ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบที่ใช้เป็นเครื่องปรุงและส่วนผสมในอาหาร (Food Ingredient Industry) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดจนความรู้ความสามารถในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) การเติบโตที่ต่อเนื่องจากการมีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและเป็นนวัตกรรม รวมถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางประการจากฐานรายได้ของบริษัทที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ตลอดจนภัยคุกคามจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด และความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดต่างประเทศ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
รายได้รวมของบริษัทในปี 2564 เติบโตขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 20% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 การขยายไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดภูมิภาคอย่างเช่นเวียดนามและอินโดนีเซียก็เป็นทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 ซึ่งรายได้จากประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 13% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จาก 6%-10% ในระหว่างปี 2562-2564
บริษัทยังเป็นหุ้นส่วนทางกลยุทธ์กับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ?A+/Positive?) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปและผู้ผลิตปลาทูน่าที่สามารถเก็บไว้ได้นานในอุณหภูมิห้องรายใหญ่ที่สุด การเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวคาดว่าจะสร้างโอกาสในการผสานพลังทางธุรกิจและการเติบโตตลอดจนขยายฐานลูกค้าของบริษัทในธุรกิจอาหารได้
ปัจจุบันรายได้ของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเติบโตยิ่งขึ้นและคาดว่าจะเติบโตถึงระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มตลอดจนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วไปนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากลักษณะความเป็นวงจรลงได้และจะช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้แก่ผลการดำเนินงานของบริษัทได้อีกด้วย
มีอัตราการทำกำไรที่ดี
บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ที่ระดับ 23%-28% ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 22% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายพนักงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นขณะที่การปรับราคาขายสินค้าของบริษัททำได้ช้าลง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มการปรับราคาที่เหมาะสมและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในช่วงหลังการเกิดโรคระบาดจะช่วยทำให้บริษัทมี EBITDA Margin อยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 22%-24% ได้ในช่วงระหว่างปี 2565-2567
มีภาระหนี้ต่ำและสภาพคล่องอยู่ในระดับดี
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทน่าจะยังคงรักษาสถานภาพปลอดหนี้ต่อไปได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทได้นำเงินสดคงเหลือที่ได้จากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปใช้ในการลงทุนในต่างประเทศ และคาดว่าการก่อสร้างโรงงานแห่งที่สองในประเทศอินโดนีเซียจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยที่บริษัทไม่มีแผนการที่จะลงทุนโดยใช้เงินทุนจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจึงน่าจะมีเพียงพอต่อความต้องการในการดำเนินธุรกิจและการบำรุงรักษาตามแผนของบริษัท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่มากพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 880 ล้านบาทจนถึง 1.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทไม่มีภาระหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ในขณะที่บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 727 ล้านบาทและยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 220 ล้านบาท
ความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ
แม้ว่าการลงทุนในต่างประเทศจะสร้างโอกาสในการขยายฐานรายได้ให้แก่บริษัท แต่การลงทุนก็มาพร้อมกับความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านการเมือง ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ประกอบกับความเสี่ยงของตลาดต่างประเทศที่เป็นเป้าหมายรวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ค่อนข้างมีความระมัดระวังในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทมักจะเข้าไปดำเนินการในตลาดเป้าหมายแห่งใหม่โดยจัดตั้งเพียงสำนักงานขายก่อนที่จะทำการลงทุนขนาดใหญ่ใด ๆ จนเมื่อบริษัทมีความมั่นใจและเห็นว่าตลาดใหม่ดังกล่าวมีขนาดใหญ่และมีความยั่งยืนพอ บริษัทจึงอาจจะตัดสินใจตั้งโรงงานในประเทศนั้น ๆ ต่อไป
มีผลงานที่ยาวนานพร้อมความเชี่ยวชาญในธุรกิจและนวัตกรรม
ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากผลการดำเนินงานที่ยาวนานกว่า 30 ปีในธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งคือการผลิตและจำหน่ายวัตถุแต่งรสและกลิ่น (Flavor and Fragrance ? F&F) นอกจากนี้ ยังมีสีผสมอาหาร (Food Coloring) และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแป้งและซอส (Food Coating) ซึ่งรวมคิดเป็นสัดส่วนถึง 77% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ประกอบการ 10 รายใหญ่ในธุรกิจดังกล่าวนั้น บริษัทเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่มีคนไทยเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินงาน
การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ถือว่าเป็นจุดแข็งหลักของบริษัท บริษัทมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทั้งในงานด้านวัตถุแต่งรสและกลิ่นรวมไปถึงงานด้านวิทยาศาสตร์อาหารให้เข้ามารับผิดชอบทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้บริษัทสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้ทันกับความต้องการใหม่ ๆ การมีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังช่วยให้บริษัทสามารถให้บริการและคาดการณ์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของลูกค้า อีกทั้งยังสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ลูกค้าประหยัดรายจ่ายได้ นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนายังช่วยให้บริษัทลดต้นทุนลงได้ โดยบริษัทสามารถคิดค้นส่วนผสมของตนเองแทนการซื้อจากแหล่งจัดจำหน่ายรายอื่นได้อีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จะเติบโตที่ระดับ 17% ในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 7%-12% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2566-2567
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ระหว่าง 35%-37% และEBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 22%-24%
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับ 400 ล้านบาทในปี 2565 และอยู่ที่ระดับ 400-650 ล้านบาทในระหว่างปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจหลักของบริษัทรวมถึงดำรงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและการทำกำไรเอาไว้ได้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าการขยายการลงทุนในต่างประเทศและกลยุทธ์การขยายรายได้ในตลาดภายในประเทศจะทำให้บริษัทมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรถดถอยลงจากระดับปัจจุบันอย่างมีสาระสำคัญ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มรายได้อย่างมีนัยสำคัญได้ในขณะที่ยังสามารถรักษาอัตรากำไรและงบดุลที่แข็งแรงเอาไว้ได้ ส่วนการปรับลดอันดับเครดิตนั้นอาจเกิดจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงจากที่คาดการณ์ไว้ในระยะเวลาที่ยาวนานระดับหนึ่ง หรือจากการที่บริษัทลงทุนเชิงรุกมากเกินไปด้วยการก่อหนี้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (RBF)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable