ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่งและสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค (Consumer Finance) ของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อยคือ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (SGC) (อันดับเครดิต ?BBB/Stable?) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความสามารถในการรักษาผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทที่สอดคล้องไปกับความคาดหวังของทริสเรทติ้งอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีแรงกดดันจากความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการอุปโภคและบริโภคและสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Auto Title Loan) รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวซึ่งอาจกลายเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการทำกำไรและบั่นทอนคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทได้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ฐานะเงินทุนยังคงแข็งแกร่ง
ฐานทุนของบริษัทยังคงเป็นปัจจัยเสริมสร้างความแข็งแกร่งที่สำคัญสำหรับอันดับเครดิต โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (RAC) อยู่ที่ระดับ 71% ซึ่งเข้มแข็งขึ้นจากระดับ 58% ณ สิ้นปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SGC และเงินเพิ่มทุนจาก บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน)) และโดยการใช้สิทธิตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) จาก บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ ในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งส่งผลทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงเหลือ 0.4 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 จาก 0.6 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยอัตราส่วนดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 3 เท่า
ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงทยอยปรับตัวลดลงอยู่ในช่วง 46%-58% จากความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีสินเชื่อที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในระดับปานกลางในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าและอัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50% อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งซึ่งน่าจะเพียงพอในการสนับสนุนแผนการขยายสินเชื่อของบริษัทได้ในระยะปานกลาง
สถานะทางธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานะทางการตลาดของบริษัทยังคงปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเห็นได้จากการขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่องซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทลูกคือ SGC ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 สินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโตขึ้น 36% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ1.49 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์ในการทำการตลาดเชิงรุกโดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 สัดส่วนสินเชื่อของบริษัทประกอบไปด้วยสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 65% สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ 32% และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อีก 3%
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสินเชื่อของบริษัทจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึงระดับ 20%-27% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยเป็นผลมาจากกลยุทธ์การเติบโตแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Growth) ของบริษัทจากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance Hire Purchase) การเติบโตของสินเชื่อยังคงได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากสินเชื่อที่มีทะเบียนรถในกลุ่มรถบรรทุกเป็นประกันซึ่งขยายไปยังตลาดลูกค้าขนาดเล็กและขนาดกลางที่ยังคงมีอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของบริษัทจะเติบโตถึงระดับ 75% ของยอดสินเชื่อรวมของบริษัทภายในปี 2568
นโยบายการจำหน่ายสินค้าและให้บริการของบริษัทด้วยการเข้าหากลุ่มลูกค้าโดยตรงรวมถึงการขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่บริการน่าจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อรวมของบริษัท โดย ณ สิ้นปี 2565 เครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้นจนถึงจำนวนประมาณ 6,000 รายจากประมาณ 3,000 ราย ณ สิ้นปี 2564
คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลง
ในปี 2565 คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ ซึ่งในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าอาจเป็นผลมาจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วของบริษัทท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ยังส่งผลทำให้ลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (หรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 -- NPL) ที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคู่แข่งโดยตรงของบริษัทเนื่องจากสถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงของลูกค้าเป้าหมาย
บริษัทมีอัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับในปี 2563 ก่อนที่จะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.9% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งรวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของบริษัทนั้นยังอยู่ในระดับค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยมี NPL Ratio อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 เมื่อดูจากลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ส่งผลให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเป็น 2.8% ในปี 2565 จากระดับ 1.7% ในปี 2564
ในระยะเวลาที่ยาวกว่านี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะรักษา NPL Ratio ให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5% การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้นบริษัทจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บหนี้ และเร่งตัดหนี้สูญของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ บริษัทจะต้องเน้นที่ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งเป็นสินเชื่อที่ยังคงมีอัตราการค้างชำระหนี้ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นเพื่อที่จะทำให้คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมแข็งแกร่งขึ้น
จากประมาณการของทริสเรทติ้งที่คาดว่าอัตราการเกิดขึ้นใหม่ของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%-3.3% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 และอัตราการตัดหนี้สูญต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะสูงขึ้นที่ระดับ 1.8%-2% จะทำให้อัตราส่วน NPL Ratio ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับเป้าหมาย ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทอาจต้องเพิ่มอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยขึ้นเล็กน้อยหากบริษัทต้องการจะรักษาอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage) ให้อยู่ที่ระดับเดิมในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับ 2.7%-3% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ในขณะที่ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 นั้น อัตราส่วน NPL Coverage ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 73%
จะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรเอาไว้ได้
ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) นั้นอยู่ที่ระดับ 4.6% ในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับ EBT/ARWA ให้อยู่ที่ประมาณ 4% เอาไว้ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม การที่จะทำสิ่งดังกล่าวได้นั้นบริษัทจะต้องมีการบริหารจัดการส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มีประสิทธิภาพและต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ดี
ในแง่ของกำไรนั้น บริษัทมีกำไรสุทธิเติบโตอยู่ที่ระดับ 941 ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีสาเหตุหลักมาจากยอดสินเชื่อที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ อัตรากำไรขั้นต้นและดอกเบี้ยรับที่ปรับตัวดีขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ อัตราดอกเบี้ยรับโดยรวมในพอร์ตสินเชื่อของบริษัทปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 18% ในปี 2565 จากระดับ 21%-22% ในอดีตภายหลังจากการกระจายธุรกิจสู่การให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยรับน้อยกว่าสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งได้ช่วยสนับสนุนกำไรสุทธิของบริษัทให้มีเสถียรภาพและมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะปานกลาง
ในระหว่างปี 2566-2568 ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทจะเติบโตอย่างช้า ๆ โดยอยู่ภายใต้การคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ารายได้จากการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเติบโตที่ระดับ 10% และสินเชื่อจะเติบโตช้าลงที่ระดับ 20%-27% ต่อปีโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ระมัดระวังมากขึ้นของบริษัทภายหลังจากที่คุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลง บริษัทมีเป้าหมายที่จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ระดับประมาณ 44% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น รวมทั้งนโยบายของบริษัทในการขยายเครือข่ายผ่านตัวแทนจำหน่าย ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราดอกเบี้ยรับโดยรวมในพอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 16% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากระดับปัจจุบันที่ 18% ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการระดมทุนที่ลดลงเนื่องจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าระดับก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) น่าจะช่วยรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ 10% เอาไว้ได้
สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องมีเพียงพอ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ 300% ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 เนื่องมาจากการได้รับเงินเพิ่มทุนในระหว่างปี 2564-2565 รวมทั้งการใช้เงินทุนระยะยาว เงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนรวมทั้งวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินนั้นช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินจากการชำระคืนสินเชื่อของลูกหนี้เข้ามาอีกประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือนอีกด้วย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีเงินสดรวมทั้งเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นและวงเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ที่เพียงพอซึ่งเป็นคิดเป็นมูลค่า 7.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีสัดส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้ชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 1%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
? สินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับ 20%-27% ต่อปี
? ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 10%
? ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะอยู่ในช่วง 2.7%-3% ต่อปี
?
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาสถานะฐานทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ภายหลังจากที่บริษัทได้รับเงินเพิ่มทุนซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทได้ในระยะปานกลาง ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และสร้างผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีต่อไปได้อีกด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตในกรณีที่บริษัทสามารถพัฒนาสถานะทางการตลาดให้ดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพในขณะที่ยังคงสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และรักษาฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงจนกระทั่งทำให้ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้ EBT/ARWA ของบริษัทจะลดต่ำกว่าระดับ 3.5% ต่อเนื่องติดต่อกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable