกว่าระดับ 50% ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบกว่าเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2566-2569 มีดังนี้
? ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตต่อปีประมาณ 6,600-6,700 ล้านหน่วย
? ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง 150-295 ล้านบาทต่อปี
? ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ต่อปี
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITD Margin) อยู่ที่ราว 85%-88%
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนปีละ 100 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเติมจากแผนซ่อมบำรุง
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังว่าโครงการไซยะบุรีจะมีผลการดำเนินงานที่ราบรื่นและสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงในระยะยาว ส่งผลให้ภาระหนี้สินทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับขึ้นของอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะสั้นเมื่อพิจารณาจากระดับภาระหนี้ที่มีในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การปรับขึ้นของอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งต่อไป ในขณะที่กระแสเงินสดต่อภาระหนี้สินมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตอาจถูกกดดันได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้การสร้างกระแสเงินสดลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับภาระหนี้สิน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
XPCL257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,031 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
XPCL267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,258 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+
XPCL277A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,106 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable