ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LHBANK) เป็นระดับ ?A? จากเดิมที่ระดับ ?A-? ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งก็เพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์ Basel III ชุดปัจจุบันของธนาคารเป็นระดับ ?BBB+? จากเดิมที่ระดับ ?BBB? พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? ด้วย
การเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ LHBANK เป็นผลมาจากการเพิ่มอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ (Group Credit Profile ? GCP) ของ LHFG Group ซึ่งอยู่ที่ระดับ ?a? โดยสะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งในเรื่องของบูรณาการทางธุรกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นระหว่าง บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) กับธนาคารแม่คือ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank)
อันดับเครดิตองค์กรของ LHBANK อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจโดยเป็นผลเนื่องมาจากธนาคารมีสถานะเป็นบริษัทหลัก (Core Entity) ของ LHFG Group ส่วนอันดับเครดิตที่ระดับ ?BBB+? ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์ Basel III นั้นลดทอนลงมาจากอันดับเครดิตองค์กรของ LHBANK 2 ขั้นซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทลูกหลักของ LHFG Group
ทริสเรทติ้งพิจารณาว่า LHBANK เป็น ?บริษัทหลัก? (Core Entity) ของ LHFG Group โดยธนาคารเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย LHFG และมีหน้าที่ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ด้วยขนาดสินทรัพย์จำนวน 2.96 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับเมื่อสิ้นปี 2564
LHBANK เป็นหน่วยงานที่สร้างกำไรมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทใน LHFG Group รายอื่น ๆ โดยกำไรสุทธิของ LHBANK คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2565 ในขณะที่รายได้รวมคิดเป็นประมาณ 85% ส่วนในแง่ของขนาดสินทรัพย์นั้น สินทรัพย์รวมของ LHBANK คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 95% ของสินทรัพย์รวมของ LHFG ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
การผสานพลังทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น
ธุรกิจของ LHBANK มีบูรณาการเข้ากับธุรกิจของ LHFG และ CTBC Bank ในระดับสูง กลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายการบริหารความเสี่ยงของธนาคารได้รับการกำกับดูแลและตรวจสอบโดยคณะกรรมการบริษัทของ LHFG และ CTBC Bank ทริสเรทติ้งมองว่าความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง LHBANK รวมทั้ง LHFG และ CTBC Bank ในปี 2565 นั้นมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น LHBANK ได้นำระบบการรายงานแบบเมทริกซ์มาใช้โดยผู้บริหารอาวุโสมีหน้าที่ต้องรายงานต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องของ CTBC Bank นอกเหนือจากที่ต้องรายงานต่อผู้บริหารสูงสุดของ LHFG ซึ่งก็เป็นตัวแทนมาจาก CTBC Bank เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ LHBANK ยังได้วางกรอบการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับกรอบการบริหารความเสี่ยงของ CTBC Bank อีกด้วย
เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กในประเทศไทย
สถานะทางการตลาดของ LHBANK ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยยังคงมีกรอบที่ค่อนข้างเล็ก แม้ว่าธนาคารจะมีสินเชื่อที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดของ LHBANK ยังคงอยู่ที่ระดับ 1.3% ทั้งในส่วนของสินเชื่อและเงินฝากเมื่อเทียบกับบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหลาย ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจาก LHBANK เป็นหน่วยดำเนินงานหลักของ LHFG สถานะทางการตลาดของ LHBANK จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการประเมินอันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจของทริสเรทติ้ง โดยพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสถานะทางการตลาดของ LHBANK จะส่งผลดีต่ออันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจของ LHFG Group
การกระจายความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการกระจายตัวของธุรกิจของ LHBANK ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา LHBANK ได้กระจายสินเชื่อไปยังกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และกลุ่มรายย่อยมากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2565 พอร์ตสินเชื่อของธนาคารประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 44% กลุ่ม SME 40% และกลุ่มลูกค้ารายย่อย 17% ธนาคารมีความมุ่งมั่งที่จะขยายธุรกิจไปสู่กลุ่ม SME และกลุ่มลูกค้ารายย่อยให้มากขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและเครือข่ายของ CTBC Bank ซึ่งรวมถึงสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ (Supply Chain Financing) และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับลูกค้ารายย่อย แม้ธุรกิจจะมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ความเสี่ยงของการกระจุกตัวในกลุ่มผู้กู้ยืมรายใหญ่ที่สุด 20 รายนั้นปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อยและยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อสถานะความเสี่ยงของธนาคาร
คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลง แต่การตั้งสำรองยังคงแข็งแกร่ง
คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของ LHBANK อ่อนแอลงตั้งแต่ปี 2563 และอาจกลายมาเป็นประเด็นกังวลเนื่องจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจ SME ที่มีความเสี่ยงสูงและให้ผลตอบแทนสูง แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ไม่รวมสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร) ที่ระดับ 2.4% ณ สิ้นปี 2565 นั้นยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.4% แต่สินเชื่อที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยต่อสินเชื่อรวมก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวโดยมาอยู่ที่ระดับ 5.0% ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 2.75% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งขับเคลื่อนโดยกลุ่ม SME อย่างไรก็ตาม LHBANK ได้ตั้งสำรองหนี้สูญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพที่อาจเกิดขึ้นจากสินเชื่อภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือซึ่งจะค่อย ๆ สิ้นสุดลงภายในสิ้นปี 2566 ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ระดับ 221% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยูที่ระดับ 172%
เงินกองทุนและกำไรอ่อนตัวลง
เงินกองทุนและความสามารถในการสร้างผลกำไรของ LHBANK ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เงินกองทุนของธนาคารซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 ? CET-1) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13.5% ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 17.1% ณ สิ้นปี 2563 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวเป็นอย่างมากของสินเชื่อตลอดจนการขาดทุนจากการประเมินมูลค่าเงินลงทุน การอ่อนตัวของเงินกองทุนเป็นสาเหตุหลักในการปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของกลุ่มธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการทำกำไรก็มีข้อจำกัดจากการมีระดับต้นทุนด้านเครดิตที่สูงขึ้นและอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิที่อยู่ในระดับต่ำอันเนื่องมาจากการมีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Risk-adjusted Net Interest Margin -- NIM) อยู่ที่ระดับ 1.4% ในปี 2565 โดยเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.9% ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Assets -- ROAA) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับประมาณ 1%
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธนาคาร, 20 มีนาคม 2566
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์, 24 ธันวาคม 2564
LHBANK315A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html