ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงแนวโน้มการเติบโตในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของธุรกิจอาหารสัตว์น้ำจากการปรับปรุงประสิทธิภาพภายในของบริษัท และผลการดำเนินงานที่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์และผู้แปรรูปอาหารทะเลขนาดกลางในประเทศไทย รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และการมีตลาดที่ครอบคลุมหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งที่มีความแปรปรวน ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
โครงสร้างเงินทุนแข็งแกร่งขึ้น
ในเดือนพฤศจิกายน 2565 บริษัท เอเชี่ยนอะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำเงินประมาณ 45% ของเงินเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าวไปชำระคืนหนี้เดิม และส่วนที่เหลือจะใช้ในการขยายงานและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีสถานะปลอดหนี้ โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (Net debt to EBITDA Ratio) ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระดับ 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2564 เมื่อรวมการเพิ่มทุนในครั้งนี้และค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนประมาณ 730 ล้านบาท ถึง 1.4 พันล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในระหว่างปี 2566-2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ
อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง
จากรายงานของฟรอส์ท แอนด์ซัลลิวัน แสดงให้เห็นว่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 5.5%-5.8% ในช่วงปี 2559-2564 ซึ่งเกิดจากการเติบโตของพฤติกรรมการเลี้ยงของเจ้าของที่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูกหรือเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) และประชากรสุนัขและแมวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปริมาณการขายอาหารสัตว์เลี้ยงของบริษัทเติบโตสูงขึ้นถึง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 30,445 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะขยายกำลังการผลิตต่อปีให้เป็น 81,750 ตัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 จาก 48,000 ตันในปี 2565 เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์อาหารสัตว์เลี้ยงที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทวางกลยุทธ์ที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่มากกว่าปีละ 200 ชิ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าในหลากหลายภูมิภาค พร้อมทั้งสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง
ในอนาคต คาดว่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจะเติบโต 5%-7% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2569 ทริสเรทติ้งคาดว่าการเติบโตในธุรกิจอาหารสัตว์ของบริษัทจะเติบโต 4%-6% ต่อปีในระหว่างปี 2566-2567
มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม
ปัจจุบันบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ระดับ 10%-20% ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10% ในช่วงปี 2564 ถึงปี 2565 บริษัทมียอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 80% ของรายได้รวมในหมวดอาหารทะเลแช่แข็ง โดยเพิ่มขึ้นจาก 69% ในปี 2564 ในอนาคต บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มอัตรากำไรและลดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในหมวดอาหารทะเลแช่แข็งลง
ผลการดำเนินงานที่ยอมรับได้
ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2565 อันเนื่องมาจากการเติบโตของอุปสงค์ในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็ง โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเติบโต 18% เมื่อเทียบกับปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 1.13 หมื่นล้านบาท
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 18.2% ในปี 2565 ลดลงจากระดับ 19.8% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีสาเหตุมาจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงที่ลดลง ทั้งนี้ บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 1,034 ล้านบาทในปี 2565 ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะปรับตัวลดลงเป็น 4%-7% ต่อปีในปี 2566-2567 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 16%-17% ต่อปีในช่วงปี 2566-2567
?
ภาระหนี้จะปรับตัวลดลง
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ณ สิ้นปี 2565 จากเดิมที่อยู่ในระดับประมาณ 35.3% ณ สิ้นปี 2564 หลังจากบริษัท เอเชี่ยนอะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดระดมเงินทุนจาก IPO ทั้งนี้ บริษัทวางแผนงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนไว้ทั้งสิ้นที่จำนวน 650 ล้านบาทในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 730 ล้านบาทถึง 1.4 พันล้านบาทในระหว่างปี 2566-2567 อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะได้รับรายได้สุทธิจากการระดมเงินทุนจาก IPO ของบริษัทเอเชี่ยนอะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำนวนประมาณ 3.5 พันล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายการลงทุนดังกล่าวนี้ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อไปได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงระยะดังกล่าวที่จำนวน 378.4 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.0-1.2 พันล้านบาทในระยะ12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 1.9 พันล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้นอีกจำนวน 1.4 พันล้านบาท ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับสูงในช่วงปี 2566-2567 ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับมากกว่า 25 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้รวมของบริษัทจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4% ในปี 2566 และลดลงต่อเนื่อง 7% ในปี 2567
? EBITDA Margin จะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 12%-14% ในช่วงปี 2566-2567
? ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 730 ล้านบาทถึง 1.4 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักทั้ง 2 ประเภทคืออาหารทะเลแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยงเอาไว้ได้ต่อไป ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดหมายด้วยว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมทั้งยังสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ให้ต่ำกว่าระดับ 4 เท่าเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นได้หากบริษัทเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในขณะที่ยังคงรักษางบดุลให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ต่อไป นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมี EBITDA มากกว่า 2 พันล้านบาท พร้อมทั้งมี อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA น้อยกว่า 2 เท่าเป็นระยะเวลานาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่อ่อนแอลงกว่าคาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายธุรกิจซึ่งส่งผลทำให้งบการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและทำให้เงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ถดถอยลงก็จะเป็นปัจจัยในด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ASIAN)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable