ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มาอยู่ที่ระดับ ?A-? จากระดับ ?BBB+? จากการที่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมาอยู่ที่ระดับ ?A-/Stable? จากระดับ ?BBB+/Positive?เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566
ทริสเรทติ้งยังคงพิจารณาอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) ที่ระดับ ?a? โดยอันดับเครดิตของบริษัทมีกรอบจำกัดไม่เกินไปกว่าอันดับเครดิตของบริษัททีพีไอ โพลีนที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ?A-/Stable? การจำกัดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการพิจารณาสถานะของบริษัทว่าเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททีพีไอ โพลีน รวมถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบริษัทแม่ ตลอดจนการเชื่อมโยงทางธุรกิจในระดับสูงของทั้งสองบริษัท
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงของบริษัทซึ่งได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements -- PPA) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านเชื้อเพลิงของบริษัท และต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงจากโครงการทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากการทยอยหมดอายุของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และความเสี่ยงจากการลงทุนใน ?โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ? (Special Economic Zone -- SEZ)
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
อันดับเครดิตถูกจำกัดจากอันดับเครดิตของบริษัททีพีไอ โพลีน
ทริสเรทติ้งพิจารณาอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทที่ระดับ ?a? ซึ่งสะท้อนถึงสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าบริษัททีพีไอ โพลีน โดยกระแสเงินสดที่มีความแน่นอนของบริษัทจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัททีพีไอ โพลีน
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททีพีไอ โพลีนต่อไปในอนาคตเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบริษัทแม่ การเชื่อมโยงทางธุรกิจในระดับสูงของทั้งสองบริษัท และสัดส่วนผลกำไรของบริษัทที่มีต่อกลุ่มบริษัทในระดับที่มีนัยสำคัญ
ปัจจุบันบริษัททีพีไอ โพลีนถือหุ้น 70.24% ในบริษัท การเชื่อมโยงในด้านการปฏิบัติการระหว่างกันนั้นส่งผลให้บริษัทได้รับความเสี่ยงจากธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัททีพีไอ โพลีนซึ่งมีความผันผวนสูง เนื่องจากบริษัททีพีไอ โพลีนเป็นทั้งผู้รับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทและเป็นผู้จำหน่ายพลังงานความร้อนทิ้งให้แก่บริษัท ดังนั้น หากการดำเนินงานของโรงผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัททีพีไอ โพลีนมีการหยุดชะงักก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าและปริมาณความร้อนทิ้ง รวมถึงการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทด้วยเช่นกัน
กำไรของบริษัทมีสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อกลุ่ม รวมไปถึงการมีบทบาทเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญในการผลักดันกลุ่มบริษัทไปสู่การเป็นองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 30%-60% ของบริษัท ทีพีไอ โพลีนในระหว่างปี 2563-2565 นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นแกนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังเป็นบริษัทหลักที่ลงทุนในการพัฒนาโครงการ SEZ อีกด้วย
กระแสเงินสดที่แน่นอน
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงของบริษัทนั้นเป็นผลจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. (อันดับเครดิต ?AAA/Stable?) รวมทั้งสิ้น 163 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้รับซื้อไฟฟ้าที่มีความน่าเชื่อถือนั้นมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์และการชำระเงิน ขณะที่ Adder จำนวน 3.50 บาทต่อหน่วยเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าฐานเป็นระยะเวลา 7 ปีก็ช่วยเพิ่มความสำเร็จของโครงการด้วยเช่นกัน
กระแสเงินสดของบริษัทยังเป็นผลจากการดำเนินงานที่มั่นคงของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงขยะชุมชน (Municipal Solid Waste-Derived Fuel) ของบริษัท ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ยังคงมีผลการดำเนินงานในระดับดี บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานในระยะยาวจะยังเป็นที่น่าพอใจ
มีต้นทุนเชื้อเพลิงที่แข่งขันได้
บริษัทมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนขยะชุมชนและความร้อนทิ้งที่มีราคาถูก โดยเชื้อเพลิงขยะชุมชนนั้นมีราคาต่ำเพราะมีที่มาจากขยะฝังกลบ ในขณะที่ความร้อนทิ้งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์นั้นก็ถือเป็นข้อได้เปรียบเฉพาะตัวในการแข่งขันของบริษัทเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัททีพีไอ โพลีน อย่างไรก็ตาม ปริมาณความร้อนทิ้งก็มีความไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัททีพีไอ โพลีนด้วยเช่นกัน
การลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องและการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า
บริษัทพยายามลดต้นทุนการดำเนินงานด้วยมาตรการต่าง ๆ โดยวางแผนจะทดแทนการใช้ถ่านหินทั้งหมดในโรงไฟฟ้า TG7 ขนาด 70 เมกะวัตต์ และ TG8 ขนาด 150 เมกะวัตต์ด้วยเชื้อเพลิงขยะชุมชนเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นบริษัทที่ปลอดถ่านหินภายในปี 2568 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นเนื่องจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงขยะชุมชนมีความสัมพันธ์กับเชื้อเพลิงทั่วโลกในระดับที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงถ่านหิน นอกจากโครงการทดแทนถ่านหินแล้ว บริษัทกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาด 61 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังลมขนาด 5 เมกะวัตต์เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัททีพีไอ โพลีน โดยทั้งสองโครงการใหม่นี้มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567
กำไรจะปรับตัวดีขึ้นแม้ Adder จะหมดอายุลง
EBITDA ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.9 พันล้านบาทในปี 2565 จากการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงขยะชุมชน TG3 และ TG5 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน TG8 หลังราคาถ่านหินปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า TG7 ก็ยังอยู่ในช่วงปรับปรุงตามโครงการทดแทนถ่านหินโดยคาดว่าจะกลับมาเปิดดำเนินงานและจ่ายไฟฟ้าให้กับบริษัททีพีไอ โพลีนได้ในภายในเดือนเมษายน 2566
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากปรับปรุงโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ แผนการทดแทนถ่านหินของโรงไฟฟ้า TG7 และ TG8 ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงแต่ยังช่วยเพิ่มรายได้ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดตามมา ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัททีพีไอ โพลีนมีความต้องการไฟฟ้าจำนวนประมาณ 1,200 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) โดยประมาณ 35% นั้นมาจากการซื้อไฟฟ้าจากบริษัทและอีก 65% มาจากการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เนื่องจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ จึงคาดว่าบริษัททีพีไอ โพลีนจะซื้อไฟฟ้าจากบริษัทมากขึ้นและลดการซื้อไฟฟ้าจากกฟภ. ลงเพื่อลดต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป โดยโรงไฟฟ้า TG8 นั้นน่าจะสามารถใช้เชื้อเพลิงขยะชุมชนได้ 100% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณไฟฟ้าที่จะผลิตเพิ่มมากขึ้นจากโรงไฟฟ้า TG7 และ TG8 รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลมแห่งใหม่ของบริษัทจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทปีละประมาณ 3.5 พันล้านบาทหลังจากที่โรงไฟฟ้าทุกแห่งดังกล่าวเดินเครื่องเต็มที่แล้วในปี 2569 ซึ่งรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นนี้น่าจะช่วยชดเชยรายได้และกำไรที่ลดลงของโรงไฟฟ้า TG4 และ TG5 จาก Adder ที่จะหมดอายุในปี 2568
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 530 เมกะวัตต์ในปี 2568 จาก 440 เมกะวัตต์ในปัจจุบันซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาโครงการที่มีอยู่แล้ว และจะทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,600 ล้านหน่วยจากที่ต่ำกว่า 2,000 ล้านหน่วย ส่งผลให้รายได้จาการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2568 ด้วย EBITDA Margin ที่น่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 40% ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 4-4.5 พันล้านบาทในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 5.4-5.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2568 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้และผลประโยชน์อันเนื่องมาจากโครงการทดแทนถ่านหิน
โครงการ SEZ ถูกชะลอ
บริษัทได้เตรียมการลงทุนขนาดใหญ่ในการพัฒนาโครงการ SEZ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Seaboard) โดยโครงการดังกล่าวจะประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรม หากโครงการ SEZ เกิดขึ้นได้ คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นและยั่งยืนอยู่ได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม โครงการ SEZ ถูกสั่งให้หยุดดำเนินการไว้ก่อน เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) หลังจากเผชิญกับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้อยู่อาศัยในอำเภอจะนะ ซึ่งอาจทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุน เนื่องจากบริษัทได้ซื้อที่ดินในอำเภอจะนะไปแล้วรวมมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทยังเชื่อมั่นว่าโครงการจะยังต้องดำเนินต่อไปเนื่องจากเป็นโครงการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศและได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
หนี้สินจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการลงทุนตามแผนทดแทนการใช้ถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม EBITDA ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจะช่วยรองรับการลงทุนและทำให้หนี้สินของบริษัทยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA คาดว่าจะอยู่ในระดับ 4-5 เท่าในช่วงปี 2566-2568 ขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่ในช่วง 15%-20% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 40% ตลอดช่วงประมาณการ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 6-8 พันล้านต่อปีในช่วงปี 2566-2567 และประมาณ 2.5 พันล้านบาทในปี 2568 โดยรายจ่ายดังกล่าวได้รวมโอกาสในการเข้าลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ จากการประกาศรับซื้อที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้
มีการพึ่งพาเงินทุนจากหุ้นกู้ในระดับสูง
ณ สิ้นปี 2565 หนี้รวมของบริษัทไม่รวมสัญญาเช่าการเงินมีจำนวน 1.62 หมื่นล้านบาทซึ่งทั้งหมดเป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ บริษัทน่าจะยังใช้หุ้นกู้เป็นแหล่งเงินทุนหลักซึ่งทำให้ความสามารถในการรีไฟแนนซ์ของบริษัทจะยังคงขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดตราสารหนี้ต่อไป
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะบริหารสภาพคล่องได้อย่างเพียงพอ โดยเมื่อพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่มั่นคงและประวัติการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ของบริษัทแล้วบริษัทก็น่าจะสามารถออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 3 พันล้านบาทได้ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 แหล่งที่มาของเงินทุน ได้แก่ เงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 2.7 พันล้านบาท รวมถึงเงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 3.3 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 0.53 เท่า ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งต่ำกว่าอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ที่ 1.75 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงประมาณการ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,600 ล้านหน่วยในปี 2568
? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ที่ระดับ 1-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2568
? EBITDA Margin จะอยู่ในระดับสูงกว่า 40% ในระหว่างปี 2566-2568
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับ 6-8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2567 และลดลงเป็นประมาณ 2.5 พันล้านบาทในปี 2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ของบริษัทสะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัททีพีไอ โพลีน โดยสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัททีพีไอ โพลีนนั้นน่าจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจโดยกระแสเงินสดที่ปรับตัวดีขึ้นจะช่วยชดเชยกำไรที่ลดลงหลังจาก Adder หมดอายุได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัทนั้นจะเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัททีพีไอ โพลีนเป็นหลัก
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทนั้นมีจำกัดในระยะสั้น ในทางกลับกัน การปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือหากบริษัทมีการลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งส่งผลทำให้สถานะทางการเงินรวมของกลุ่มถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (TPIPP)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
TPIPP23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566
TPIPP247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
TPIPP262A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,523.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
TPIPP267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
TPIPP278A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,695 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-
TPIPP281A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable