อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงตำแหน่งผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น และสถานะทางด้านการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทก็ถูกลดทอนจากความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวนและผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลต่ออุตสาหกรรมการค้าปลีกน้ำมัน นอกจากนี้ อันดับเครดิตเฉพาะยังสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ภาระหนี้สินของบริษัทอาจสูงขึ้นจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของกลุ่ม ปตท.
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของ บริษัท ปตท. เนื่องจากบริษัทมีการดำเนินธุรกิจที่ผสานเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ปตท. อีกทั้งยังมีความสอดคล้องในด้านกลยุทธ์และชื่อเสียงอย่างใกล้ชิดกับบริษัท ปตท. ทั้งนี้ บริษัทเป็นแกนหลักในด้านธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของกลุ่ม ปตท. โดยปัจจุบันบริษัท ปตท. ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนถึง 75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการดำเนินงานของบริษัทผสานเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของกลุ่ม ปตท. อย่างเต็มที่ โดยบริษัทมีหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. ให้แก่ลูกค้าทั้งในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ โดยประมาณ 70%-80% ของผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมที่บริษัทจัดหานั้นมาจากโรงกลั่นน้ำมันในกลุ่ม ปตท. ภายใต้สัญญาระยะยาว ในขณะเดียวกัน บริษัทก็มีหน้าที่รับซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมจากกำลังการผลิตของโรงกลั่นเหล่านี้ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน ทริสเรทติ้งยังมองด้วยว่าบริษัทมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับชื่อเสียงของบริษัท ปตท. เนื่องจากบริษัทใช้แบรนด์สินค้า ?ปตท.? หรือ ?PTT?
นอกจากนี้ กลยุทธ์ของบริษัทก็มีความสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัท ปตท. ในการสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานแห่งอนาคต และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอีกด้วย ในขณะที่นโยบายทางการเงินของบริษัทก็สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท ปตท. ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดเหล่านี้แล้ว ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่บริษัท ปตท. จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่บริษัทในช่วงเวลาที่ยากลำบากถึงแม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะยังสร้างผลกำไรให้แก่กลุ่มในสัดส่วนที่เล็กน้อยก็ตาม
เป็นผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งมากจากการเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยบริษัทยังคงสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำทั้งในตลาดค้าปลีกน้ำมันและตลาดพาณิชย์สำหรับสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมส่วนใหญ่มามากกว่าทศวรรษ ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดตามยอดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 43.8% นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้นำด้านราคาในตลาดน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแบรนด์ ?ปตท.? ที่แข็งแกร่ง ตลอดจนขนาดของธุรกิจและความสามารถในการจัดหาสินค้าในระดับสูง เครือข่ายสถานีบริการที่กว้างขวาง และช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บริษัทรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเอาไว้ได้ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ การที่บริษัทมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย รวมทั้งมีความสมดุลระหว่างสัดส่วนการจำหน่ายในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ก็ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงอุปสงค์สินค้าจากตลาดหลากหลายกลุ่มซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตและเสถียรภาพของยอดขายน้ำมันอีกด้วย
ในปี 2564 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 5.14 แสนล้านบาท ซึ่งมาจาก 3 ธุรกิจหลักประกอบด้วย ธุรกิจ Mobility (ธุรกิจค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศไทย) ธุรกิจ Lifestyle (ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันในประเทศไทย) และธุรกิจ Global (ธุรกิจค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และไม่ใช่น้ำมันนอกประเทศไทย) ทั้งนี้ รายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจ Mobility ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 92.9% ในแง่ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) นั้น ธุรกิจ Mobility มีสัดส่วนประมาณ 75.6% ตามด้วยธุรกิจ Lifestyle ที่สัดส่วน 20.6% และธุรกิจ Global ที่สัดส่วน 3.6%
ความสามารถในการแข็งขันที่โดดเด่นในตลาดค้าปลีกน้ำมัน
ในธุรกิจค้าปลีกนั้น บริษัทมีข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าคู่แข่ง เนื่องจากสถานีบริการน้ำมัน ปตท. มีผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงที่หลากหลายและมีราคาที่สามารถแข่งขันได้ ยิ่งไปกว่านั้น สถานีบริการส่วนใหญ่ของบริษัทจะมีบริการ ?ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน? และ ?ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven? ซึ่งทั้งคู่ต่างก็เป็นแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ทั้งนี้ ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน นั้นเป็นตัวหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ความสามารถในการแข่งขันของร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน มาจากความสำเร็จในการสร้างแบรนด์สินค้า ตลอดจนการเติบโตที่รวดเร็วจากกลยุทธ์แฟรนไชส์ คุณภาพของสินค้าที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้ และจำนวนสาขาที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีความร่วมมือทางธุรกิจระยะยาวกับ 7-Eleven ซึ่งทำให้บริษัทมีร้านสะดวกซื้อให้บริการอยู่ในสถานีบริการเกือบทุกแห่ง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นที่ต้องการเหล่านี้ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้าสู่สถานีบริการจนส่งผลให้บริษัทมียอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงและรายได้ต่อสถานีที่สูงกว่าคู่แข่ง
ด้วยแบรนด์ ?PTT Station? ที่แข็งแกร่ง บริษัทจึงสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านรูปแบบสถานีของตัวแทนจำหน่าย หรือ DODO (Dealer Owned Dealer Operated) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้บริษัทขยายตัวได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เงินทุนที่ต่ำ เนื่องจากรูปแบบธุรกิจดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถสร้างสถานีบริการใหม่ ๆ ด้วยเงินลงทุนของตัวแทนจำหน่าย โดยบริษัทจะแบ่งปันกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันกับตัวแทนจำหน่าย ทริสเรทติ้งมองว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยให้บริษัทสามารถมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับแผนส่งเสริมการตลาดและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานในขณะที่ยังคงรักษาต้นทุนคงที่ให้อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งสามารถขยายธุรกิจออกไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งบนทางหลวงและถนนสายหลัก ๆ ได้ ทั้งนี้ ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อัตราการขยายสถานีบริการใหม่ของบริษัทในประเทศอยู่ที่ประมาณ 100-140 แห่งต่อปี โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีสถานีบริการในประเทศจำนวนทั้งสิ้น 2,108 แห่ง ซึ่งประมาณ 81% เป็นสถานีบริการในรูปแบบ DODO
มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาน้ำมันและผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล
ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความอ่อนไหวจากราคาน้ำมันที่ผันผวนเนื่องจากกำไรส่วนใหญ่ของบริษัทยังคงมาจากการจำหน่ายน้ำมันในประเทศ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจดังกล่าวสร้างผลกำไรคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70%-75% ของ EBITDA ทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทนั้นมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ บริษัทจึงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนภารกิจของบริษัท ปตท. ในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ดังนั้น บริษัทในฐานะที่เป็นผู้จำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงดำเนินนโยบายการสำรองน้ำมันที่เข้มงวดโดยมีปริมาณสำรองในระดับที่สูงกว่าปริมาณสำรองตามกฎหมายเพื่อที่จะให้มั่นใจว่ามีปริมาณน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการของตลาด จากเหตุดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงมองว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้นมีแนวโน้มที่จะผันผวนจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเชื่อว่านโยบายการควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันของรัฐบาลก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการค้าปลีกน้ำมันและการตั้งราคาของบริษัทด้วยเช่นกัน จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งการให้เงินอุดหนุนโดยตรงผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การลดปริมาณส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซล และการลดภาษีสรรพสามิตชั่วคราว เป็นต้น ทั้งนี้ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ยาวนานได้สร้างแรงกดดันต่อค่าการตลาดของผู้ค้าปลีกน้ำมันต่าง ๆ และก่อให้เกิดภาระทางการเงินที่สูงขึ้นอย่างมากจากการจ่ายเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ล่าช้า
ความมุ่งมั่นในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ Lifestyle
บริษัทได้พยายามที่จะขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจ Lifestyle ให้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีอัตรากำไรที่สูงและมีเสถียรภาพมากกว่า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธุรกิจ Lifestyle นั้นมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับประมาณ 25% ซึ่งสูงกว่าธุรกิจ Mobility ซึ่งอยู่ในช่วง 2%-3% อย่างมีนัยสำคัญ โดยร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ถือว่าเป็นธุรกิจหลักในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ของบริษัทและเป็นธุรกิจที่ยังมีโอกาสในการเติบโตโดยเห็นได้จากอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งทั้งในแง่ของจำนวนสาขาและจำนวนแก้วที่จำหน่ายในร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์กาแฟนี้จะยังคงสามารถรักษาอัตราการขยายสาขาในประเทศไทยได้ตามแผนโดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเปิดสาขาใหม่ที่ประมาณ 400 แห่งต่อปี ซึ่งประมาณ 75% ของจำนวนสาขาที่เปิดใหม่นี้จะเป็นสาขาที่อยู่นอกสถานีบริการน้ำมัน (Stand-alone Outlet)
นอกจากร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน แล้ว บริษัทยังมีความพยายามที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ฐานรายได้ของธุรกิจ Lifestyle โดยการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ โดยบริษัทได้ลงทุนในกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพ (?ร้านโอ้กะจู๋?) และร้านอาหารญี่ปุ่นแบบบุฟเฟ่ต์ระดับพรีเมียม (?ร้านโคเอน?) นอกจากนี้ บริษัทยังขยายขอบเขตการให้บริการนอกเหนือไปจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย อาทิ เช่น ธุรกิจร้านสะดวกซัก (แบรนด์ ?Otteri?) และแพลตฟอร์มการจองบริการด้านสุขภาพและความงามต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์ (?Gowabi?) ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความพยายามในการกระจายการลงทุนไปในธุรกิจ Lifestyle นี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะเพิ่มแหล่งรายได้ให้มีความหลากหลาย และเพิ่มความหยืดหยุ่นให้แก่ธุรกิจโดยรวมมากยิ่งขึ้น
การปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบสถานีของชุมชน
บริษัทได้ตั้งเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่จะปรับเปลี่ยนสถานีบริการ ปตท. ให้กลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชน (Living Community) โดยการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการขั้นพื้นฐานรวมไปถึงเพิ่มพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้าและการใช้เวลาในสถานีบริการให้มากขึ้น โดยคาดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยเพิ่มรายได้ต่อสถานีบริการได้ในระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนจะปรับปรุงสถานีบริการให้มีความทันสมัยโดยวางแผนจะขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่การให้บริการด้านดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เภสัชกรรมทางไกล (Tele Pharmacy) ครัวกลาง (Cloud Kitchen) รวมถึงแพลตฟอร์มการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์
ทริสเรทติ้งคาดว่ากลยุทธ์ที่ดำเนินอยู่น่าจะมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนให้บริษัทมีรายได้ที่มั่นคงและมีกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบธุรกิจที่เป็นพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับชุมชนน่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของธุรกิจ (Disruption Risk) ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าผลลัพธ์จากการบูรณาการธุรกิจใหม่ ๆ เข้ากับสถานีบริการ ปตท. นั้นยังไม่เห็นภาพอย่างชัดเจนในเวลานี้ และยังมองว่าบริษัทยังคงเผชิญต่อความเสี่ยงจากการดำเนินงานในธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากสภาวะแวดล้อมในการแข่งขันที่ไม่คุ้นเคย พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการพึ่งพาพันธมิตรอย่างมากในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว
?
ผลการดำเนินงานอยู่ในช่วงฟื้นตัว
ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทกำลังฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยยอดขายผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอัตรากำไรขั้นต้นนั้นยังคงได้รับผลกระทบบางส่วนจากราคาน้ำมันที่ลดลง
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจ Mobility ในประเทศจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของบริษัท โดยคาดว่ายอดขายผลิตภัณฑ์น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมโดยรวมในประเทศของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 15% ในปี 2565 ที่ระดับ 7% ในปี 2566 และที่ระดับ 2%-3% ต่อปีในระหว่างปี 2567-2568 ทริสเรทติ้งสมมติว่าบริษัทจะเปิดสถานีบริการในประเทศที่ประมาณ 100 แห่งต่อปี ในประมาณการกรณีพื้นฐาน รายได้ต่อปีของบริษัทมีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาทในปี 2568 จาก 7.8 แสนล้านบาทในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วง 2.3-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีและอัตรา EBITDA Margin ในช่วงประมาณการคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.0% จากระดับ 3.3%
สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
เงินที่บริษัทได้รับจากการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) นั้นช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างมาก และยังช่วยให้บริษัทสามารถจัดการกับผลกระทบจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องกับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนกันยายน 2565 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 23.5% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ในระดับต่ำที่ 1.3 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นเมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนและการซื้อกิจการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและนโยบายทางการเงินที่รอบคอบน่าจะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทมีภาระหนี้สินมากจนเกินไป โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนภาระหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะยังคงต่ำกว่า 1.5 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ในช่วง 20%-23% ในช่วงระหว่างปี 2565-2568
มีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทยังคงมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และแผนการลงทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวม 2.03 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 รวมไปถึงเงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 5.8 พันล้านบาท ในขณะที่การใช้เงินที่สำคัญ ๆ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะประกอบด้วยการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 5.7 พันล้านบาทและเงินลงทุนอีกจำนวน 2.5-3.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่า บริษัทจะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ลดลงภายใต้สมมติฐานว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงและบริษัท จะทยอยได้รับเงินชดเชยคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
โครงสร้างเงินทุน
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ภาระหนี้สินรวมของบริษัท (ไม่รวมสัญญาเช่าทางการเงิน) มีจำนวน 3.96 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนทั้งสิ้น 3.3 พันล้านบาทซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้รวมอยู่ที่ระดับ 8.3%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับประมาณ 96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ยในปี 2565 และจะอยู่ที่ระดับ 65-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในระหว่างปี 2566-2568
? ยอดขายน้ำมันในประเทศจะเติบโตที่ระดับ 15% ในปี 2565 ที่ระดับ 7% ในปี 2566 และที่ระดับ 2%-3% ในระหว่างปี 2567-2568
? กำไรขั้นต้นโดยรวมจะอยู่ที่ 1.0-1.1 บาทต่อลิตรในระหว่างปี 2565-2568
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2565-2568
? อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50% ของผลกำไรสุทธิ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศ และยังคงรักษากระแสเงินสดที่แข็งแกร่งไว้ได้ ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนกระแสเงินสดต่อภาระหนี้สินให้สอดคล้องกับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของบริษัท ปตท. ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจจะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และราคาน้ำมันในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นผลมาจากรายได้และผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้นจากธุรกิจ Lifestyle และจากการลงทุนใหม่ ๆ ในทางตรงกันข้าม แรงกดดันด้านลบต่ออันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก หรือบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้จำนวนมากจนส่งผลทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้ง สถานะความน่าเชื่อถือของบริษัท ปตท. ที่อ่อนด้อยลง หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและบริษัท ปตท. อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)
อันดับเครดิตองค์กร: AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable