ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน เครื่อข่ายสถานีบริการที่กว้างขวาง และผลประกอบการที่ฟื้นตัว ในทางกลับกัน อันดับเครดิตถูกลดทอนจากเงินลงทุนที่สูงและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดค้าปลีกน้ำมัน รวมถึงความอ่อนไหวของบริษัทต่อนโยบายของรัฐบาลในการควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน
อันดับเครดิตพิจารณาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน การขยายเครือข่ายสถานีบริการ ?PT? จำนวนมากช่วยให้ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทในแง่ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 11% ในปี 2560 เป็น 16.7% ในปี 2564 ตามข้อมูลของทริสเรทติ้ง การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสถานีบริการโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาช่วยส่งเสริมสถานะทางการตลาดของบริษัทและเพิ่มการรับรู้แบรนด์อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทอยู่ที่ 16% ในปี 2565 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป็นผู้ค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศไทย ทั้งนี้ ตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทจะเลื่อนไปอยู่ที่อันดับ 3 หากแผนของ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) ในการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) เสร็จสิ้น
เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง
เครือข่ายสถานีบริการ PT ยังคงอยู่ในอันดับที่ 2 โดยจำนวนสถานีขายปลีกน้ำมันเพิ่มขึ้น 62 สถานีเป็น 2,149 สถานีในปี 2565 ซึ่งใกล้เคียงกับผู้นำตลาด บริษัทได้ขยายสถานีบริการที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการ (Company Owned Company Operated -- COCO) อย่างระมัดระวังตั้งแต่ปี 2563 ส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนของตลาดที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม จำนวนสถานีซึ่งตัวแทนจำหน่ายเป็นเจ้าของและดำเนินการ (Dealer Owned Dealer Operated -- DODO) นั้นยังคงเพิ่มขึ้นและคิดเป็นสัดส่วน 52% ของสถานีใหม่ในปี 2565 ทั้งนี้ สัดส่วน DODO ต่อสถานีบริการทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 16% ในปี 2565 จาก 13% ในปี 2561
เมื่อมองไปข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนของ DODO จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรับรู้แบรนด์ที่เพิ่มขึ้นบริษัทจึงพยายามที่จะเพิ่ม DODO ให้มากขึ้นอีกในไม่กี่ปีข้างหน้าเพื่อที่จะยังคงขยายเครือข่ายการขายด้วยการใช้เงินลงทุนอย่างรอบคอบ
นอกเหนือจากการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังปรับปรุงระบบสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะกระตุ้นยอดขายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของกลุ่มบริษัท และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งทั้งในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและไม่ใช่น้ำมัน ในส่วนของบัตร ?PT Max Card? ซึ่งให้ส่วนลดและรางวัลตามการ
สะสมคะแนนสำหรับสมาชิกนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 18.9 ล้านคนในปี 2565 จาก 16.9 ล้านคนในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดตัวบัตร ?PT Max card plus? สำหรับสมาชิกที่ชำระเงินโดยให้สิทธิพิเศษแก่สมาชิกและเสนอส่วนลดที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มบริษัททั้งหมดเพื่อที่จะช่วยเพิ่มยอดขายได้เพิ่มเติม
การฟื้นตัวของปริมาณการขายและกำไรขั้นต้นต่อลิตร
ปริมาณการใช้น้ำมันในตลาดค้าปลีกในประเทศฟื้นตัวขึ้น 11% ในปี 2565 หลังจากการยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ในขณะที่ปริมาณการขายปลีกของบริษัทเพิ่มขึ้น 6.5% ในขณะเดียวกัน กำไรขั้นต้นต่อลิตรจากการขายปลีกน้ำมันของบริษัทก็ฟื้นตัวเป็น 1.85 บาทในปี 2565 จาก 1.77 บาทในปี 2564 ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 พันล้านบาทในปี 2565 จาก 5.2 พันล้านบาทในปี 2564
การขยายตัวอย่างรวดเร็วในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน
ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของบริษัทซึ่งรวมถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และกาแฟ ?พันธุ์ไทย? เติบโตอย่างแข็งแกร่ง กำไรขั้นต้นจากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันในปี 2565 พุ่งสูงขึ้น 49% โดยมีสัดส่วน 19% ของกำไรขั้นต้นของบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2564 โดยระบบสิทธิเศษแก่สมาชิกมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน
ในปี 2565 ปริมาณขาย LPG สำหรับรถยนต์เพิ่มขึ้น 71% เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ บริษัทยังสนับสนุนการติดตั้งถัง LPG ในรถแท็กซี่ด้วยความคาดหวังการใช้ LPG เพิ่มขึ้นในอนาคต ปริมาณการขาย LPG ของบริษัทในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 43% ในปี 2565 โดยส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากการเพิ่มร้านจำหน่าย LPG เป็น 253 ร้านจาก 171 ร้านในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมาจากบริษัทอื่น แม้ว่าตลาด LPG โดยรวมคาดว่าจะไม่เติบโตในอนาคตอันใกล้ก็ตาม
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจกาแฟพันธุ์ไทยมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 49% ในปี 2565 เนื่องจากจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น 53% เป็น 537 สาขาในปี 2565 ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานว่าบริษัทจะเพิ่มร้านกาแฟประมาณ 200-250 แห่งต่อปีในปี 2566-2568 ทั้งนี้ ความสำเร็จในการขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันด้วยอัตรากำไรที่น่าพอใจจะเป็นผลบวกต่อสถานะเครดิตของบริษัท
อ่อนไหวต่อผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทยังคงมีอ่อนไหวต่อผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดีเซลเนื่องจากยอดขายของบริษัทส่วนใหญ่มาจากน้ำมันดีเซล ด้วยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อจำกัดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลผ่านมาตรการต่าง ๆ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อค่าการตลาดของผู้ค้าปลีกน้ำมัน ทั้งนี้ การฟื้นตัวของค่าการตลาดเริ่มมองเห็นได้ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนการแทรกแซงลง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่ได้คาดหวังว่าค่าการตลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจะยังคงแทรกแซงราคาน้ำมันต่อไปเพื่อลดภาระหนี้สินจำนวนมากของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง
การแข่งขันยังคงสูง
ทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันยังคงมีความรุนแรงเนื่องจากผู้ค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่ส่วนใหญ่ยังคงขยายสถานีบริการต่อไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสถานีบริการน้ำมันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การแข่งขันยังคงรุนแรงยิ่งขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความภักดีของลูกค้าโดยผู้ค้าปลีกน้ำมันได้หันมาเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่ใช่น้ำมัน การมีร้านสะดวกซื้อและร้านกาแฟกลายมาเป็นมาตรฐานปกติสำหรับสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ส่วนสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่มักจะมีร้านอาหาร บริการซักรีด บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ และอื่น ๆ ไว้ให้บริการ ดังนั้น ด้วยค่าการตลาดที่ตึงตัวจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ค้าปลีกในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานในขณะที่ยังคงต้องรักษามาตรฐานการบริการและความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปด้วย
ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ BCP และ ESSO ที่จะรวมเข้าด้วยกันอาจส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้นแม้ว่าตลาดจะมีผู้ประกอบการหลักน้อยลงก็ตาม โดยมองว่ากำลังการผลิตโรงกลั่นที่เพิ่มขึ้นของ BCP อาจทำให้ BCP ต้องเร่งขยายธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้น ที่สำคัญกว่านั้น BCP จะขยับขึ้นสู่อันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้นเป็นประมาณ 26% ซึ่งลดช่องว่างระหว่าง BCP กับผู้นำตลาดลง ในขณะเดียวกัน บริษัทตั้งเป้าที่จะขยายส่วนแบ่งตลาดเป็น 25% ในระยะกลาง ซึ่งเกือบจะเท่ากับส่วนแบ่งตลาดของ BCP
คาดว่าผลประกอบการทางการเงินจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้งคาดการณ์ EBITDA ของบริษัทในปี 2566-2568 จะอยู่ที่ 5.9-6.7 พันล้านบาทต่อปี ปริมาณขายน้ำมันรวมของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5% ต่อปีในช่วงปี 2566-2567 และ 4% ในปี 2568 เมื่อพิจารณาจากระบบสมาชิกที่แข็งแกร่งและจำนวนสถานีน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานค่าการตลาดโดยรวมเฉลี่ย (รวมค้าปลีกและค้าส่ง) อยู่ที่ประมาณ 1.82-1.83 บาทต่อลิตร กำไรขั้นต้นของธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 16%-17% ต่อปีในช่วงปี 2566-2568 โดยได้รับแรงหนุนจากจำนวนร้านค้าปลีกและสถานีบริการ LPG ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบสมาชิกที่แข็งแกร่งที่ให้รางวัลตามคะแนนสะสม
เงินลงทุนที่สูงอาจฉุดการลดลงของอัตราส่วนหนี้สิน
บริษัทใช้เงินลงทุน 2.7 พันล้านบาทในปี 2565 เทียบกับงบประมาณเริ่มต้นที่ 3.0-4.0 พันล้านบาท โดยเงินลงทุนยังคงต่ำกว่าในช่วงปี 2560-2562 มาก เนื่องจากบริษัทพยายามรักษาสภาพคล่องในช่วงที่ตลาดผันผวนและไม่แน่นอน หนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วของบริษัท (รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ลดลงเหลือ 2.72 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จาก 2.81 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ เนื่องจาก EBITDA ฟื้นตัวเช่นกัน อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ลดลงเป็น 4.7 เท่าในปี 2565 ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนก็ลดลงเหลือ 76.7%
เมื่อมองไปข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเพิ่มเงินลงทุนโดยมุ่งเน้นที่การขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันและสำหรับธุรกิจใหม่ ๆ โดยประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้งได้รวมโครงการโรงไฟฟ้าขยะของบริษัทในจังหวัดสงขลาซึ่งได้ผ่านคุณสมบัติสำหรับการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นเวลา 20 ปี ด้วยขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 4.5 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 3.1-3.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568 ด้วยเหตุนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะคงอยู่ที่ประมาณ 4.7 เท่าในปี 2566 ก่อนจะลดลงเหลือประมาณ 4.2-4.5 เท่าในปี 2567-2568 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ประมาณ 75% ในช่วงประมาณการ
สภาพคล่องที่จัดการได้
ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 2.0 พันล้านบาท และภาระหนี้สินระยะยาวจำนวนรวม 4.4 พันล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 2.1 พันล้านบาทและประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 4.3 พันล้านบาทในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดหาเงินกู้เพื่อทดแทนหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระเกือบทั้งหมดเพื่อรองรับการลงทุน และเมื่อพิจารณาถึงธุรกิจของบริษัทที่แข็งแกร่งแล้ว ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงในการหาเงินกู้ทดแทนของบริษัทนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีเงินกู้จากธนาคารและหุ้นกู้จำนวน 8.9 พันล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนเงินก่อนจำนวนประมาณ 2.6 พันล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทย่อย ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 29%
?
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ปริมาณการขายน้ำมันจะเติบโตประมาณ 4.5% ต่อปีในปี 2566-2567 และ 4% ในปี 2568
? ราคาขายน้ำมันจะลดลง 2% ในปี 2566 จากนั้นลดลง 6% และ 7% ในปี 2567-2568 ตามลำดับ
? รายได้จะเพิ่มขึ้น 3% ในปี 2566 และลดลง 2% ต่อปีในปี 2567-2568 เนื่องจากคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลัก
? ค่าการตลาดน้ำมันโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 1.82-1.83 บาทต่อลิตร
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวมประมาณ 9.8 พันล้านบาทในช่วงปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเอาไว้ได้ด้วยการมีแผนกลยุทธ์ขยายธุรกิจที่มีความรอบคอบ ทริสเรทติ้งยังคาดอีกด้วยว่าระดับหนี้สินทางการเงินและระดับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัทนั้นจะยังคงอยู่ในระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถลดระดับหนี้สินลงได้เร็วกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างเห็นได้ชัดซึ่งอาจเกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานที่ดีกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อย่างน้อยก็ยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่ระดับเดิมไว้ได้ ในทางกลับกัน แรงกดดันต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นในกรณีที่สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นอย่างมากจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือบริษัทมีการลงทุนที่ใช้การก่อหนี้ในระดับสูงมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
PTG242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
PTG252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable