ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. สะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงด้านการตลาดที่ต่ำเนื่องจากบริษัทมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รวมถึงการมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง และสถานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท
อันดับเครดิต ?AAA? ยังได้สะท้อนถึงอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ซึ่งอยู่ที่ระดับ ?aaa? และสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยหลักของ ปตท. ตามมุมมองของทริสเรทติ้งอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย
ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งดำเนินธุรกิจจัดหาปิโตรเลียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศ
ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วทั้งสิ้น 1,442 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นอายุปริมาณสำรอง (Reserve Life) ที่ประมาณ 6.8 ปี โดยประมาณ 49% ของปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วนั้นอยู่ในประเทศไทยและส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา บริษัทมีปริมาณการขายเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ 4.68 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยที่ประมาณ 70% เป็นการจำหน่ายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ
ธุรกิจบูรณาการกับ ปตท. เป็นอย่างมาก
ทริสเรทติ้งมองว่า ปตท.สผ. เป็นบริษัทย่อยหลักของ ปตท. ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติ โดย ปตท. ถือหุ้นใน ปตท.สผ. ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันในสัดส่วน 65.3% ณ เดือนมีนาคม 2566 โดยทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. ต่างก็มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กฎหมายของราชอาณาจักรไทย
นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ ปตท.สผ. โดยบริษัทมีรายได้จากการขายปิโตรเลียมให้ ปตท. ประมาณ 65%-70% ของยอดขายรวมรายปีของบริษัท ปตท.สผ. เป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานก๊าซธรรมชาติของ ปตท. โดยบริษัทจัดส่งก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ก่อนที่ ปตท. จะส่งไปจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้า โรงงานปิโตรเคมีและกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงปี 2561-2565 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ ปตท. ประมาณ 40%-60% มาจาก ปตท.สผ.
สัดส่วนการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่สูงช่วยรักษาเสถียรภาพของรายได้
ผลิตภัณฑ์หลักของ ปตท.สผ. คือก๊าซธรรมชาติซึ่งคิดเป็น 70% ของยอดขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัทในช่วงปี 2561-2565 การซื้อขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวซึ่งมีระยะเวลา 15-30 ปี ปตท.สผ. มีสัญญาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ ปตท. ในรูปแบบ Take-or-Pay โดยผู้ซื้อจะรับผิดชอบซื้อปริมาณก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำต่อปีตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือชำระเงินในจำนวนที่เทียบเท่า ราคาขายก๊าซธรรมชาติภายใต้สัญญาดังกล่าวจะมีสูตรคำนวนที่อ้างอิงกับการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันเตาหรือราคาน้ำมันดิบดูไบเป็นสำคัญซึ่งจะมีการปรับราคาช้ากว่าราคาน้ำมัน นอกจากนี้สูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติยังได้รวมการปรับปรุงค่าความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเอาไว้ด้วย ส่วนราคาขายน้ำมันดิบนั้นมักจะจำหน่ายที่ราคาตลาดหรือตามราคาในสัญญาซื้อขายระยะสั้นเท่านั้น
ในปี 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้น 39% เป็น 96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นผลจากสถาณการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนรวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในภาคพลังงาน ส่งผลให้ราคาขายปิโตรเลียมเฉลี่ยโดยรวมของบริษัทในปี 2565 เพิ่มขึ้น 23% เป็น 53.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยราคาขายน้ำมันดิบนั้นเพิ่มขึ้น 42% เป็น 94.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2565 ในขณะที่ ราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของบริษัทในปี 2565 อยู่ที่ 6.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู (British thermal unit) หรือเพิ่มขึ้นเพียง 10% เนื่องจากการปรับราคาขายก๊าซธรรมชาติในสูตรการคำนวณตามสัญญาจะเกิดขึ้นตามหลังการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันประมาณ 3-21 เดือน
เพิ่มกำลังการผลิตแหล่ง G1/61
การเพิ่มกำลังการผลิตของแหล่ง G1/61 ให้เป็นไปตามแผนเป็นสิ่งสำคัญ โดยปริมาณการขายปิโตรเลียมของบริษัทที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2566-2568 ส่วนใหญ่จะมาจากแหล่ง G1/61 ซึ่งทาง ปตท.สผ. ได้รับโอนมาตั้งแต่เดือน เมษายน 2565 ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2566 กำลังการผลิตจากแหล่งดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันสอดคล้องกับที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์
ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าความเชี่ยวชาญของบริษัทด้านการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยจะช่วยให้การเร่งกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่ง G1/61 เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contracts?PSC) ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ทันภายในเดือนเมษายน 2567
ปริมาณสำรองปิโตรเลียมแข็งแกร่งขึ้น
ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ที่เพิ่มขึ้นในปี 2565 ส่วนมากมาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงดำเนินกลยุทธ์ขยายฐานปริมาณสำรองปิโตรเลียมในต่างประเทศด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัท รวมทั้งช่วยรักษาสถานะการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทและบรรเทาผลกระทบจากการที่ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ทยอยลดลงไปอีกด้วย
โครงการในต่างประเทศจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทในระยะยาว โดยโครงการในประเทศมาเลเซียประกอบด้วย SK410B และ SK405B นั้นมีกำหนดจะเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2570 ในขณะที่ธุรกิจในทวีปแอฟริกาที่มีความล่าช้าในการก่อสร้างของโครงการ Mozambique Area 1 นั้นจะทำให้ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 2.0-2.5 หมื่นบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันล่าช้าไปเป็นปี 2570 ซึ่งทริสเรทติ้งได้พิจารณารวมไว้ในประมาณการทางการเงินแล้ว
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้ชนะการประมูลสิทธิแปลงสำรวจปิโตรเลียมนอกชายฝั่งแปลง G1/65 และ G3/65 ในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติจากภายในประเทศได้ในระยะยาว
ผลการดำเนินการที่ดีช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้สถานะทางการเงิน
สถานะทางการเงินของ ปตท.สผ. ยังคงแข็งแกร่งตามผลการดำเนินงานที่ดี โดยในปี 2565 บริษัทมี EBITDA สูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 7.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายที่เพิ่มขึ้น 22.8% และปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 12.5% จากการรับรู้ปริมาณการขายจากโครงการ Oman Block 61 ได้เต็มปี และจากการเริ่มรับรู้การขายก๊าซธรรมชาติจากโครงการ G1/61
ต้นทุนการผลิตของ ปตท.สผ. นั้นสามารถทนต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่เป็นเงินสดเพิ่มขึ้น 9.9% มาอยู่ที่ 15.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2565 นอกจากนั้นแล้วบริษัทได้รับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจำนวน 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการระงับการดำเนินคดีแบบกลุ่มจากเหตุการณ์มอนทาราซึ่งกระทบโครงสร้างต้นทุนโดยรวมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ระดับหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัท ณ สิ้นปี 2565 ลดลงเหลือ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทดีขึ้นเป็น 0.50 เท่าในปี 2565 นอกจากนี้ โครงสร้างทุนของบริษัทก็แข็งแกร่งขึ้นเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่อยู่ที่ 20.55% ณ สิ้นปี 2565
ปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นแม้ว่าราคาขายจะลดลง
ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของ ปตท.สผ. จะยังคงแข็งแกร่งตลอดระยะเวลาประมาณการ และคาดการณ์ว่าปริมาณการขายของ ปตท.สผ. จะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 4.6% โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.3-5.4 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2568 โดยการเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากโครงการในประเทศ ซึ่งรวมถึง โครงการ G1/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการ G2/61 ซึ่งสุทธิกับการยุติการดำเนินโครงการ Contract 3 และโครงการบงกชแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะทยอยปรับตัวลดลงถึงระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลภายในปี 2568 จากระดับ 96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อการปรับตัวสู่ดุลภาพของตลาดปิโตรเลียมหลังภายหลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2566
ดังนั้น ทริสเรทติ้งประมาณการว่า EBITDA ของบริษัทจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 5.9-6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในช่วงปี 2566-2568 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ประมาณ 0.5-1.0 เท่าตลอดช่วงปี 2566-2568
มีสภาพคล่องสูง
สถานะสภาพคล่องของ ปตท.สผ. ยังคงแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2565 ปตท.สผ. มีแหล่งสภาพคล่องจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 855 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจำนวน 574 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นวงเงินกู้ที่ธนาคารมีภาระผูกพันในการจัดหาให้ตามกำหนดเวลา (Committed Credit Line) นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในปี 2566 ที่ประมาณ 4.6-5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่มีอยู่แล้วถือว่าเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนตามแผนและเงินลงทุนส่วนที่ยังไม่มีภาระผูกพันรวมกันทั้งหมดประมาณ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ใน 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทไม่มีเงินกู้ยืมที่ครบกำหนดชำระคืนในปี 2566-2568
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นปี 2565 ปตท.สผ. มีภาระหนี้รวมในงบการเงินรวมที่จำนวน 2.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อยจำนวน 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สัดส่วนของหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระคืนก่อนเมื่อเทียบกับหนี้สินรวม (Priority Debt Ratio) ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 17% ณ สิ้นปี 2565
?
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566 และประมาณ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2567-2568
? ต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดของบริษัทจะทยอยลดลงจาก 15.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 มาอยู่ที่ระดับ 11-15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566-2568 โดยต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงนี้เป็นผลจากการสัดส่วนการจำหน่ายปิโตรเลียมจากแหล่ง G1/61 และ G1/62 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำกว่าระดับปัจจุบันของบริษัท
? ในช่วงปี 2566-2568 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนรวม 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ปตท.สผ. จะยังคงดำรงผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ท้าทาย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความได้เปรียบในด้านต้นทุนของบริษัท รวมถึงสภาพคล่องที่เพียงพอ และความสามารถในการปรับแผนค่าใช้จ่ายลงทุนจะช่วยให้บริษัทสามารถลดผลกระทบจากความผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยด้านลบที่จะมีผลต่ออันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือหากบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสถานะเครดิตของ ปตท. หรือความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. กับ ปตท.สผ. ที่ลดน้อยถอยลงก็อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
PTTEP296A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AAA
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ภายใต้โครงการออกหุ้นกู้ Medium Term-note Programme ปี 2564 ในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท: AAA
- PTTEP26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable