ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประวัติผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่แข็งแกร่งของบริษัท ในทางกลับกัน อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการที่บริษัทพึ่งพาสินทรัพย์ดำเนินงานที่มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กำไรที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ.
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทดำเนินงานภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ที่ขนาด 90 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวนาน 25 ปีซึ่งอยู่ภายใต้รูปแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-pay Basis) ในการนี้ กฟผ. มีหน้าที่ต้องรับซื้อไฟฟ้าอย่างน้อยในสัดส่วน 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาโดยขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงานของโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75%-80% ของยอดขายทั้งหมด ดังนั้น ความเสี่ยงด้านการตลาดจึงถูกลดทอนลงในขณะที่ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับการชำระเงินจากผู้ซื้อไฟฟ้าก็อยู่ในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งความแน่นอนของผลกำไรยังเกิดจากค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าอีกด้วย นอกจากนี้ ผลกระทบจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังบรรเทาลงผ่านการปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าที่อ้างอิงตามดัชนีอีกด้วย
มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม
บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง (นิคมฯ อมตะระยอง) อีกด้วย โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ขนาด 33.8 เมกะวัตต์และไอน้ำที่จำนวน 14 ตันต่อชั่วโมง ในการนี้ ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละรายมีหน้าที่ต้องซื้อไฟฟ้าและ/หรือไอน้ำจำนวนขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยยอดขายไฟฟ้านั้นขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับของกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรม
ยอดขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้นจำนวน 146 ล้านหน่วย (กิกะวัตต์-ชั่วโมง) โดยเพิ่มขึ้น 19% จาก 123 ล้านหน่วยในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งเป็นผลมาจากการที่โรงไฟฟ้ารับรู้ยอดขายไฟฟ้าเต็มจำนวนจากลูกค้ารายใหม่รายหนึ่งที่เริ่มรับซื้อไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคม 2564 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของยอดขายไฟฟ้านั้นถูกลดทอนบางส่วนจากอุปสงค์ไฟฟ้าที่ลดลงจากลูกค้ารายเดิม ๆ ที่มีอยู่
ประวัติการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่แข็งแกร่งสม่ำเสมอ
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทเป็นโรงไฟฟ้าที่มีการทำงานร่วมกันของระบบกังหันก๊าซและระบบกังหันไอน้ำ (Combined-cycle) โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ระบบดังกล่าวใช้เครื่องยนต์กังหันก๊าซ 2 ชุดที่ผลิตโดย Siemens ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในตลาดโลก บริษัทมีทีมดำเนินงานและซ่อมบำรุงประจำวันของตนเองโดยทีมงานได้รับการฝึกอบรมจาก BGRIM ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัญญาให้บริการระยะยาว (Long-term Service Agreement -- LTSA) กับ Siemens ซึ่งสัญญาดังกล่าวได้รับการขยายเวลาไปจนถึงปี 2578 โดยครอบคลุมรอบการซ่อมบำรุงใหญ่จำนวน 2 รอบถัดไปซึ่งจะช่วยให้โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูง
โรงไฟฟ้าของบริษัทก็มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงาน โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 โรงไฟฟ้าของบริษัทมีดัชนีความพร้อม 99% และมีอัตราความร้อนที่ขนาด 7,559 บีทียูต่อหน่วยซึ่งดีกว่าอัตราความร้อนอ้างอิงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ กฟผ. ที่ขนาด 8,000 บีทียูต่อหน่วย ส่วนในด้านของประสิทธิภาพการใช้พลังงานนั้น โรงไฟฟ้าของบริษัทบรรลุดัชนีชี้วัดความสามารถในการใช้พลังงานปฐมภูมิในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วมกัน (Primary Energy Saving -- PES) ซึ่งทำให้ได้รับค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมจากค่าการประหยัดการใช้เชื้อเพลิง (Fuel Saving -- FS) ที่อัตรา 0.36 บาทต่อหน่วยจาก กฟผ. ซึ่งทริสเรทติ้งพิจารณาว่าความเสี่ยงที่โรงไฟฟ้าของบริษัทจะถูกปรับหรือยกเลิกสัญญานั้นมีค่อนข้างจำกัดมาก
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิง
ในการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมนั้น บริษัทมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงในกรณีที่ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น โดยบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมด้วยส่วนลดจากราคาค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft อย่างไรก็ตาม การปรับค่า Ft นั้นจะล่าช้ากว่าและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าจะปรับในช่วงเวลาไหนและที่อัตราเท่าใด ดังนั้น ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นจึงอาจส่งผลทำให้กำไรของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
กำไรอ่อนตัวลงจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น
กำไรของบริษัทได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นในปี 2565 ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นจนทำลายสถิติที่ระดับเกิน 550 บาทต่อล้านบีทียูในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์หลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ในขณะที่การปรับเพิ่มค่า Ft นั้นยังคงต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยค่า Ft ในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนธันวาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 500 ล้านบาทในปี 2565 จาก 698 ล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า
ความคาดหวังว่ากำไรจะฟื้นตัว
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำไรของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นจากความคาดหวังว่าค่า Ft จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกและราคาก๊าซธรรมชาติจะเริ่มกลับสู่ระดับปกติ ทั้งนี้ ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าราคาก๊าซจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในปี 2566 ในขณะที่ค่า Ft จะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปเพื่อช่วยชดเชยเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวนมากที่ กฟผ. แบกรับ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 154.92 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะค่อย ๆ กลับสู่ระดับปกติตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จากการคาดการณ์ว่าความไม่สมดุลระหว่างระดับอุปสงค์และอุปทานจะผ่อนคลายลง ในขณะที่ค่า Ft ก็จะปรับตัวลดลงตามไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับราว ๆ 650-720 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 2-3 เท่าในช่วงเวลาประมาณการและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 50%
มีสินทรัพย์ดำเนินงานเพียงแห่งเดียว
อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีสินทรัพย์ดำเนินงานเพียงแห่งเดียว ดังนั้น บริษัทจึงมีความเสี่ยงทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูงกว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่รายอื่น ๆ ที่มีสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง การที่บริษัทขาดความหลากหลายในการดำเนินงานจึงอาจทำให้รายได้ของบริษัทมีความเสี่ยงจากการหยุดดำเนินงานของโรงไฟฟ้าอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น การหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเป็นเวลานาน หรือชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักรเกิดความเสียหาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นมีค่อนข้างยากเมื่อพิจารณาจากประวัติการดำเนินงานที่ผ่านการพิสูจน์แล้วของบริษัทและสัญญาให้บริการระยะยาวที่เป็นประโยชน์
ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ในเดือนเมษายน 2560 บริษัทได้ทำการกู้เงินในรูปแบบของเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทจำนวน 3.88 พันล้านบาทจาก บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ เอสพีวี 1 จำกัด (ABPSPV) เพื่อนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้โครงการคงค้างที่มีกับธนาคาร ซึ่งกำหนดการชำระหนี้เงินกู้ยืมระหว่างบริษัทดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับกำหนดการชำระหนี้หุ้นกู้ที่ออกโดย ABPSPV ทั้งนี้ ภาระในการชำระคืนหนี้เงินกู้ของบริษัทในแต่ละปีมีจำนวนที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยยอดชำระมีจำนวนตั้งแต่ 15 ล้านบาทไปจนถึง 749 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2561-2575 ซึ่งบริษัทไม่มีภาระในการชำระคืนเงินต้นในปี 2561 รวมถึงในปี 2562 ในปี 2568 และในปี 2574 ในการนี้ บริษัทได้จ่ายชำระคืนเงินต้นงวดแรกไปแล้วในเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถบริหารความต้องการด้านสภาพคล่องและสำรองเงินสดไว้เพื่อรองรับการชำระหนี้เงินกู้ที่มีจำนวนเงินต้นสูงในบางปีได้
ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 257 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดที่มีอยู่เมื่อรวมกับประมาณการ EBITDA แล้วน่าจะเพียงพอรองรับภาระหนี้ที่บริษัทต้องจ่ายชำระที่จำนวน 86-410 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ได้
ภาระค้ำประกันหุ้นกู้ของ ABPSPV
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันที่ออกโดย ABPSPV โดยผู้ค้ำประกันหุ้นกู้อีก 2 ราย คือ บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 3 จำกัด (ABP3) และ บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 2 จำกัด (ABPR2) ซึ่งภายใต้เงื่อนไขการค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันทั้ง 3 รายจะให้การค้ำประกันแบบร่วมกันและแทนกันได้อย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้สำหรับหุ้นกู้ทั้งจำนวนซึ่งรวมถึงเงินต้นในวงเงินรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 1.15 หมื่นล้านบาทบวกหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เป็นบริษัทย่อยเชิงกลยุทธ์ภายใต้ BGRIM Group
โรงไฟฟ้าของบริษัทเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจำนวนทั้งสิ้น 19 แห่งภายใต้ BGRIM Group ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2565 กำลังการผลิตติดตั้งของบริษัทคิดเป็น 5% ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมดของ BGRIM ส่วนในด้านของกระแสเงินสดนั้น EBITDA ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของ EBITDA ทั้งหมดของ BGRIM Group แม้จะมีส่วนแบ่งรายได้เพียงเล็กน้อย แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยเชิงกลยุทธ์ของ BGRIM ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเป็นสินทรัพย์หลักในการผลิตไฟฟ้าของ BGRIM ซึ่งคิดเป็น 74% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของกลุ่ม
BGRIM มีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในนิคมฯ อมตะระยองจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่งซึ่งรวมโรงไฟฟ้า ABPR1 ของบริษัทด้วย ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความสำคัญต่อ BGRIM ในด้านการบริหารจัดการประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยรวมของโรงไฟฟ้าของกลุ่มในนิคมฯ อมตะระยอง ดังนั้น ทริสเรทติ้ง จึงคาดว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจาก BGRIM ในฐานะบริษัทแม่เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมุติฐานที่สำคัญที่ทริสเรทติ้งใช้ในประมาณการกรณีพื้นฐานสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
? โรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีดัชนีค่าความพร้อมอยู่ในช่วง 92%-99%
? สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จะอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์และกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 33.8 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะมีสัญญาซื้อขายไอน้ำกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 14 ตัน/ชั่วโมง
? บริษัทจะจำหน่ายไฟฟ้าได้ประมาณ 803-852 ล้านหน่วยต่อปี และจะจำหน่ายไอน้ำได้ประมาณ 48,000-60,000 ตันต่อปี
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ปีละ 7-19 ล้านบาท
? การชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมระหว่างบริษัทจะสอดคล้องกับกำหนดการชำระคืนหนี้หุ้นกู้มีการค้ำประกันที่ออกโดย ABPSPV
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่ากำไรของบริษัทจะฟื้นตัวและบริษัทจะสามารถดำรงประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไปได้ในระยะยาว โดยที่บริษัทจะสามารถสร้างผลกำไรและรักษาระดับหนี้สินให้เป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้งได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัด ในทางกลับกัน ปัจจัยกดดันที่อาจทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง หรือความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนด้อยลง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้งแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับสถานะเครดิตของ BGRIM หรือความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและ BGRIM ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 1 จำกัด (ABPR1)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable