ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ?BBB+/Stable?) เป็นสำคัญ ซึ่งตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจะเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเจมาร์ท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่มเจมาร์ท
ทริสเรทติ้งพิจารณาเห็นว่าบริษัทเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่มเจมาร์ท (JMART Group) โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทเจมาร์ทถือหุ้นในสัดส่วน 53.4% ของบริษัทและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ในขณะที่คณะกรรมการครึ่งหนึ่งของบริษัทเป็นตัวแทนมาจากกลุ่มเจมาร์ทและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดกับคณะผู้บริหารของบริษัท
บริษัทเจมาร์ทควบคุมทิศทางธุรกิจและเป้าหมายทางการเงินของบริษัทผ่านทางคณะกรรมการบริษัท โดยบริษัทเจมาร์ทแสดงถึงความต้องการที่จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทโดยผ่านการเพิ่มทุนเป็นระยะจากการใช้สิทธิในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทรวมถึงการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน นอกจากนี้ ชื่อเสียงของบริษัทยังมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับชื่อเสียงของบริษัทเจมาร์ทผ่านการใช้ชื่อทางการค้าร่วมกันอีกด้วย
บริษัทมีบทบาทที่สำคัญต่อกลุ่มเจมาร์ท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจด้านการเงินของกลุ่ม บริษัทมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอื่น ๆ ในธุรกิจด้านการเงินของกลุ่มดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในมุมมองทริสเรทติ้งยังเห็นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทมีความแข็งแกร่งและเป็นไปตามความคาดหวังของบริษัทเจมาร์ท ส่วนแผนการขยายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องของบริษัทนั้นก็มีส่วนในการส่งเสริมการเติบโตของสถานะทางการเงินของบริษัทเจมาร์ทด้วยเช่นกัน
มีสัดส่วนสร้างรายได้สุทธิและสินทรัพย์ที่มีนัยสำคัญต่อกลุ่มเจมาร์ท
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นผู้สร้างกำไรสุทธิให้แก่กลุ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ทรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงสถานะในการเป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของบริษัทเจมาร์ท ทั้งนี้ บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 รายได้รวมและกำไรสุทธิของบริษัทมีสัดส่วน 30% และ 64% ของรายได้รวมและกำไรสุทธิรวมของบริษัทเจมาร์ทตามลำดับ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนสินทรัพย์ต่อสินทรัพย์รวมของกลุ่มเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า โดยอยู่ที่ระดับ 61% จาก 32% ในปี 2560 ซึ่งเป็นการยืนยันให้เห็นว่าบริษัทมีความสำคัญต่อกลุ่มเจมาร์ท
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนกำไรและสินทรัพย์ของบริษัทที่มีต่อกลุ่มจะยังคงอยู่ในระดับสูงจากแผนการลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารที่ระดับ 8 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2565 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 49.7% ลดลงจากระดับ 57.1% ในปี 2564 จากการมีรายได้ที่รับรู้จากสินทรัพย์ที่ตัดจำหน่ายต้นทุนครบแล้วที่ลดลง ตลอดจนการชะลอตัวของยอดเก็บเงินสดในไตรมาสที่ 4 และการปรับเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางด้านนิติการในปี 2565
มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำและผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน บริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนานและมีฐานข้อมูลการติดตามหนี้ที่ยาวนานมากกว่า 20 ปีซึ่งมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถรักษาการเติบโตทางธุรกิจและประสิทธิภาพในการดำเนินงานเอาไว้ได้ การเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้นในแง่ของสินทรัพย์รวมเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ โดยอยู่ที่ระดับ 14% ในปี 2565 จากระดับ 6% ในปี 2563 และ 2% ในปี 2562
ในปี 2565 บริษัทมีมูลหนี้คงค้างของหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.61 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นส่วนที่ตัดจำหน่ายต้นทุนครบแล้วจำนวน 5.03 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.99 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ในด้านสินทรัพย์รวมทั้งหมดนั้น บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 20.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนในปี 2565 นั้นบริษัทได้ใช้เงินจำนวนประมาณ 4.6 พันล้านบาทในการลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร ซึ่งต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสินทรัพย์รวมเกิน 5 หมื่นล้านบาทภายในปี 2568 เมื่อพิจารณาจากงบลงทุนในระดับสูงที่จำนวน 8 พันล้านบาทต่อปีสำหรับการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ
ขยายธุรกิจไปยังการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันแต่ยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นในส่วนของหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญแต่ก็จะค่อย ๆ ขยายฐานหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ผลการดำเนินงานของบริษัทจึงน่าจะยังคงมาจากธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันเป็นหลักในระยะปานกลาง บริษัทได้เริ่มขยายไปยังการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเงินลงทุนประมาณ 40% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นมาจากการลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน ถึงแม้ว่าการขยายธุรกิจดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมมูลค่าทางธุรกิจของบริษัทได้ แต่ข้อควรระวังจากการเพิ่มหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันมากยิ่งขึ้นนั้นอาจทำให้การบริหารจัดการยาวนานมากขึ้นกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนเนื่องจากมีกระบวนการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายที่ยาวนานและต้นทุนที่สูงกว่า โดยจะเห็นได้จากเงินสดจัดเก็บที่ได้รับในปีแรกของหนี้ด้อยคุณภาพที่ซื้อมาใหม่นั้นมีสัดส่วนที่ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
บริษัทร่วมทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจะช่วยส่งเสริมกำไรของกลุ่ม
สืบเนื่องจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) และบริษัทจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ขึ้นในปี 2565 ทั้งนี้ JK AMC ได้เริ่มดำเนินธุรกิจในช่วงกลางปี 2565 โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านบาทจากผู้ร่วมทุนทั้งคู่ในจำนวนเท่า ๆ กัน ตั้งแต่ดำเนินงานมา JK AMC ได้ทำการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาบริหารแล้วที่มูลค่า 7 หมื่นล้านบาทจาก KBANK และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทก็ทำได้ดีกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ ทั้งนี้ ในปี 2565 JK AMC ทำกำไรได้ทั้งสิ้นจำนวน 196 ล้านบาทและมีส่วนแบ่งกำไรที่จำนวน 98 ล้านบาท ในปี 2566 ทริสเรทติ้งคาดว่า JK AMC จะมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่อยู่ภายใต้การบริหารที่จำนวนสูงกว่า 1 แสนล้านบาทและจะมีส่วนแบ่งกำไรให้แก่บริษัทในจำนวนที่มากกว่า 200 ล้านบาท
ยอดให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินน่าจะเพิ่มมากขึ้น
การให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของบริษัท กลุ่มลูกค้าหลักที่บริษัทได้รับการว่าจ้างให้ติดตามเร่งรัดหนี้สินประกอบไปด้วยธนาคารพาณิชย์ บริษัทสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจอื่น ๆ บริษัทมีภาระหนี้คงค้างที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามที่ระดับเกินกว่า 3 หมื่นล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจการให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. สิ้นสุดลงในปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้น การผ่อนผันของการจัดชั้นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2566 ก็น่าจะมีส่วนช่วยผลักดันยอดการให้บริการติดตามหนี้ให้เพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต อนึ่ง บริษัทมีรายได้จากค่าบริการติดตามเร่งรัดหนี้สินอยู่ที่ 328 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของรายได้รวมในปี 2565 โดยเพิ่มขึ้นจาก 301 ล้านบาทหรือ 8% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2564
การผสานความร่วมมือกันภายในกลุ่มเจมาร์ทยังคงดำเนินต่อไป
นอกเหนือจากการดำเนินงานในธุรกิจปกติของบริษัทเองแล้ว บริษัทยังมีความร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเจมาร์ทด้วย โดยบริษัทให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินให้แก่บริษัทที่ให้บริการสินเชื่อในกลุ่ม เช่น บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (J-Mobile) รวมทั้ง บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) (อันดับเครดิต ?BBB/Stable?) บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด (KB J Capital) (อันดับเครดิต ?A-/Stable?) และ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J-Ventures) เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีความร่วมมือที่สำคัญกับ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J-Asset) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเจมาร์ทที่ดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย โดย J-Asset ให้การสนับสนุนในการปรับปรุงและจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่รอการขายของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีความร่วมมือกับ KB J Capital ในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ลูกค้าของบริษัท อีกทั้งบริษัทยังมีการประชาสัมพันธ์ในการจำหน่ายสินทรัพย์รอการขายผ่านสาขาร้านค้าร่วมของกลุ่มเจ มาร์ท (Synergy Shop) ด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งตั้งอยู่บนความคาดหมายที่บริษัทจะยังคงดำรงสถานะในการเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่มบริษัทเจมาร์ทต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีสถานะในการเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่มเจมาร์ทและยังคงมีบทบาทสำคัญในการให้ความร่วมมือติดตามและจัดเก็บหนี้ให้แก่บริษัทภายในกลุ่มที่สอดคล้องกับกลยุทธ์โดยรวมของกลุ่มเจมาร์ทอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทมีทิศทางไปตามอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเจมาร์ท ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานะความสำคัญของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเจมาร์ทนั้นลดน้อยถอยลงก็อาจทำให้อันดับเครดิตของบริษัทปรับลดลงได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
?
บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
JMT239B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
JMT249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
JMT25OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,375 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable