ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่เป็นที่ยอมรับของบริษัทในงานก่อสร้างโครงการอาคารสูง ตลอดจนผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตได้ในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงบางส่วนจากมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนธรรมชาติที่ผันผวนและมีการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทในระยะสั้นถึงระยะปานกลางอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลงานเป็นที่ยอมรับและมีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ
สถานะทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงผลงานที่เข้มแข็งในงานก่อสร้างอาคารสูงในภาคธุรกิจหลาย ๆ กลุ่ม อาทิ อาคารที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ โรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีลูกค้ารายใหญ่เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงซึ่งส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้ว่าในช่วงที่ตลาดคอนโดมิเนียมชะลอตัว บริษัทก็ยังสามารถรักษาระดับรายได้ให้อยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 4.0-4.5 พันล้านบาทต่อปีเอาไว้ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่องจากลูกค้าเก่าหลาย ๆ รายอีกด้วย
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างสม่ำเสมอในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยบริษัทมีรายได้อยู่ในช่วง 4.0-4.5 พันล้านบาทต่อปีและมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับประมาณ 8%-13% ตลอดช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 4.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและดีกว่าประมาณการของทริสเรทติ้ง อีกทั้ง EBITDA Margin ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.1% จาก 10.1% ในปี 2564 ซึ่งทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้นถึง 59% มาอยู่ที่ระดับ 493 ล้านบาท
การขยายสู่การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยจะช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้
บริษัทมีความพยายามที่จะขยายงานสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยให้ทั้งรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นในระยะยาว ซึ่งรายได้จากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 748 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จาก 489 ล้านบาทในปี 2564
บริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโดยผ่านบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นเต็ม 100% คือ บริษัท พรีบิลท์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และยังพัฒนาโครงการผ่านกิจการร่วมค้าที่ร่วมทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งรายได้จากกิจการร่วมค้ายังคงมีน้อยมาก
ปัจจุบันบริษัทมีโครงการบ้านเดี่ยวที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวน 3 โครงการภายใต้แบรนด์ ?พรรณนา? และ ?พิมนารา? คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 2.6 พันล้านบาท บริษัทยังมีโครงการทาวน์เฮ้าส์ภายใต้แบรนด์ ?พรี วิลเลจ? อีก 1 โครงการซึ่งมีมูลค่า 0.7 พันล้านบาทอีกด้วย ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นั้นบริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวใหม่อีก 2 โครงการซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.3-1.4 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินอีก 2 แปลงในบริเวณถนนสุขุมวิท 24 และถนนสุขุมวิท 26 มูลค่าประมาณ 1.1 พันล้านบาทที่จะใช้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการต้องชะลอออกไปเนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีคอนโดมิเนียมเหลือขายเป็นจำนวนมากและความต้องการคอนโดมิเนียมก็ลดน้อยลง
ในอนาคตบริษัทวางแผนจะเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ๆ ที่มูลค่า 1.2-1.5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มจากระดับ 870 ล้านบาทในปี 2565 ไปจนถึงระดับมากกว่า 1 พันล้านบาทในปี 2567 ถึงแม้ว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มากขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้และอัตรากำไรให้แก่บริษัท แต่ภาระหนี้ของบริษัทก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาสมดุลของผลตอบแทนและเงินลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ระดับของอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับปัจจุบันมากนัก
มูลค่างานในมือเหลือน้อย
บริษัทมีมูลค่างานในมือที่รอส่งมอบ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 จำนวน 4.7 พันล้านบาท โดยลดลงจากระดับประมาณ 7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อและการชะลอตัวของตลาดคอนโดมิเนียมทำให้ผู้พัฒนาโครงการส่วนใหญ่ต้องเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป ซึ่งทำให้บริษัทได้รับสัญญางานก่อสร้างใหม่ที่มีมูลค่าเพียง 1.6 พันล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญางานใหม่ที่มูลค่า 2.5-4.5 พันล้านบาทต่อปีในอดีต อย่างไรก็ตาม การคลี่คลายของสถานการณ์โรคโควิด 19 และการกลับมาเปิดรับการลงทุนและการค้าจากภายนอกของหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนนั้นก็ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จดทะเบียนหลายรายเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ดังนั้น บริษัทจึงคาดว่ามูลค่าของสัญญางานใหม่จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ประมาณ 3.5-4.0 พันล้านบาทต่อปีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
จากประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้ารายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3.5-4.0 พันล้านบาทต่อปี โดยมูลค่างานในมือที่รอส่งมอบจะช่วยรักษาระดับรายได้จากงานก่อสร้างในช่วงเวลาหลายปีข้างหน้า โดยคิดเป็นสัดส่วน 80% ในปี 2566 และ 30% ในปี 2567 ส่วนรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ระดับ 870 ล้านบาทจนถึง1 พันล้านบาทต่อปี และรายได้จากการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างจะอยู่ที่ระดับ 500-550 ล้านบาทต่อปี โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้โดยรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 5.1-5.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567 แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับ EBITDA Margin ให้อยู่ที่ระดับ 10%-11% เอาไว้ได้ โดยคาดว่า EBITDA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 530-570 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะอยู่ในช่วง 380-400 ล้านบาทต่อปีในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
คาดว่าภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัท (รวมภาระหนี้จากกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนการลงทุน) จะอยู่ในช่วงประมาณ 30%-35% ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าว ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 34.2% ซึ่งเพิ่มจาก 26.7% ในปี 2564 เนื่องจากบริษัทมีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในปี 2565 จากแผนธุรกิจ 3 ปีนั้น บริษัทวางแผนจะเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ที่มูลค่าประมาณ 1.2-1.5 พันล้านบาทต่อปีและตั้งงบประมาณในการซื้อที่ดินไว้ที่ 500 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5-3.0 เท่าในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ในช่วง 25%-30% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนภาระหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้เกิน 2.5 เท่าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญของเงินกู้ที่มีกับธนาคาร ซึ่งบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.5 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินดังกล่าวได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้สินทั้งสิ้นอยู่ที่จำนวน 1.7 พันล้านบาท โดยหนี้เกือบทั้งหมดของบริษัทเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ดังนั้น บริษัทจึงมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 56% และสูงกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งซึ่งอยู่ที่ระดับ 50% ในการนี้ทริสเรทติ้งมองว่าการมีภาระหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอยู่ในระดับสูงนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องของสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
มีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดมูลค่า 701 ล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 350-400 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีแผนใช้เงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมจำนวน 87 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินลงทุนจำนวน 80-100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 300-400 ล้านบาท และใช้ในการจ่ายเงินปันผลอีกจำนวนประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งโดยรวมแล้วบริษัทมีแหล่งเงินทุนที่น่าจะเพียงพอรองรับแผนการใช้เงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? จะได้สัญญางานรับเหมาก่อสร้างใหม่ที่มูลค่า 3.5-4.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2567
? รายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 5.1-5.4 พันล้านบาทต่อปี
? รายได้จากการจำหน่ายโครงการที่อยู่อาศัยจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากระดับ 870 ล้านบาทในปี 2565 เป็นระดับ 1 พันล้านบาทในปี 2567
? รายได้จากการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างจะอยู่ในช่วง 500-550 ล้านบาทต่อปี
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 10%-11%
? งบประมาณซื้อที่ดินจะอยู่ที่จำนวน 500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเอาไว้ได้ อีกทั้งบริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานและภาระหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ด้วยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ระดับไม่เกิน 3.5 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ระดับ 30%-35% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม หากบริษัทสามารถปรับเพิ่มรายได้และสามารถทำกำไรให้สูงขึ้นจากระดับปัจจุบันได้อย่างมีนัยสำคัญในขณะที่ยังคงรักษาภาระหนี้ให้อยู่ในระดับปัจจุบันได้ก็อาจมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตต่อไป ในทางกลับกัน อันดับเครดิต/และหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่ประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือหากบริษัทมีการลงทุนจำนวนมากในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ในระดับเกินกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
?
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท พลีบิลท์ จำกัด (มหาชน) (PREB)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable