เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธนาคาร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 20, 2023 16:46 —ทริส เรตติ้ง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตนี้ เป็นการปรับปรุงวิธีการจัดอันดับเครดิตธนาคาร โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินเงินกองทุนและกำไร โดยเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตนี้ใช้แทน ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธนาคาร? ที่ทริสเรทติ้งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563

ขอบเขตของเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตนี้ใช้สำหรับธนาคาร รวมถึงบริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับเงินฝาก และสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่ออื่นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกับธนาคาร

วิธีการจัดอันดับเครดิต

การจัดอันดับเครดิตธนาคารของทริสเรทติ้งเน้นที่การประเมิน ?อันดับเครดิตเฉพาะองค์กร? (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ของธนาคาร

เพื่อให้ได้อันดับเครดิตเฉพาะองค์กรของธนาคารผู้ออกตราสารหนี้ ทริสเรทติ้งจะเริ่มจาก ?อันดับเครดิตเบื้องต้น? (Anchor Rating) ของธนาคารดังกล่าว โดยเป็นการพิจารณาความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมธนาคารในประเทศของผู้ออกตราสารหนี้ ซึ่งเรียกว่า Banking Industry Country and Risk Assessment (BICRA) หลังจากนั้นจะมีปรับปรุงการอันดับเครดิตเบื้องต้นด้วยปัจจัยด้านเครดิตต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสถานะทางธุรกิจ (Business Position) เงินกองทุนและกำไร (Capital and Earnings) สถานะความเสี่ยง (Risk Position) ตลอดจนการระดมทุนและสภาพคล่อง (Funding and Liquidity) เพื่อกำหนดอันดับเครดิตเฉพาะองค์กร

อันดับเครดิตเฉพาะองค์กรอาจได้รับการปรับปรุงด้วยปัจจัยด้านเครดิตอื่น ๆ (Other Credit Considerations -- OCC) ในภายหลัง หากทริสเรทติ้งเห็นว่ามีปัจจัยอื่นที่อาจจะกระทบต่อสถานะเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ ตัวอย่างของ OCC เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและธรรมาภิบาล และท้ายที่สุดทริสเรทติ้งอาจพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากปัจจัยสนับสนุน (Support) ที่ธนาคารน่าจะได้รับจากบริษัทแม่หรือรัฐบาล (ในกรณีที่ธนาคารเป็นองค์ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ (Government-related Entity)) ก่อนที่ทริสเรทติ้งจะกำหนดอันดับเครดิตองค์กร (Issuer Credit Rating ? ICR)

การประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมธนาคาร (Economic and Banking Industry Risk Assessment - BICRA)

BICRA ประกอบไปด้วยการประเมินความเสี่ยงใน 2 ด้าน คือ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมธนาคาร

ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic Risk):

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศที่ธนาคารผู้ออกตราสารหนี้ดำเนินกิจการมักจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของธนาคารดังกล่าว ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยย่อย 3 ประการ ได้แก่

? ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ (Economic Resilience)

ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงความยืดหยุ่นของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและความเสี่ยงทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยชี้วัดในเชิงคุณภาพ (Qualitative Factor) ซึ่งประเมินจากข้อมูลที่มีอยู่ ส่วนปัจจัยชี้วัดในเชิงปริมาณ (Quantitative Factor) ปัจจัยหนึ่งที่นำมาใช้ได้คือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (Gross Domestic Product (GDP) per Capita)

? การขาดสมดุลของระบบเศรษฐกิจ (Economic Imbalance)

การประเมินในด้านนี้จะพิจารณาในเรื่องของการขยายตัวของสินเชื่อในระบบ ตลอดจนตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุน รวมไปถึงบัญชีเดินสะพัด ซึ่งการขาดสมดุลของระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไปที่พบได้นั้นประกอบด้วย การขยายตัวของสินเชื่อที่มากเกินไป ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความร้อนแรงเกินไป สัญญาณฟองสบู่จากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแบบต่อเนื่อง หรือระดับหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น

? ความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบเศรษฐกิจ (Credit Risk in the Economy)

ความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบเศรษฐกิจหมายถึงระดับหนี้ในภาคเอกชนและภาระหนี้ของระบบเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนผ่านระดับหนี้ภาคเอกชนหรือหนี้ภาคครัวเรือนโดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในการประเมินยังรวมไปถึงการวิเคราะห์มาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนระบบการชำระเงิน และระบบกฎหมาย เช่น สิทธิเรียกร้องหลักประกัน เป็นต้น

ความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมธนาคาร (Banking Industry Risk):

ความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมธนาคารสามารถประเมินได้จาก 3 ปัจจัยย่อย ได้แก่

? โครงสร้างเชิงสถาบันของระบบธนาคาร (Institutional Framework)

โครงสร้างเชิงสถาบันของระบบธนาคารในประเทศของธนาคารผู้ออกตราสารหนี้จะประเมินได้จาก 1) กฎหมายและกฎระเบียบด้านการธนาคารของประเทศนั้นมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลหรือไม่ 2) ความเข้มแข็งและประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และ 3) ประวัติในการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตในช่วงที่ผ่านมาและมาตรการป้องกันปัญหาวิกฤต

? พลวัตในการแข่งขัน (Competitive Dynamics)

พลวัตรในการแข่งขันหมายถึงความรุนแรงของการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม โดยอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ในการเข้าสู่ระบบถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อสภาะแวดล้อมในการแข่งขันของอุตสาหกรรมธนาคารในประเทศนั้น ๆ โดยที่ระยะของการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ล้วนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการแข่งขัน โดยทั่วไปแล้วตลาดที่มีการแข่งขันสูงมักจะสร้างแรงกดดันให้ส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง อีกทั้งยังทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดต่ำลงจนมีความจำเป็นในการลดต้นทุนและท้ายที่สุดก็อาจทำให้เกิดการควบรวมกิจการของธนาคารต่าง ๆ

? การจัดหาแหล่งเงินทุนของทั้งระบบ (System-wide Funding)

การประเมินในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนของทั้งระบบนั้นจะมุ่งเน้นไปที่เสถียรภาพของแหล่งเงินทุนในระบบธนาคาร โดยปกติแล้วเงินฝากจากลูกค้าถือเป็นแหล่งเงินทุนหลักที่มีเสถียรภาพสูงสุดในระบบธนาคาร ในขณะที่การจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปของการกู้ยืมหรือการออกตราสารหนี้รวมไปถึงการกู้ยืมในต่างประเทศนั้นถือว่ามีเสถียรภาพน้อยกว่าและยังมีความอ่อนไหวต่อความเชื่อมั่นของตลาดและการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกประเทศอีกด้วย

เมื่อได้ทำการพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว ทริสเรทติ้งก็จะนำคะแนนจากการประเมินปัจจัยเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจและในด้านอุตสาหกรรมมารวมกันเพื่อหาคะแนนเฉลี่ยต่อไป หลังจากนั้นทริสเรทติ้งจะแปลงคะแนนเฉลี่ยให้เป็นอันดับเครดิตเบื้องต้น (Anchor Rating) ซึ่งอาจจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น สถานะทางธุรกิจ (Business Position) เงินกองทุนและกำไร (Capital and Earnings) สถานะความเสี่ยง (Risk Position) รวมทั้งการระดมทุนและสภาพคล่อง (Funding and Liquidity) ของธนาคารนั้น ๆ เป็นต้น

สถานะทางธุรกิจ (Business Position)

การประเมินสถานะทางธุรกิจของธนาคารเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้นทริสเรทติ้งจะพิจารณาสถานะของธนาคารในสองด้านหลัก ได้แก่ ความมั่นคงทางธุรกิจ (Business Stability) ตลอดจนการกระจุกตัวและความหลากหลายทางธุรกิจ (Concentration and Diversity)

เสถียรภาพทางธุรกิจ (Business Stability):

ทริสเรทติ้งพิจารณาเสถียรภาพทางธุรกิจของธนาคารโดยดูจากเสถียรภาพของรายได้ ส่วนแบ่งทางการตลาด และฐานลูกค้า ทั้งนี้ เสถียรภาพของรายได้นั้นจะประเมินจากความอ่อนไหวของรายได้ของธนาคารที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาดซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร โดยธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำจะมีเสถียรภาพมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมการซื้อขายเงินลงทุน (Trading Activities) เป็นต้น ธนาคารที่มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและมั่นคงถือว่ามีธุรกิจที่มีเสถียรภาพสูง ปัจจัยชี้วัดสุดท้ายสำหรับเสถียรภาพทางธุรกิจคือความแข็งแกร่งของฐานลูกค้าของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารที่มีกลุ่มลูกค้าหลักที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันซึ่งการแข่งขันมักก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้า และด้วยเหตุนี้จึงถือว่ามีคุณลักษณะที่ช่วยสนับสนุนในด้านเสถียรภาพทางธุรกิจ

การกระจุกตัวและความหลากหลายทางธุรกิจ (Concentration and Diversity):

ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารที่มีจุดแข็งในด้านการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจะมีความอ่อนไหวต่อสภาวะตลาดที่มีความผันผวนน้อยกว่าธนาคารที่มีประเภทผลิตภัณฑ์ที่กระจุกตัวในเฉพาะบางประเภท ในขณะที่การมีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งก็มักจะเป็นผลมาจากการมีโครงสร้างธุรกิจที่สมดุลโดยผสมผสานระหว่างกลุ่มลูกค้าธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าบุคคล โดยมีการกำหนดเป้าหมายในกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวาง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีมุมมองในด้านบวกสำหรับธนาคารที่มีรายได้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจากค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้มาจากการปล่อยสินเชื่ออีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวนน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสินเชื่อที่มีการแข่งขันสูงซึ่งมักจะมีแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์

ความเพียงพอและสถานะของเงินกองทุน และความสามารถในการทำกำไร (Capital Adequacy, Capital Position, and Earnings Capacity)

เงินกองทุนบ่งบอกถึงความสามารถของธนาคารในการรองรับผลขาดทุน การประเมินจะเน้นที่ความเพียงพอของเงินกองทุน โดยวัดจากอัตราส่วนเงินกองทุนในปัจจุบันเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล และสถานะเงินกองทุนซึ่งพิจารณาจากอัตราส่วนเงินกองทุนเฉลี่ยที่

ทริสเรทติ้งประมาณการ ในส่วนของความสามารถในการสร้างผลกำไร (Earnings Capacity) เพื่อรองรับผลขาดทุนนั้น พิจารณาโดยใช้ปัจจัยชี้วัดคือตัวเลขกำไรที่สามารถรองรับการขาดทุน (Earnings Buffer Metric)

สำหรับความเพียงพอของเงินกองทุน ทริสเรทติ้งจะเปรียบเทียบอัตราส่วนเงินกองทุนที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น (Core Equity Tier 1 ? CET1) กับอัตราส่วนขั้นต่ำที่กำหนดโดยทางการ ในขั้นตอนต่อไปทริสเรทติ้งทำการประเมินสถานะเงินกองทุนของธนาคารโดยการประมาณการอัตราส่วน CET1 ซึ่งใช้อัตราส่วนโดยเฉลี่ยในปีปัจจุบันและอีก 2 ปีในอนาคต สำหรับกลุ่มทางการเงิน ทริสเรทติ้งประเมินสถานะเงินกองทุนของกลุ่มโดยใช้อัตราส่วน CET1 รวมของบริษัทโฮลดิ้ง ส่วนในขั้นตอนสุดท้ายทริสเรทติ้งจะทำการประเมินกำไรที่สามารถรองรับการขาดทุน (Earnings Buffer) ของธนาคารซึ่งเป็นอัตราส่วนของกำไรจากการดำเนินงานหลังจากหักการตั้งสำรองปกติต่อสินทรัพย์เสี่ยง

สถานะความเสี่ยง (Risk Position)

ในการประเมินสถานะความเสี่ยงของธนาคารนั้นทริสเรทติ้งจะพิจารณาลักษณะความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่บ่งชี้ว่าธนาคารมีสถานะความเสี่ยงสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นหรือไม่ ปัจจัยบ่งชี้ที่สำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์ในการเติบโตและลักษณะของธุรกิจ (Growth Strategy and Exposure) รวมไปถึงการกระจุกตัวของความเสี่ยง (Risk Concentrations) ความซับซ้อน (Complexity) ตลอดจนความเสียหายด้านเครดิตและการลงทุน (Loss Experience) โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่ง

การเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ (Growth and Changes in Exposure):

การที่ธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อและการซื้อขายพอร์ตการลงทุน (Trading Book) ที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจจนเป็นที่น่าสังเกตก็อาจเป็นเหตุที่บ่งชี้ให้เห็นว่าธนาคารมีกลยุทธ์ในการเติบโตที่มีความเสี่ยงมากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การเติบโตในอัตราสูงก็อาจมิได้สะท้อนถึงสถานะความเสี่ยงที่สูงขึ้นเสมอไป แต่จะขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารในการบริหารความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเป็นหลัก

การกระจุกตัวและการกระจายความเสี่ยง (Risk Concentrations and Diversification):

การกระจุกตัวของความเสี่ยง (Risk Concentrations) หมายถึงการที่ธนาคารมีการกระจุกตัวของธุรกรรมที่ทำกับลูกค้าเฉพาะราย ตลอดจนคู่สัญญา กลุ่มลูกค้า ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งธนาคารที่มีการกระจุกตัวของความเสี่ยงที่สูงในกลุ่มลูกค้าใด ๆ อย่างมีนัยถือว่ามีสถานะความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารอื่น ๆ ที่มีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า

ความซับซ้อนของธุรกิจ (Complexity):

ความซับซ้อนของธุรกิจ (Complexity) ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยลบเสมอไป แต่สิ่งที่ทริสเรทติ้งให้ความสำคัญคือความสามารถในการบริหารความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการที่ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ สายธุรกิจ และโครงสร้างองค์กรที่มีความซับซ้อน ซึ่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูง ได้แก่ ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) และตราสารตลาดทุนที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Capital Market Products) กิจกรรมวาณิชธนกิจที่มีรายได้ในสัดส่วนที่สูงก็อาจเข้าข่ายว่ามีความซับซ้อนในระดับหนึ่งได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจของธนาคารจะไม่มีความซับซ้อนก็มิได้หมายความว่าทริสเรทติ้งจะประเมินสถานะความเสี่ยงของธนาคารดังกล่าวในเชิงบวกเสมอไป

ความเสียหายด้านเครดิตและการลงทุน (Loss Experience):

ความเสียหายด้านเครดิตและการลงทุนของธนาคารในปีล่าสุดและที่ทริสเรทติ้งประมาณการเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่น ๆ เป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงสถานะความเสี่ยงของธนาคารเทียบกับอุตสาหกรรม โดยความเสียหายด้านเครดิตและการลงทุนนั้นส่วนใหญ่วัดจากสำรองหนี้สูญ (Credit Costs หรือ Loan Loss Provision) และขาดทุนจากการซื้อขายพอร์ตการลงทุน (Trading Losses from Investment Portfolio) การที่ธนาคารมีความเสียหายที่ต่ำกว่าคู่แข่งในช่วงเวลาเดียวกันอาจจะบ่งบอกถึงสถานะความเสี่ยงที่แข็งแกร่งกว่าของธนาคาร ทั้งนี้ ความเสียหายด้านในอื่น ๆ อาจรวมไปถึงค่าใช้จ่ายทางด้านนิติการและค่าปรับตามกฎระเบียบ

ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน (Interest Rate and Currency Risk):

ทริสเรทติ้งประเมินการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset-Liability Management -- ALM) และความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่สินทรัพย์และแหล่งเงินทุนเป็นสกุลเงินที่แตกต่างกัน ตัวชี้วัดอื่นอาจรวมถึงส่วนต่างระหว่างการครบกำหนด (Maturity Gap) และการปรับอัตราดอกเบี้ย (Repricing Gap) ของสินทรัพย?และหนี้สิน

การระดมทุนและสภาพคล่อง (Funding and Liquidity)

การระดมทุน (Funding):

ความแข็งแกร่งของสถานะเงินทุนของธนาคารสามารถประเมินได้จากสัดส่วนโครงสร้างและแหล่งเงินทุน โดยธนาคารที่ระดมเงินทุนจากเงินฝากของผู้ฝากเงินรายย่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินรับฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) นั้นถือว่ามีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งเนื่องจากเป็นเงินฝากประเภทที่มั่นคง และแม้ว่าเงินฝาก CASA ของธนาคารจะมีสัดส่วนน้อยกว่าธนาคารคู่แข่งรายสำคัญอื่น ๆ แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอย่างน้อยระยะเวลาครบกำหนดของเงินฝากก็ควรมีความเหมาะสมกับระยะเวลาครบกำหนดของสินทรัพย์ ในทางกลับกัน ธนาคารที่พึ่งพาการระดมทุนจากตลาด (Wholesale Funding) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดระหว่างธนาคาร (Interbank Market) จะได้รับการประเมินว่ามีสถานะเงินทุนที่อ่อนแอ

ปัจจัยชี้วัดทางตัวเลขในด้านอื่น ๆ ที่ทริสเรทติ้งใช้ยังรวมถึงอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan-to-deposit Ratio) เงินฝากต่อหนี้สิน (Deposit to Liability) หรือส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ (Equity to Assets) นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีการเปรียบเทียบต้นทุนเงินฝากของธนาคาร (Cost of Deposit Funding) กับของธนาคารอื่น ๆ เพื่อดูว่าความแข็งแกร่งของฐานเงินฝากของธนาคารเกิดจากฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งหรือเกิดจากกลยุทธ์การเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราของตลาดด้วย ซึ่งกรณีหลังอาจจะไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการประเมินความแข็งแกร่งของสถานะเงินทุนโดยส่วนใหญ่จะเป็นการเปรียบเทียบกับธนาคารคู่แข่งต่าง ๆ

สภาพคล่อง (Liquidity):

การประเมินสภาพคล่องจะมุ่งเน้นที่ความสามารถของธนาคารในการชำระหนี้สินในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดทางการเงิน ซึ่งโดยปกตินั้นสภาพคล่องสามารถวัดได้จากสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารมีอยู่ เทียบกับเงินทุนที่ระดมได้จากตลาด ฐานเงินฝากและหนี้สินระยะสั้น นอกจากนี้ ปัจจัยวัดสถานะสภาพคล่องอีกปัจจัยหนึ่งก็คืออัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ภายใต้กรอบการกำกับดูแลของ Basel III ที่ธนาคารมีการรายงาน ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นอัตราส่วนที่รวมผลกระทบของสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดทางการเงินอยู่ด้วย

ปัจจัยด้านเครดิตอื่น ๆ (Other Credit Considerations - OCC)

นอกเหนือจากปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเครดิตข้างต้นแล้วก็อาจมีปัจจัยในด้านอื่น ๆ ที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าควรนำมาพิจารณาในการประเมินสถานะเครดิตของผู้ออกตราสารด้วย ตัวอย่างเช่น หากมีหลักฐานชัดเจนที่ระบุถึงประเด็นปัญหาในด้านธรรมาภิบาล ทริสเรทติ้งก็อาจสะท้อนด้วยการปรับอันดับเครดิตในทางลบด้วยปัจจัยด้านเครดิตอื่น ๆ (OCC) เป็นต้น

การถือหุ้นและการสนับสนุน (Ownership and Group Support)

เมื่อได้อันดับเครดิตเฉพาะองค์กร (SACP) แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายในการจัดอันดับเครดิตก็คือการประเมินความเป็นไปได้ในการที่จะปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุนพิเศษจากกลุ่ม (ในกรณีที่ธนาคารเป็นสมาชิกในกลุ่มธุรกิจ) หรืออาจได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล (ในกรณีที่ธนาคารเป็นองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล) (ดูรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ? ของ

ทริสเรทติ้ง)

สำหรับธนาคารที่เป็นสมาชิกของกลุ่มธุรกิจที่บริษัทแม่มีสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากอันดับเครดิตเฉพาะองค์กรของธนาคารหากทริสเรทติ้งประเมินเห็นว่าธนาคารน่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงิน ?เป็นกรณีพิเศษ? จากบริษัทแม่ในเวลาที่จำเป็นอย่างทันท่วงที ซึ่งระดับของการสนับสนุนในกรณีที่บริษัทแม่มีความสามารถในการให้การสนับสนุนนั้นส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานะและความสำคัญที่ธนาคารมีต่อกลุ่ม โดยมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะของบริษัทที่มีต่อกลุ่มจะเป็นปัจจัยที่กำหนดจำนวนขั้นที่อันดับเครดิตเฉพาะองค์กรจะได้รับการปรับเพิ่ม (ดูรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้ง)

การปรับปรุงเกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิต (Methodology Update)

ทริสเรทติ้งได้เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารผู้ออกตราสารหนี้โดยสามารถดูรายละเอียดได้ในบทความนี้ในหัวข้อ ?ความเพียงพอและสถานะของเงินกองทุน และความสามารถในการทำกำไร? (Capital Adequacy, Capital Position, and Earnings Capacity)

อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ (Key Financial Ratios)

อัตราส่วน (Ratio) ความหมาย (Definition)

รายได้รวม (Total Revenue) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ + รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ + รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย

(Net interest income + net fee income + non-interest income)

อัตราส่วนผลตอบแทนของสินทรัพย์เฉลี่ย (ROAA) % กำไรสุทธิ/สินทรัพย์เฉลี่ย

(Net income/average assets)

อัตราส่วนผลตอบแทนของส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (ROAE) % กำไรสุทธิ/ส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย

(Net income/average shareholders? equity)

ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้

(Earning Asset Yield) % รายได้ดอกเบี้ยรวม/สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย

(Total interest income/average earning assets)

ต้นทุนทางการเงิน (Cost of Funds) % ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย/แหล่งเงินทุน

(Total interest expenses/average funding)

ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) % รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ/สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย

(Net interest income/average earning assets)

สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Earning Assets) เงินสด + รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน (สินทรัพย์) + เงินลงทุนสุทธิ + สินเชื่อ (รวมรายได้รอการตัดบัญชี)

(Cash + interbank and money market items (asset) + net investments + gross loans (including deferred revenue)

แหล่งเงินทุน (Funding) เงินฝาก + รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน (หนี้สิน) + เงินกู้ยืมและตราสารหนี้

(Deposits + interbank and money market items (liabilities) + borrowings and debt issued)

สินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquid Assets) เงินสด + รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน (สินทรัพย์) + เงินลงทุนสุทธิ

(Cash + interbank and money market items + net investments)

ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง (Credit Cost) % ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง/สินเชื่อเฉลี่ย

(Loan loss provisions/average gross loans)

อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อหนี้เสีย (NPL Coverage) % เงินสำรองที่มีอยู่/หนี้เสีย

(Loan loss reserves/gross non-performing loans)

ค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income) % ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด/รายได้รวม

(Total operating expenses/total revenues)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด

อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 โทร. 02-098-3000

? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: www.trisrating.com/th/rating-information/rating-criteria

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ