ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เคบี เจ แคปปิตอล” ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 22, 2023 16:30 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 3 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile ? SACP) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ ?bbb-? โดยสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของบริษัทว่าเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KB Kookmin Card Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตของ KB Financial Group (ได้รับอันดับเครดิต ?A/Stable? จาก S&P Global Ratings)

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะธุรกิจในระดับปานกลางในธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค (Consumer Loan) และความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางของบริษัท นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม รวมทั้งสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัทอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KB Kookmin Card

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KB Kookmin Card ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตในเครือของ KB Financial Group หนึ่งในผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำของประเทศเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันบริษัทมี KB Kookmin Card เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 50.99% และบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของ KB Kookmin Card ในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในส่วนของการสนับสนุนทางการเงินนั้น KB Kookmin Card ให้การค้ำประกันเงินกู้ยืมของบริษัทซึ่งแสดงถึงพันธะผูกพันในระยะยาวที่มีต่อบริษัท ในขณะเดียวกัน บริษัทยังมีบูรณาการที่เป็นหนึ่งเดียวกับ KB Kookmin Card เป็นอย่างมากในด้านการดำเนินงานอีกด้วย โดยบริษัทได้นำระบบด้านการเงินหลัก ๆ ของบริษัทแม่ที่ใช้ในสาขาทั่วโลกมาปรับใช้ รวมทั้งยังปฏิบัติตามนโยบายการดำเนินงานภายในของ KB Kookmin Card ในส่วนของการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการด้านการเงิน การควบคุมภายใน ทรัพยากรบุคคล และระบบความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งใช้กับบริษัทย่อยของ KB Kookmin Card ทุกแห่งทั่วโลก อีกทั้งบริษัทยังใช้ชื่อทางการค้า ?KB? ร่วมกับบริษัทแม่ซึ่งช่วยส่งเสริมสถานะให้แก่บริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KB Kookmin Card อีกด้วย

สถานะทางธุรกิจในระดับปานกลางแต่มีศักยภาพในการเติบโต

สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังคงอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินรายอื่น ๆ ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งเนื่องจาก KB Kookmin Cardเพิ่งเข้ามาถือหุ้นบริษัทในช่วงปลายปี 2564 อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนทางธุรกิจในแง่ของระบบปฏิบัติการและการค้ำประกันทางการเงินจาก KB Kookmin Card และความร่วมมือทางธุรกิจกับ JMART Group ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 29% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 3.3 พันล้านบาทโดยส่วนหนึ่งมีปัจจัยผลักดันจากสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Home for Cash) ซึ่งเติบโตที่ระดับ 53% หรืออยู่ที่ 1.2 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน

มีการกระจายตัวของธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจหลัก 2-3 ประเภท โดยรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล (Revolving Personal Loan) ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้รวมในปี 2565 ส่วนรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกัน (Collateralized Installment Loan) คิดเป็นสัดส่วน 9% และรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อส่วนบุคคลคิดเป็นสัดส่วน 7% ของรายได้รวม

ในระยะปานกลางหรือ 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อหมุนเวียนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักในขณะเดียวกันก็จะขยายไปในผลิตภัณฑ์ใหม่อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยในเดือนตุลาคม 2565 บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ?Samsung Finance Plus? (SF+) ซึ่งนำเสนอโปรแกรมเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือซัมซุง (Samsung) แบบดิจิทัลเต็มรูปแบบผ่านความร่วมมือระหว่างบริษัทและ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ในระยะต่อไปบริษัทมีแผนจะขยายโปรแกรมไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ของซัมซุงด้วย แม้ว่าทริสเรทติ้งจะมองว่าการเติบโตของสินเชื่อและการกระจายตัวที่ดีขึ้นของแหล่งที่มาของรายได้ของบริษัทเป็นไปในเชิงบวก แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าสิ่งดังกล่าวจะยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสถานะทางธุรกิจของบริษัท

สถานะฐานทุนมีแรงกดดันจากการเติบโตของสินเชื่อแบบก้าวกระโดด

ทริสเรทติ้งยังคงประเมินให้สถานะฐานทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่เข้มแข็งแม้ว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะลดลงก็ตาม ทั้งนี้ ในปี 2565 อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทลดลงเหลือ 19.2% จาก 23.6% ในปี 2564 ตามการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วที่ระดับ 29% จากคาดการณ์การขยายสินเชื่อที่ระดับ 18%-24% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินกองทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะลดลงเหลือประมาณ 14%-16% การขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอ่อนแอลงเป็นระยะเวลานานอาจสร้างแรงกดดันต่อสถานะเครดิตของบริษัทได้ ส่วนในด้านของภาระหนี้สินที่วัดโดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 เท่า ณ สิ้นปี 2565 จาก 2.0 เท่า ณ สิ้นปี 2564

ความสามารถในการทำกำไรคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลาง

ในแง่ของความสามารถในการทำกำไรซึ่งวัดโดยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทนั้นปรับตัวลดลงเหลือ 1.4% ในปี 2565 จาก 2.2% ในปี 2564 จากการลดลงของอัตราผลตอบแทนของสินเชื่อของบริษัทที่ลดลงเหลือ 15.4% ในปี 2565 จาก 18.6% ในปี 2564 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และสัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันผลตอบแทนต่ำที่มีสัดส่วนสูงขึ้นรวมถึงการแข่งขันในด้านราคา ซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือประมาณ 14% ในปี 2565 จากประมาณ 17% ในปี 2564

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนอัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อนั้นมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 17%-18% จากการที่โครงการบรรเทาหนี้สิ้นสุดลงและบริษัทเน้นการขยายสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงในช่วงปี 2566-2568 เนื่องจากการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและบุคคลากรส่วนใหญ่ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2565 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของสาขาและเครือข่ายทีมงานขาย

คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นจากนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสถานะความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงระหว่างปี 2563-2565 ด้วยอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่ระดับ 2.1% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับ 6.6% ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เกิดขึ้นใหม่ลดลงเหลือ 6.9% ของสินเชื่อถัวเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 12.7% ณ สิ้นปี 2564

กรณีดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่บริษัทนำมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงและการอนุมัติสินเชื่อที่ระมัดระวังของบริษัทแม่มาปรับใช้ รวมไปถึงการที่บริษัทมีกระบวนการติดตามหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว ตลอดจนผลจากโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 และการขยายฐานสินเชื่อที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำระบบปฏิบัติการหลัก ๆ ซึ่งใช้ในบริษัทย่อยทั่วโลกของ Kookmin Bank Card มาใช้ซึ่งช่วยรองรับธุรกรรมการให้กู้ยืมได้ตามเวลาจริง อีกทั้งบริษัทยังอยู่ในระหว่างการขยายทีมติดตามหนี้ของบริษัทเองเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตอีกด้วย อนึ่ง แม้ว่าบริษัทจะมีความเสี่ยงที่คุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มลูกค้าจะอ่อนแอลง แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่านโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตที่รัดกุมและเครื่องมือในการอนุมัติสินเชื่อที่แม่นยำจะช่วยให้บริษัทรักษาสมดุลระหว่างต้นทุนด้านเครดิตและอัตราดอกเบี้ยที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงด้านเครดิตได้ในอนาคต

เงินทุนและสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทมีเพียงพอจากการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินอย่างต่อเนื่องจาก KB Kookmin Card ในรูปของการค้ำประกันเงินกู้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือจากสถาบันการเงินภายในประเทศอีกหลายแห่งซึ่งสามารถเบิกใช้ได้ทันทีอีกด้วย ทั้งนี้ เงินกู้จากธนาคารพร้อมทั้งสินเชื่อเพิ่มเติมที่ค้ำประกันโดย KB Kookmin Bank นั้นน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการด้านเงินทุนและสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนที่จำกัดและระยะเวลาของสินทรัพย์และหนี้สินที่ไม่สอดคล้องกันของบริษัท ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 เงินกู้ยืมระยะสั้นของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 63% ของหนี้สินรวมของบริษัท ในขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลและสินเชื่อบ้านเพื่อเงินสด (Home for Cash) ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะยาว

ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงมีแรงกดดันจากคุณภาพสินทรัพย์และการแข่งขันที่เข้มข้น

การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาทำให้เศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัวและผู้บริโภคเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยสะท้อนได้จากปริมาณยอดคงค้างที่เพิ่มขึ้นถึง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 6.01 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจากความต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอ่อนแอลงเล็กน้อย โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันในกลุ่มสถาบันการเงินและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินซึ่งรายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 จาก 3.1% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าคุณภาพสินทรัพย์ของทั้งระบบยังคงมีความเปราะบางและมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากสภาพการแข่งขัน รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอยู่ต่อไป ในขณะที่การกระจายตัวไปยังธุรกิจอื่น ๆ เพื่อลดแรงกดดันในการสร้างรายได้ยังคงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเช่นเดิม

?

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้

? ยอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับประมาณ 15%-20% ต่อปี

? ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 15%-16%

? อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%

? ต้นทุนด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 8%-9%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ตลอดจนผลการดำเนินงานทางการเงิน และระดับภาระหนี้เอาไว้ได้ในขณะที่ยังรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์และฐานทุนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะฐานทุนและภาระหนี้ของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญโดยมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 15%

นอกจากนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงหากสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KB Kookmin Card เปลี่ยนแปลงไป

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563

บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด (KBJ)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ