ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงธุรกิจของบริษัทที่มีขนาดเล็กและมีการกระจุกตัวของพื้นที่ดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงผลการดำเนินงานล่าสุดซึ่งอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่ค่อนข้างต่ำและความคาดหวังว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะฟื้นตัวจากการที่ราคาวัตถุดิบมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากขนาดธุรกิจที่เล็กและมีการกระจุกตัวสูง
ธุรกิจของบริษัทมีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยฐานกระแสเงินสดและขนาดของสินทรัพย์ของบริษัทนั้นต่ำกว่าของบริษัทอื่น ๆ ที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าอยู่มาก นอกจากนี้ โรงงานผลิตและสถานที่จำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ (RMC) รวมทั้งผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป (precast concrete) และคอนกรีตมวลเบา (LWC) ของบริษัทก็ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีซึ่งทำให้ฐานลูกค้ากระจุกตัวอยู่ในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง แม้คาดว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมากในจังหวัดชลบุรีและการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่บริษัทก็ยังต้องแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) อีกด้วย
บริษัทวางแผนจะกระจายธุรกิจ RMC และคอนกรีตสำเร็จรูปไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในอนาคตโดยใช้โรงงาน RMC แบบที่เคลื่อนย้ายได้ ปัจจุบันบริษัทได้ตั้งโรงงาน RMC แบบที่เคลื่อนย้ายได้ที่จังหวัดหนองคายซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ก่อสร้างรถไฟทางคู่ การใช้โรงงาน RMC แบบเคลื่อนที่นั้นช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นและใช้เงินลงทุนค่อนข้างต่ำ โดยที่ความสำเร็จในรูปแบบธุรกิจนี้จะช่วยให้สถานที่ในการดำเนินธุรกิจและตลาดปลายทางที่บริษัทให้บริการมีความหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่คาดหวังรายได้ที่มีนัยสำคัญจากการลงทุนในรูปแบบนี้ในระยะเวลาอันใกล้
แรงกดดันด้านต้นทุนทำให้ผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่คาดไว้
ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ได้มีการประมาณการไว้ แม้ว่าอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในการก่อสร้างภาคเอกชนจะมีเพียงพอที่จะชดเชยอุปสงค์ที่อ่อนแอในการก่อสร้างภาครัฐ แต่ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและทำให้กระแสเงินสดของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายของทริสเรทติ้ง อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทในช่วงดังกล่าวคิดเป็นเพียง 62% ของประมาณการทั้งปีของทริสเรทติ้งโดยลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงเหลือ 10.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จาก 12.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ก็ลดลงเหลือ 9.7% จากจุดสูงสุดที่ 12.4% ในปี 2563 และ 10.9% ในปี 2564 ทั้งนี้ ราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างมากส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของคอนกรีตสำเร็จรูปลดลง ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดีเซลที่สูงและราคาปูนซีเมนต์ที่สูงขึ้นตามราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นของผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทด้วยเช่นกัน
ผลการดำเนินงานคาดว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะดีขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากแรงกดดันจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นบรรเทาลงท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จำนวนที่เพิ่มขึ้นของโครงการก่อสร้างภาครัฐซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2566 นั้นก็น่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปและ RMC ให้ดีขึ้นด้วยแม้ว่าอุปสงค์ LWC ที่เพิ่มขึ้นอาจไม่แข็งแกร่งเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
จากประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.3-2.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะฟื้นตัวเล็กน้อยมาอยู่ในช่วง 250-265 ล้านบาทต่อปีในช่วงเดียวกัน โดยมี EBITDA Margin อยู่ที่ประมาณ 10.5%-11.5% ซึ่งการฟื้นตัวของอัตรากำไรจะได้รับแรงหนุนจากราคาเหล็กและปูนซีเมนต์ที่น่าจะจะลดต่ำลงในปี 2566 เมื่อเทียบกับในปี 2565 ทั้งนี้ ราคาเหล็กมีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ในขณะที่ราคาถ่านหินและน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเนื่องจากความกลัวเรื่องการหยุดชะงักของอุปทานลดลง
การลงทุนในธุรกิจคลังสินค้าหากประสบความสำเร็จก็อาจช่วยเสริมสถานะเครดิตของบริษัทได้
บริษัทเพิ่งจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท ปลาวาฬ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้บริการจัดการคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone) ใกล้ท่าเรือแหลมฉบังและ EEC โดยบริษัทถือหุ้น 51% ในบริษัทร่วมทุนดังกล่าวซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวม 10 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในระยะแรกนั้นบริษัทจะสร้างคลังสินค้าที่มีพื้นที่เช่ารวม 2,800 ตารางเมตร (ตร.ม.) บนที่ดินของบริษัทเองและจะปล่อยเช่าให้แก่บริษัทร่วมทุน ทั้งนี้ การลงทุนของบริษัททั้งในส่วนของอาคารและโครงสร้างพื้นฐานนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน บริษัทปลาวาฬ โลจิสติกส์ฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำในพื้นที่แหลมฉบังและ EEC จะเข้ามาช่วยในการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน ในการนี้ บริษัทคาดว่าจะทำการก่อสร้างคลังสินค้าให้แล้วเสร็จและให้บริษัทร่วมทุนเช่าภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากคลังสินค้าตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรและใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอุปสงค์จะมีความแข็งแกร่ง โดยบริษัทคาดว่าจะมีรายได้ค่าเช่าต่อปีที่ระดับประมาณ 10 ล้านบาท
หากการลงทุนในระยะแรกประสบความสำเร็จ บริษัทก็มีแผนจะลงทุนในระยะที่สองต่อไป โดยในระยะที่สองนั้นบริษัทมีแผนจะสร้างคลังสินค้าขนาดสี่ชั้นซึ่งมีพื้นที่ให้เช่ารวม 18,800 ตร.ม. และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลงทุนในคลังสินค้าแห่งที่สองจะเริ่มก็ต่อเมื่อคลังสินค้าแห่งแรกสร้างเสร็จสมบูรณ์และปล่อยเช่าให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ แม้จะรวมค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับทั้งสองระยะแล้ว อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิของบริษัทน่าจะยังคงเกินระดับ 40% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA น่าจะยังคงอยู่ต่ำกว่า 2.5 เท่าในช่วงเวลาประมาณการ โดยในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าหากการกระจายกิจการไปยังธุรกิจโลจิสติกส์ประสบความสำเร็จก็จะเป็นผลดีต่อสถานะเครดิตของบริษัทเนื่องจากธุรกิจคลังสินค้ามีความผันผวนน้อยกว่าและมีอัตรากำไรที่ดีกว่าธุรกิจเดิมของบริษัท
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินยังต่ำและมีสภาพคล่องที่เพียงพอ
อันดับเครดิตของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำและสภาพคล่องที่เพียงพอ แม้จะรวมเงินที่จะต้องใช้ในการลงทุนตามแผนของบริษัท แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20%-25% ในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี แม้ว่าบริษัทจะมีหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่บริษัทก็ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ) ของเงินกู้ยืมจากธนาคารได้ โดย ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.85 เท่าซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำที่ 1.2 เท่าแต่บริษัทก็ได้รับการผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวจากผู้ให้กู้ ทั้งนี้ บริษัทอาจจะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ ณ สิ้นปี 2565 ได้ด้วยเช่นกันเนื่องจากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรอ่อนแอกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับการผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวจากผู้ให้กู้เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำและมีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ในอนาคตทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 187 ล้านบาท ณ สิ้นสุด 9 เดือนแรกของปี 2565 โดยบริษัทน่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 220 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การใช้เงินส่วนใหญ่จะเป็นการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 92 ล้านบาทและเป็นค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอีกประมาณ 130 ล้านบาท
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 หนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทซึ่งไม่รวมสัญญาเช่าการเงินอยู่ที่ระดับ 530 ล้านบาทและเป็นหนี้ที่มีหลักประกันทั้งหมด ดังนั้น อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับ 100%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จะอยู่ในช่วง 2.3-2.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2567
? EBITDA Margin จะอยู่ในช่วง 10.5%-11.0% ในช่วงระหว่างปี 2566-2567
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนซึ่งรวมถึงการลงทุนในธุรกิจคลังสินค้าทั้งสองระยะจะอยู่ที่ระดับประมาณ 500 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทไม่น่าจะเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญไปจากระดับปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ก็ตาม นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เป็นฐานที่มั่นของตนและได้รับประโยชน์จากการลงทุนใน EEC
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายขนาดธุรกิจในขณะที่ยังคงรักษาหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเอาไว้ได้โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิอยู่สูงกว่าระดับ 40% และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ต่ำกว่าระดับ 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง
แรงกดดันต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงอ่อนแอต่อไปหรือบริษัทก่อหนี้สินสำหรับการลงทุนสูงเกินไปจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิต่ำกว่าระดับ 20% หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ใกล้เคียงกับระดับ 5 เท่าเป็นระยะเวลานาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
?
บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) (CCP)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable