ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในธุรกิจร้านอาหารและร้านอาหารบริการด่วนของบริษัทซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรงและมีผู้ประกอบการหลากหลาย และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจคลังสินค้า อันดับเครดิตถูกลดทอนโดยระดับหนี้สินของบริษัทซึ่งอยู่ในระดับสูงจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนความกังวลต่อแผนการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทประกอบกับความไม่แน่นอนของผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่ของบริษัทซึ่งอาจจะทำให้ภาระหนี้สินและระดับหนี้สินของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นอีก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติและปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ภายใต้การประมาณการกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 พันล้านบาทในปี 2566 และ 3.8-3.9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2568 โดยคาดว่ารายได้ของแบรนด์ ?ดังกิ้นโดนัท? (Dunkin? Donuts) จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายร้านขนาดเล็ก (Kiosk) และรายได้จากแบรนด์ ?เกรฮาวด์ คาเฟ่? (Greyhound Caf?) และ ?โอ บอง แปง? (Au Bon Pain) จะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรในธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะยังคงถูกกดดันต่อไปอีกในปี 2566 จากการที่ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าสาธารณูปโภค และค่าขนส่งยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ทริสเรทติ้งคาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องใช้จ่ายมากขึ้นในการจัดกิจกรรมทางการตลาดและจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ในธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 16% ในช่วงปี 2566-2568
ผลการดำเนินงานของธุรกิจร้านอาหารของบริษัทเริ่มฟื้นตัวในปี 2565 จากการที่สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ดีขึ้น โดยบริษัทมีรายได้จากธุรกิจร้านอาหารเติบโตขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนมาอยู่ที่ 2.8 พันล้านบาทในปี 2565 โดยรายได้จากร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ฟื้นตัวขึ้น 64% ในปี 2565 เนื่องจากการรับประทานอาหารในร้านเริ่มฟื้นตัวกลับมาหลักจากที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปีก่อนหน้า และร้านโอ บอง แปง มีรายได้ฟื้นตัวขึ้นเช่นกันโดยเพิ่มขึ้น 31% ในปี 2565 จากการที่นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้นและพนักงานเริ่มกลับไปทำงานที่สำนักงานมากขึ้น ในขณะที่รายได้จากร้านดังกิ้นโตขึ้น 30% ในปี 2565 จากกลยุทธ์ของบริษัทที่ขยายสาขาในรูปแบบร้านขนาดเล็ก (Kiosk) ในสถานีบริการน้ำมัน ศูนย์การค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) และตามตลาดท้องถิ่น โดยการเปิดร้านขนาดเล็กดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้น ในขณะที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการเปิดร้านในรูปแบบเดิมและมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายสาขามากกว่า อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรในธุรกิจร้านอาหารอ่อนตัวลงแต่ยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งจากต้นทุนวัตถุดิบและสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น โดย EBITDA Margin ลดลงเป็น 15.9% ในปี 2565 จาก 18.3% ในปี 2564
ธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศยังคงอ่อนแอ
บริษัทเริ่มขยายธุรกิจร้านอาหารไปในต่างประเทศในปี 2560 โดยการซื้อกิจการร้านอาหาร ?Le Grand Vefour? ซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในกรุงปารีส และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันบริษัทยังได้เปิดร้านอาหารเกรฮาวด์ คาเฟ่ ที่กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นร้านที่บริษัทบริหารเองแห่งแรกในต่างประเทศด้วย ต่อมาบริษัทได้เปิดร้านอาหารเพิ่มเติมอีก 4 แห่งในประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ ?Pasco? ?Augustin? และ ?A-Noste? ซึ่งเปิดในปี 2563 และ ?La Mere Lachaise? ที่เปิดในช่วงต้นปี 2565 โดยผลการดำเนินงานของร้านอาหารในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของร้านอาหารในต่างประเทศยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทคาดไว้ และร้านอาหารส่วนใหญ่ในต่างประเทศของบริษัทยังคงมี EBITDA ติดลบในปี 2565 แม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด 19 จะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม บริษัทมองว่าผลการดำเนินงานที่ยังคงอ่อนแอของร้านอาหารในต่างประเทศเป็นผลจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและความยากลำบากในการดำเนินงานร้านอาหาร ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีแผนจะซื้อกิจการร้านอาหารเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศสโดยอาจจะปรับเปลี่ยนเป็นร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของบริษัทที่ต้องการจะเจาะตลาดในทวีปยุโรปด้วยแบรนด์เกรฮาวด์ คาเฟ่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่า สภาพแวดล้อมในการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้น
มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสาร
ธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสารสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจนี้อยู่ที่ประมาณ 380-400 ล้านบาทต่อปีและมี EBITDA Margin ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจคลังสินค้าของบริษัทจะเติบโตขึ้นเล็กน้อย โดยภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า รายได้จากธุรกิจคลังสินค้าของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 380-390 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2568 และบริษัทจะยังคงมี EBITDA Margin ที่ระดับประมาณ 60%-70% ในช่วงเวลาดังกล่าว
บริษัทมีแผนจะขยายคลังสินค้าและคลังเอกสารเพิ่มเติมเนื่องจากคลังเดิมของบริษัทมีการใช้งานค่อนข้างเต็มพื้นที่แล้ว โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาที่ดินเปล่าซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทขนาด 17 ไร่ที่อยู่ติดกับคลังเดิมของบริษัท โดยจะทยอยพัฒนาให้เป็นคลังสินค้าและคลังเอกสาร ทั้งนี้ คาดว่าเงินลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท
ธุรกิจใหม่ของบริษัทยังคงมีความไม่แน่นอน
ในปี 2560 บริษัทเริ่มต้นแผนในการพัฒนาโครงการโรงแรมซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเมืองภูเก็ต ซึ่งประกอบไปด้วยห้องพักจำนวน 62 ห้องและร้านอาหาร 1 แห่ง ต้นทุนในการก่อสร้างโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 280 ล้านบาท ตามแผนเดิมของโครงการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2563 แต่กลับล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเวลานานเนื่องจากมีการแก้ไขแบบทางด้านสถาปัตยกรรมรวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 อีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดร้านอาหารในโครงการดังกล่าวในปี 2566 ในขณะที่การลงทุนในส่วนของโรงแรมคาดว่าจะล่าช้าออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดในธุรกิจโรงแรมและจำนวนเงินที่มีอยู่ที่จะใช้ในการลงทุน
ในปี 2565 บริษัทซื้อที่ดินเพิ่มเติมในจังหวัดภูเก็ตบริเวณอ่าวยนคิดเป็นเงินประมาณ 170 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะพัฒนาเป็นรีสอร์ทในรูปแบบวิลล่า คาดว่าเงินลงทุนก่อสร้างโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าสู่ธุรกิจค้าทุเรียนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยได้ร่วมมือกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในธุรกิจส่งออกทุเรียนเพื่อประกอบธุรกิจจัดหาทุเรียนจากสวนและนำมาจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดประเทศจีน บริษัทได้ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจค้าทุเรียน โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้ 550 ล้านบาทจากธุรกิจค้าทุเรียน อย่างไรก็ตาม มีผลขาดทุนจากธุรกิจดังกล่าวเนื่องจากยังมีปัญหาในการขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนซึ่งยังไม่เปิดประเทศเต็มที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปีที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งมองว่าการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ซึ่งบริษัทยังไม่มีประสบการณ์มากนักทำให้มีความไม่แน่นอนในผลการดำเนินงาน ในขณะที่ระดับหนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นจากเงินลงทุนที่ใช้ในธุรกิจดังกล่าวและอาจจะต้องเพิ่มเงินทุนอีกในอนาคต ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต ?ลบ? หรือ ?Negative?
ระดับหนี้สินยังคงสูงจากแผนการลงทุนจำนวนมากของบริษัท
ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 จากการลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายสาขาร้านอาหารและขยายไปยังธุรกิจใหม่แม้ว่ากำไรของบริษัทจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ดีขึ้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าในปี 2565 จาก 4.7 เท่าในปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะทยอยปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเนื่องจากบริษัทมีแผนจะลงทุนต่อเนื่องเป็นจำนวนมากแม้คาดว่ากำไรของบริษัทจะฟื้นตัวต่อเนื่อง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 4.8 เท่าในปี 2566 เป็น 4.4 เท่าในปี 2568 โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 430 ล้านบาทในปี 2566 ประมาณ 270 ล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 230 ล้านบาทในปี 2568 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเพื่อขยายสาขาร้านอาหาร ซื้อกิจการร้านอาหารในต่าประเทศ ขยายธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสาร และลงทุนในธุรกิจใหม่
ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีภาระหนี้อยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวภาระหนี้ประมาณ 2.1 พันล้านบาทเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและเงินกู้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันของบริษัทลูก ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมเท่ากับ 79% ซึ่งสูงกว่า 50% ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง ส่งผลให้ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกินกว่า 3 เท่าโดย ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.81 เท่า นอกจากนี้ เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารของบริษัทยังมีเงื่อนไขสำคัญให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุนไม่ให้เกิน 2.5 เท่า โดย ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.9 เท่า
สภาพคล่องตึงตัว
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งสภาพคล่องของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2565 ประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดประมาณ 450 ล้านบาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 620 ล้านบาทในปี 2566 และวงเงินกู้ที่สามารถเบิกได้ 50 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.1 พันล้านบาท ภาระค่าเช่าจ่ายจำนวน 480 ล้านบาท และเงินลงทุนซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 430 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทอาจจะต้องหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อทดแทนเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระและเพื่อให้เพียงพอต่อการลงทุนด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 4.8-5.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568
? EBITDA จะอยู่ที่ 880-960 ล้านบาทต่อปีในปี 2566-2568
? เงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 430 ล้านบาทในปี 2566 ประมาณ 270 ล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 230 ล้านบาทในปี 2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งต่อแผนการลงทุนจำนวนมากของบริษัท ประกอบกับความไม่แน่นอนของผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่ของบริษัท ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินและระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจากที่คาดการณ์ไว้ หรือจากการที่บริษัทมีการลงทุนจำนวนมากโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่สูงกว่าระดับ 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทริสเรทติ้งอาจเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? หากผลการดำเนินงานของบริษัทดีกว่าคาดและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) (SST)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative