เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาออนไลน์เรื่อง ?มุมมองเศรษฐกิจและภาวะอุตสาหกรรมหลัก ปี 2566? โดยนายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ พร้อมทั้งทีมผู้บริหารสายงานจัดอันดับเครดิตและสายงานวิจัยได้ร่วมกันสะท้อนมุมมองแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ ของไทยในปี 2566 การสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ร่วมสัมมนากว่า 100 รายซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานสำคัญ ๆ ในตลาดตราสารหนี้ไทยซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ นักลงทุนสถาบัน สหกรณ์ออมทรัพย์ ตลอดจนผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ (Underwriter) และผู้จัดการตราสารหนี้ (Arranger) ทั้งนี้ สาระสำคัญของการสัมมนามีดังต่อไปนี้
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีทิศทางเป็นบวกท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง
ทริสเรทติ้งมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ 3.5% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากอุตสาหกรรม
การท่องเที่ยว ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนโดยภาพรวมที่ฟื้นตัวกลับมา ทริสเรทติ้งประมาณการว่าปริมาณนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปี 2566 จะอยู่ที่จำนวน 27 ล้านคนซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคลื่นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลจีนได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย ?โควิดเป็นศูนย์? (Zero-COVID Policy) นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าการบริโภคในภาคเอกชนจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากอานิสงส์ของรายได้ที่ดีขึ้นและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การกลับมาของบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกด้วย
แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในปี 2566 แต่ทุกฝ่ายก็ควรตระหนักว่าเศรษฐกิจโลกในเวลานี้อยู่ในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูง ในทุกส่วนของโลกยังคงรู้สึกได้ถึงผลกระทบจากแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นแม้ว่าผลกระทบดังกล่าวจะบรรเทาลงไปมากแล้วก็ตาม ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการค้าโลก ในขณะที่ผลกระทบที่อาจจะทวีความรุนแรงจากการยกระดับความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ในการนี้ ภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่งออกนั้นคงหนีไม่พ้นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยลบนอกประเทศเหล่านี้ได้
ธุรกิจภาคเอกชนมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวในปี 2566
ในการวิเคราะห์แนวโน้มผลการดำเนินงานทางการเงินของหน่วยงานในภาคธุรกิจเอกชน (Corporate Sector) นั้น ทริสเรทติ้งใช้ข้อมูลทางการเงินในอดีตในช่วงระหว่างปี 2562-2564 และประมาณการทางการเงินในอนาคตระหว่างปี 2565-2566 ของผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มธุรกิจเอกชนที่ทริสเรทติ้งให้บริการจัดอันดับเครดิตรวมจำนวนทั้งสิ้น 127 ราย จากข้อมูลดังกล่าว
ทริสเรทติ้งพบว่ากลุ่มธุรกิจในภาคเอกชนซึ่งเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่เกิดขึ้นในปี 2563 นั้นเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2565 โดยผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เริ่มมีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่เติบโตสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
(ดูรายละเอียดในภาพที่ 1) ทริสเรทติ้งมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดังกล่าวน่าจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในปี 2566 แต่จะเติบโตในระดับที่ช้าลง
ภาระหนี้สินต่อกระแสเงินสดจะลดลงในปี 2566 จากการมีกระแสเงินสดที่เพิ่มสูงขึ้น
แนวโน้มที่ลดลงของอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA โดยเฉลี่ยของผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มธุรกิจเอกชนจำนวน 132 รายที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตแสดงให้เห็นว่าภาระหนี้สินต่อกระแสเงินสดมีทิศทางที่จะลดลงเรื่อย ๆ จากที่เคยพุ่งสู่ระดับสูงสุดในปี 2563 อย่างไรก็ตาม แม้ระดับหนี้ของผู้ออกตราสารในกลุ่มนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนขยายธุรกิจตามปกติ แต่กระแสเงินสดที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่จะช่วยลดภาระหนี้สินต่อกระแสเงินสดให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มนี้ได้มากขึ้นในปี 2566 เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA
แนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) เป็นไปในทางบวกเป็นส่วนใหญ่
แนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจ/อุตสาหกรรมในทุกภาคส่วนที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มอันดับเครดิตในปี 2566 ก็จะเป็นไปในทางบวกเป็นส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยทริสเรทติ้งมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้จำนวน 18 รายและปรับลดอันดับเครดิตจำนวน 13 รายในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2564 ที่ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตเพียง 13 รายและปรับลดอันดับเครดิตถึง 24 ราย ซึ่งจำนวนผู้ออกตราสารที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตที่มีสูงขึ้นและที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 นั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มทางธุรกิจที่ดีขึ้นในอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนอันเนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
การออกตราสารหนี้บริษัทเอกชนที่สูงเป็นประวัติการณ์ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ
ปริมาณการออกตราสารหนี้บริษัทเอกชนในตลาดตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1.24 ล้านล้านบาทในปี 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตลาดตราสารหนี้ไทยมีสภาพคล่องที่สูงและนักลงทุนก็มีความสนใจลงทุน โดยสถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากตลาดตราสารหนี้ในต่างประเทศที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อความสนใจของนักลงทุนสถาบันบางราย ความต้องการจากนักลงทุนในกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์และนักลงทุนรายย่อยยังคงมีอยู่ระดับสูง การระดมทุนจากประชาชนทั่วไปมีแนวโน้มมากขึ้นซึ่งช่วยให้ผู้ออกตราสารสามารถขยายการจำหน่ายตราสารหนี้ไปยังกลุ่มนักลงทุนรายย่อยได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทริสเรทติ้งมองว่าความสนใจของธุรกิจภาคเอกชนในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศน่าจะยังคงมีอยู่ระดับสูงต่อไปในปี 2566 ในขณะที่ความต้องการในการลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ฟื้นตัวและการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนรายย่อยโดยผ่านการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปนั้นสะท้อนให้เห็นว่าตลาดตราสารหนี้เงินบาทน่าจะยังคงมีสภาพคล่องที่สูงตลอดทั้งปี 2566
จากการที่แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงและความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มสภาพคล่องตึงตัวที่ผ่อนคลายลง อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วของตราสารหนี้ (Coupon Rate) ในตลาดตราสารหนี้ไทยก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงจากระดับสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 และเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากแล้ว ดอกเบี้ยเงินบาทไทยกลับเพิ่มขึ้นไม่มาก ในขณะที่ส่วนต่างของผลตอบแทนของหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ (Credit Spread) โดยเฉลี่ยที่อันดับเครดิตระดับต่าง ๆ ปรากฏว่าเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในปี 2565
ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Yield) ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury) กับพันธบัตรรัฐบาลไทย (Thai Government Bond) ที่อายุ 10 ปีเท่ากันที่เริ่มขยายถ่างกว้างขึ้นตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นั้นบ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของการระดมทุนในตราสารเงินบาทและสภาพคล่องของตราสารดังกล่าว ด้วยสถานการณ์แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องในประเทศสหรัฐอเมริกา อัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงตลอดปี 2566 ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินบาทจะยังคงค่อนข้างมีเสถียรภาพต่อไปในปี 2566 แม้ว่าอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อยในระหว่างปีก็ตาม อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูต่อไปว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทดังกล่าวจะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานเพียงใดซึ่งส่วนหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเงินของประเทศ