ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานและความเป็นผู้นำในตลาดบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงระดับการก่อหนี้และความสามารถในการสร้างรายได้ในระดับปานกลางของบริษัท รวมถึงการมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลายอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ความเสี่ยงในระดับมหภาค ความไม่แน่นอนของกระแสเงินสด ตลอดจนความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินทรัพย์ภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ความเสี่ยงในด้านการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์และการกระจุกตัวของสินทรัพย์ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเชี่ยวชาญของบริษัทในการตั้งราคาซื้อขายสินทรัพย์ ตลอดจนกลยุทธ์ในการเลือกลงทุน รวมถึงความหลากหลายของประเภทและสถานที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยลดทอนความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ในระดับหนึ่ง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ทริสเรทติ้งยังคงประเมินให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับที่ ?แข็งแรง? ต่อไปซึ่งสะท้อนถึงสถานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในประเทศไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยบริษัทถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดคิดเป็น 49% ของขนาดสินทรัพย์เมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดในประเทศไทย ทั้งนี้ สินทรัพย์รวมทั้งหมดของบริษัทเพิ่มขึ้น 5.5% เป็น 1.33 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 โดยสินทรัพย์ที่บริษัทบริหารประกอบไปด้วยเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ -- NPL) จำนวน 8.08 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์รอการขาย (สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ? NPA) จำนวน 4.04 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้ขายผ่อนชำระจำนวน 2.5 พันล้านบาท
สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานกับธนาคารหลายแห่ง ยิ่งกว่านั้น ประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในการตั้งและประเมินราคาสินทรัพย์รวมทั้งฐานข้อมูลที่ครอบคลุมกว้างขวางยังเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในการเลือกซื้อสินทรัพย์ที่ดีในราคาที่เหมาะสมอีกด้วย ซึ่งจุดแข็งดังกล่าวได้ช่วยตอกย้ำสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมของบริษัท
ยังรักษาระดับการก่อหนี้ได้หลังจากเริ่มกลับมาลงทุน
ในปี 2565 บริษัทลงทุนซื้อหนี้มาบริหารรวมทั้งสิ้นจำนวน 8.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 124% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วอันเนื่องมาจากอุปทานสินเชื่อด้อยคุณภาพในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยการซื้อในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นั้นคิดเป็นสัดส่วน 62% ของต้นทุนการซื้อหนี้ทั้งปีของบริษัทเนื่องมาจากแรงผลักดันในการซื้อหนี้ที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวลงในระยะ 9 เดือนแรกของปี
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอุปทานสินเชื่อด้อยคุณภาพจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยผลักดันที่เกิดจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือที่ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์จนกระทั่งถึงสิ้นปี 2566 นี้ ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะเร่งนำสินเชื่อด้อยคุณภาพออกมาจำหน่ายมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จนถึงตลอดปี 2567 และน่าจะช่วยสนับสนุนแผนการซื้อหนี้ของบริษัท
ถึงแม้ว่าบริษัทจะกลับมาขยายการซื้อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2566-2568 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราการก่อหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทในปัจจุบันโดยอยู่บนสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าบริษัทจะซื้อหนี้เพิ่มปีละประมาณ 9 พันล้านบาทและจะมีเงินสดจัดเก็บที่จำนวน 1.7-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 2.04 เท่า เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.94 เท่าในปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่าในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
กระแสเงินสดรับจากการจัดเก็บเงินสดจากการบริหารจัดการลูกหนี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2565 ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้เล็กน้อยแต่ก็ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 จากผลการดำเนินงานของธุรกิจบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ดีขึ้น โดยบริษัทมีกำไรสุทธิที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8% มาอยู่ที่ 2.7 ล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 2.1% จากระดับ 2.0% ในปี 2564
รายได้จากการบริหารจัดการลูกหนี้ (รายได้ดอกเบี้ยและกำไรจากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้) ซึ่งไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 26.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 6.0 พันล้านบาท เงินสดจัดเก็บจากธุรกิจบริหารจัดการลูกหนี้ก็ปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในช่วงปี 2563-2564 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากกลยุทธ์ในการเพิ่มกระแสเงินสดจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 และอีกส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเร่งรัดกระบวนการประมูลหนี้และรายได้เงินคงค้างที่ได้รับจากกรมบังคับคดี โดย ณ สิ้นปี 2565 เงินสดคงค้างที่บริษัทมีกับกรมบังคับคดีอยู่ที่จำนวน 1.23 หมื่นล้านบาท
บริษัทมีเงินสดจัดเก็บรวมจากธุรกิจบริหารจัดการลูกหนี้ (รวมทั้งเงินสดรับจากลูกหนี้และเงินคงค้างที่ได้รับจากกรมบังคับคดี) เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินสดจัดเก็บจากการบริหารจัดการลูกหนี้จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์ในการเพิ่มจำนวนบัญชีปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ในทางกลับกัน ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อาจจะอ่อนแอลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนซึ่งอาจจะทำให้เงินสดจัดเก็บต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ได้
ในทางกลับกัน รายได้จากสินทรัพย์รอการขาย (กำไรจากสินทรัพย์รอการขาย รายได้ดอกเบี้ย และกำไรจากการขายแบบผ่อนชำระ) ของบริษัทเติบโตลดลง 23.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยมาอยู่ที่ระดับ 2.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ เงินสดจัดเก็บจากสินทรัพย์รอการขายในปี 2565 ลดลง 6% มาอยู่ที่จำนวน 6.8 พันล้านบาท การปรับลดลงของเงินสดจัดเก็บจากธุรกิจบริหารทรัพย์สินรอการขายนั้นมาจากการชะลอกลยุทธ์ด้านราคาในเชิงรุกและการทำกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการขายแบบเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2564 ซึ่งในปี 2566 นั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยน่าจะนำไปสู่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในการซื้อของลูกค้าทั้งลูกค้าภายในประเทศและลูกค้าต่างชาติซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินสดจัดเก็บของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ผลการดำเนินงานทางการเงินในอนาคตจะเผชิญกับความท้าทายจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น
อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจะส่งผลกดดันต่อผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในอนาคตเนื่องจากต้นทุนทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมีสัดส่วนมากที่สุดของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลกระทบอาจจะลดลงได้บางส่วนจากการที่ 80% ของเงินกู้ทั้งหมดของบริษัทเป็นเงินกู้ระยะยาว ทริสเรทติ้งประมาณการว่าต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.15%-0.2% ในปี 2566 ซึ่งเทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นประมาณ 7% ตามประมาณการของทริสเรทติ้ง อย่างไรก็ตาม
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และเงินสดจัดเก็บของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากธุรกิจบริหารจัดการลูกหนี้และจากสินทรัพย์รอการขายซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอีกทั้งยังรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้
แหล่งเงินทุนที่หลากหลายช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงิน
สถานะเงินทุนของบริษัทจัดว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอจากการที่บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารที่จำหน่ายลูกหนี้ด้อยคุณภาพให้แก่บริษัท ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างบริษัทและสถาบันการเงินเหล่านี้ส่งผลให้เกิดหุ้นส่วนทางธุรกิจที่มีประโยชน์ร่วมกันซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถระดมทุนในตลาดทุนได้ในยามที่ต้องการเนื่องจากบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีการออกหุ้นกู้อย่างสม่ำเสมอ
ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีเงินกู้รวมทั้งสิ้นจำนวน 8.56 หมื่นล้านบาทโดยเงินกู้ระยะยาวมีสัดส่วนประมาณ 80% ของภาระหนี้ทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินจำนวน 9.2 พันล้านบาท เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินคงค้างที่บริษัทออกไว้เพื่อใช้ซื้อสินทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าคงเหลือจำนวน 2.5 พันล้านบาท และหุ้นกู้ระยะยาวอีกจำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารการชำระคืนหนี้หุ้นกู้ได้จากการที่หุ้นกู้มีการกระจายตัวของวันครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงเวลาหลายปี อีกทั้งบริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมอีกจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาทที่ส่วนใหญ่เป็นวงเงินกู้ระยะยาวและไม่สามารถยกเลิกได้เพื่อใช้รองรับในช่วงเวลาที่บริษัทมีความต้องการสภาพคล่อง
เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์จากการที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมอ่อนแอลงเป็นอย่างมากในกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางบางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะได้ออกมาตรการช่วยเหลือมากมายเพื่อผ่อนเบาภาระของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หนี้เสียจากสถาบันการเงินซึ่งรวมทั้งสถาบันการเงินของไทยและต่างชาติตลอดจนบริษัทเงินทุนก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 4.99 แสนล้านบาทโดยอัตราสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ระดับ 2.73% ณ สิ้นปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าสถาบันการเงินจะนำหนี้เสียออกมาประมูลจำหน่ายมากขึ้นเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐกำลังจะสิ้นสุดลง กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสสำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ แต่
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทายอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการติดตามหนี้ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อบริษัทบริหารสินทรัพย์
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 ดังนี้
? การซื้อลูกหนี้ด้อยคุณภาพใหม่จะอยู่ที่ระดับ 9 พันล้านบาทต่อปี
? อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 2 เท่า
? เงินสดที่จัดเก็บได้จากการบริหารสินทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี
? อัตราส่วนต้นทุนทางการเงินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.4%-3.8% ของเงินกู้ยืมเฉลี่ย
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 31%-32%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่งและดูแลให้การก่อหนี้อยู่ในระดับปานกลางเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคงและอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากสถานะในการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจในเชิงรุกโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงเกินกว่า 2.75 เท่าอย่างต่อเนื่อง หรือผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5% อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BAM234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
BAM235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
BAM239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
BAM23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
BAM244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BAM244B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BAM245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BAM246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BAM247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BAM24DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BAM251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,845 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
BAM256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 370 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
BAM259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
BAM25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,370 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
BAM25NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
BAM264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
BAM267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 405 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
BAM26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A-
BAM274A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,545 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-
BAM276A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-
BAM279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-
BAM27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-
BAM284A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
BAM286A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
BAM28DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
BAM294A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,065 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-
BAM297A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-
BAM304A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-
BAM307A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-
BAM30NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 580 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-
BAM30NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-
BAM317A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A-
BAM324A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,140 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A-
BAM347A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2577 A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable