ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB? และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นจากอัตราค่าโดยสารใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมโดยได้รับการอนุมัติจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และการฟื้นตัวของปริมาณการขนส่งที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะมั่นคงของธุรกิจเดินเรือเฟอร์รี่ของบริษัทในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและระดับหนี้สินของบริษัทที่สูงแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสภาพคล่องของบริษัทที่ตึงตัว ธุรกิจของบริษัทมีขนาดเล็กและมีพื้นที่การเดินเรือที่กระจุกตัว
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ปริมาณการเดินทางคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง
ปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งยานพาหนะของบริษัทเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปี 2565 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ลดความรุนแรงลงและภาครัฐทยอยผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เป็นผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนในปี 2565 จาก 4 แสนคนในปี 2564 โดยปริมาณผู้โดยสารของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 490,000 คน หรืออยู่ที่ประมาณ 55% ของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในขณะที่ปริมาณการขนส่งยานพาหนะเพิ่มขึ้น 12% เป็น 340,000 คัน หรืออยู่ที่ประมาณ 67% ของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อนเป็น 390 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 หรือคิดเป็นประมาณ 71% ของช่วงปี 2562
ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการเดินทางผ่านทางเรือเฟอร์รี่ของบริษัทจะฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2566 และจะกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2567 โดยคาดว่าการฟื้นตัวจะสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกาะสมุยและเกาะพะงัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นและการเปิดประเทศของประเทศจีนในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้สมมติฐานกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 36% ในปี 2566 28% ในปี 2567 และ 5% ในปี 2568 และปริมาณการขนส่งยานพาหนะจะเพิ่มขึ้น 12% ในปี 2566 25% ในปี 2567 และ 5% ในปี 2568 และยังคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 530-900 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2568 อีกด้วย
คาดว่าความสามารถในการทำกำไรจะปรับตัวดีขึ้นจากอัตราค่าโดยสารที่สูงขึ้น
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนแต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าปริมาณการขนส่งจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นก็ตาม โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นเป็น 7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จาก 3% ในปี 2564 ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับ 17%-20% ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงไปยังลูกค้าผ่านการปรับราคาค่าโดยสารซึ่งการปรับราคาจะอ้างอิงตามราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ณ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลในปี 2565 เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับอัตราค่าโดยสารสูงสุดในตารางอัตราค่าโดยสารเดิมสำหรับเส้นทางดอนสัก-เกาะสมุย ทำให้บริษัทไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังลูกค้าได้อย่างเต็มที่
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นจากอัตราค่าโดยสารใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 โดยในช่วงกลางปี 2565 จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้อนุมัติอัตราค่าโดยสารใหม่ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 15%-25% จากอัตราค่าโดยสารเดิมซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2551 และตารางอัตราค่าโดยสารใหม่มีกลไกในการปรับค่าโดยสารอ้างอิงตามราคาน้ำมันดีเซลเช่นเดิม อีกทั้งตารางอัตราค่าโดยสารใหม่ยังครอบคลุมถึงราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นกว่าเดิมด้วย ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีฐานของทริสเรทติ้ง อัตรากำไรของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ 19%-20% ในปี 2566-2568 จากอัตราค่าโดยสารใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิมและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของปริมาณการขนส่ง และ EBITDA คาดว่าจะอยู่ที่ 150-180 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568
สถานะทางการตลาดที่มั่นคงในธุรกิจเดินเรือเฟอร์รี่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
บริษัทเป็นผู้ให้บริการเรือเฟอร์รี่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีคู่แข่งจำนวนน้อยรายโดยในบริเวณท่าเรือดอนสักมีผู้ให้บริการเดินเรือเฟอร์รี่เพียง 2 รายเท่านั้น ในขณะเดียวกัน อุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจนี้ก็อยู่ในระดับสูงเนื่องจากผู้ให้บริการจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตก่อน อีกทั้งที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือใหม่ก็มีราคาที่สูงมาก ปัจจุบันบริษัทมีเรือเฟอร์รี่ทั้งหมดรวม 14 ลำและบริษัทยังเป็นเจ้าของท่าเรือสากลถึง 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือดอนสักและท่าเรือเกาะสมุย การมีขนาดกองเรือที่ใหญ่และความสามารถในการควบคุมการขึ้นและลงเรือส่งผลให้บริษัทสามารถบริหารการเดินเรือได้อย่างยืดหยุ่นและมีจำนวนรอบการให้บริการที่มากกว่าคู่แข่ง บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่จากท่าเรือดอนสักสู่เกาะพะลวยซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะสมุย เพื่อเน้นย้ำกลยุทธ์ Island Gateway โดยปัจจุบันการก่อสร้างท่าเรือบนเกาะพะลวยใกล้จะแล้วเสร็จและคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566
?
ธุรกิจมีขนาดเล็กและมีการกระจุกตัวของพื้นที่
ธุรกิจของบริษัทจัดว่ามีขนาดเล็กซึ่งสะท้อนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่จำกัดและความสามารถในการแบกรับภาระหนี้ที่ค่อนข้างต่ำ ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 700-750 ล้านบาทต่อปีและมี EBITDA ประมาณ 130-140 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเกาะสมุยเป็นอย่างมาก ขนาดของตลาดที่เล็กและแหล่งรายได้ที่ไม่กระจายตัวส่งผลทำให้บริษัทมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านลบของสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ดำเนินธุรกิจของบริษัทและเป็นปัจจัยจำกัดโอกาสในการเติบโตในระยะยาวของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทพยายามเพิ่มแหล่งรายได้โดยการเปิดเส้นใหม่ไปยังเกาะพะลวยและการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างแผ่นดินใหญ่และเกาะสมุย ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะช่วยให้บริษัทมีฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้นและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทมีความเสี่ยงในกรณีที่หากมีการขนส่งที่ใช้เวลาน้อยกว่าและต้นทุนต่ำกว่าไปยังเกาะสมุยมาทดแทนการขนส่งทางเรือเฟอร์รี่อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมากเนื่องจากบริษัทพึ่งพารายได้จากเส้นทางดอกสัก-เกาะสมุยคิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้รวม
มีภาระหนี้สูงแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่อ่อนตัวลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 420 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2565 จาก 110 ล้านบาทในปี 2562 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ยังอยู่ในระดับสูงที่ 14 เท่า ณ เดือนกันยายน 2565
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนภาระหนี้สินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2566-2568 จากการที่ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น โดยสมมติฐานกรณีฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีงบลงทุนรวม 340 ล้านบาทในช่วงปี 2566-2568 ซึ่งจะถูกใช้เพื่อซ่อมบำรุงเรือ ก่อสร้างท่าเทียบเรือบนเกาะพะลวย และจัดหาเรือมือสองสำหรับให้บริการเส้นทาง ดอนสัก-เกาะพะลวย หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วคาดว่าจะอยู่ที่ 400-500 ล้านบาทในปี 2566-2568 และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะปรับตัวลดลงไปอยู่ในช่วง 3-4 เท่าในช่วงปี 2566-2568
ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีหนี้สินรวม 384 ล้านบาท โดยภาระหนี้เกือบทั้งหมดเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 96% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ 50% ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
สภาพคล่องตึงตัว
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีแหล่งที่มาของสภาพคล่องประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 44 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 120 ล้านบาทในปี 2566 รวมถึงมีวงเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 59 ล้านบาท ในขณะที่แหล่งใช้ไปของสภาพคล่องประกอบด้วยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดรวมประมาณ 90 ล้านบาทและการลงทุนของบริษัทจำนวน 170 ล้านบาทในปี 2566 โดยทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจำเป็นจะต้องกู้ยืมเพิ่มเติมหรือเพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการลงทุนตามแผนของบริษัท โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อนุมัติแผนเพิ่มทุนเพื่อสนับสนุนแผนการลงทุนไปเมื่อปี 2565
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? บริษัทจะมีรายได้ 530 ล้านบาทในปี 2565 ประมาณ 760 ล้านบาทในปี 2566 และ 860-900 ล้านบาทต่อปีในปี 2567-2568
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ประมาณ 8% ในปี 2565 เพิ่มเป็น 19%-20% ในปี 2566-2568
? เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 340 ล้านบาทในช่วงปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานและสถานะการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกาะสมุยและเกาะพะงัน และคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเดินเรือเฟอร์รี่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง และ/หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่สูงกว่า 5 เท่าเป็นเวลานาน หรือในกรณีที่สภาพคล่องของบริษัทถดถอยลงกว่าที่คาดอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานงานที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่มากขึ้น ในขณะที่รักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
?
บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) (RP)
อันดับเครดิตองค์กร: BB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable