ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?AA-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี ของบริษัทที่ระดับ ?AA-? ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจและขยายธุรกิจของบริษัท รวมถึงการชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดหรือเพื่อนำไปใช้ในการลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่บริษัทลูกของบริษัท
ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ซึ่งอยู่ที่ระดับ ?a-? เพื่อสะท้อนถึงสถานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ ?มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์? ของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (หรือ KTB ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ระดับ ?AA+/Stable?*)
สถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัท ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่มีความระมัดระวัง และฐานทุนที่มีความมั่นคง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากแรงกดดันที่มีต่อความสามารถในการทำกำไรอันเนื่องมาจากต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ยังคงมีบูรณาการและได้รับการสนับสนุนจาก KTB ต่อไป
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ KTB ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 49.3% บริษัทมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรายย่อยให้แก่ KTB ซึ่งประกอบไปด้วยการให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ การสนับสนุนทั้งทางด้านการให้วงเงินสินเชื่อและการสนับสนุนทางธุรกิจจาก KTB แสดงให้เห็นถึงพันธะสัญญาระยะยาวที่เข้มแข็งที่ธนาคารมีต่อบริษัทซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะใกล้ ทริสเรทติ้งยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่บริษัทจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารเมื่อบริษัทอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากอีกด้วยเช่นกัน
กลยุทธ์ทางธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทยังมีการบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงของ KTB ด้วย และนอกเหนือจากความร่วมมือด้านการรณรงค์ส่งเสริมการตลาดและการใช้ตราสัญลักษณ์หรือแบรนด์ร่วมกันแล้ว บริษัทยังคงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของ KTB ที่มีอยู่ทั่วประเทศในการเสนอผลิตภัณฑ์และให้บริการลูกค้าของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทยังรับลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางธุรกรรมทางการเงินของ KTB ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (แอพพลิเคชั่น) หรือที่เรียกว่า ?KTB Next? อีกด้วย ทั้งนี้ จำนวนประมาณ 35% ของลูกค้าบัตรเครดิตรายใหม่ของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับการแนะนำมาจาก KTB นอกจากนี้ KTB และบริษัทยังได้ถือหุ้นร่วมกันในหลายบริษัทซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของ KTB อีกด้วย
สถานะทางการตลาดที่เข้มแข็ง
บริษัทสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทอันได้แก่ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากจุดแข็งในด้านการตลาดและแบรนด์ที่แข็งแกร่ง บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 14% ของสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 12% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังได้บรรลุเป้าหมายอัตราการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทในปี 2565 ที่ระดับ 22% ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมอีกด้วย ทั้งนี้ การเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้นมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการรณรงค์ส่งเสริมการตลาดเชิงรุกและการขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้สูงขึ้น ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้น บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 5% ในปี 2565 จากระดับ 6% ในปี 2562 เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
พอร์ตสินเชื่อขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
เงินให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 1.04 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 12% จากปีก่อนหน้า โดยพอร์ตสินเชื่อของบริษัทประกอบไปด้วยสินเชื่อบัตรเครดิตในสัดส่วน 67% ของพอร์ตสินเชื่อรวม สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันในสัดส่วน 30% ในขณะที่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกันและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วนคิดเป็น 3%
ทริสเรทติ้งคาดว่าพอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะขยายตัวที่ระดับ 6%-12% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการออกบัตรเครดิตใหม่ ตลอดจนสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทมีเป้าหมายในการออกบัตรเครดิตใหม่จำนวน 270,000 ใบ โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งทริสเรทติ้งก็คาดว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะกลับมาเติบโตที่ระดับ 7%-10% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและความร่วมมือกับพันธมิตรบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้น บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่อีกจำนวน 90,000 บัญชีในปี 2566 และจะยังคงเน้นกลุ่มผู้มีรายได้ที่สูงขึ้นและเพิ่มการใช้วงเงินของลูกค้าเดิมให้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจใหม่อันได้แก่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันภายใต้แบรนด์ ?เคทีซี พี่เบิ้ม? ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการในปี 2565 นั้นเติบโตในระดับที่ช้ากว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การนำเสนอธุรกิจใหม่ผ่านทางเครือข่ายสาขาของ KTB นั้นก็ยังคงมีไม่มากโดยมียอดสินเชื่อใหม่ในปี 2565 เพียง 1 พันล้านบาทซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่บริษัทคาดการณ์ไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มนี้ที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นเป็นแนวโน้มในทางที่ดีเนื่องจากทริสเรทติ้งเชื่อว่าจะช่วยให้บริษัทไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไปบริษัทมีเป้าหมายในการขยายสินเชื่อในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะเติบโตทีละน้อยไปอยู่ที่ระดับ 9 พันล้านบาทภายในปี 2568 ในขณะที่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ดำเนินการผ่าน บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) ซึ่งมุ่งเน้นสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และสินเชื่อรถบรรทุกนั้นทริสเรทติ้งประมาณการว่าจะเติบโตที่ระดับ 10%-15% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568
คุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะยังคงค่อนข้างดี
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีเนื่องจากนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดของบริษัท ตลอดจนการปรับปรุงนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและเงินสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพียงพอ โดยอัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต หรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 (Non-performing Loan -- NPL) ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ลดลงเหลือ 1.8% ณ สิ้นปี 2565 จาก 3.6% ณ สิ้นปี 2564 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตัดหนี้สูญของ KTBL ซึ่ง ณ สิ้นปี 2565 นั้น NPL Ratio ของธุรกิจหลักของบริษัทอันได้แก่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยอยู่ที่ระดับ 1.1% และ 2.8% ตามลำดับ ขณะที่อัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (หรือลูกหนี้ชั้นที่ 3) ที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.4% ในปี 2565 จากระดับ 5.5% ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงภายในสิ้นปีนี้ก็อาจส่งผลทำให้ NPL Formation ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากประมาณการของทริสเรทติ้งที่คาดว่า NPL Formation ของบริษัทจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นที่ระดับประมาณ 5%-6% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 แล้ว ทริสเรทติ้งจึงประมาณการว่า NPL Ratio ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยคาดการณ์ว่าอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ย (Credit Cost) ของบริษัทจะยังคงระดับอยู่ที่ 5%-6% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงปี 2564-2565 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 และช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งอยู่ที่ระดับเกินกว่า 7% กรณีดังกล่าวน่าจะทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage Ratio) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 200% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568 จากระดับ 400%-600% ในอดีต
คาดว่าจะมีการทำกำไรที่มั่นคง
บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7 พันล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้าโดยมีสาเหตุมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียมรับที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้โดยใช้วิธีบริหารจัดการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวมถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ โดยที่การทำกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) นั้นอยู่ในระดับปานกลางที่ 5.6% ในปี 2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่า EBT/ARWA ของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 4%-5% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 และคาดว่าการขยายธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยรับสูงกว่านั้นจะช่วยชดเชยต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้บางส่วนโดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 11% จาก 12.2% ในปี 2565 ส่วนในด้านต้นทุนการดำเนินงานนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 36% ในช่วงระหว่างปี 2566?2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 33%-35% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายทางด้านการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น
เงินทุนยังจะคงแข็งแกร่ง
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเชื่อว่าเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับแผนการขยายธุรกิจในระยะ 3 ปีข้างหน้า ในการนี้ บริษัทมีสถานะเงินทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งโดยประเมินจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (RAC Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ของบริษัทที่ระดับ 18.7% โดยผลกำไรที่แข็งแกร่งและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวังน่าจะทำให้ฐานทุนของบริษัทมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าบริษัทจะรักษาเงินทุนให้มีความแข็งแกร่งต่อไปโดยจะมี RAC Ratio อยู่ในระดับสูงที่ 18%-20% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ยที่ 6%-12% และอัตราการจ่ายเงินปันผลตามนโยบายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 40%
มีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ การที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน รวมทั้งการมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินอีกหลายแห่งนั้นก็ช่วยทำให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอและมีความหลากหลายที่จะช่วยรองรับการเติบโตได้ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับวงเงินสินเชื่อทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่เพียงพอจาก KTB เพื่อช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัทอีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 วงเงินในสัดส่วน 70% ของวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้นจำนวน 3.43 หมื่นล้านบาทของบริษัทนั้นเป็นวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจาก KTB และในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 หนี้สินระยะสั้นของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็น 24% ของหนี้สินรวมของบริษัท ในขณะที่ ณ เดือนเมษายน 2566 บริษัทมีหุ้นกู้ระยะยาวคงค้างจำนวนประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกู้มูลค่า 2.4 พันล้านบาทจากจำนวนดังกล่าวจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566 ซึ่งบริษัทมีแผนรองรับการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อนำมาใช้ทดแทนหุ้นกู้ชุดเก่าดังกล่าวแล้ว
แรงกดดันจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรมยังคงดำเนินต่อไป
การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาได้ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาโดยผู้บริโภคเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งในกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยสะท้อนจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2565 ที่ระดับ 2.0 ล้านล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.5% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ยอดคงค้างของสินเชื่อบัตรเครดิตในอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.3% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ก็มีสัญญาณที่อ่อนแอลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดย NPL Ratio ของสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ระดับ 2.0% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากระดับ 1.8% ณ สิ้นปี 2564 ในขณะที่ NPL Ratio ของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากมาอยู่ระดับ 5.3% ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 3.1% ณ สิ้นปี 2564 ทั้งนี้ คุณภาพสินทรัพย์ของทั้งระบบยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอลงภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่าง ๆ สิ้นสุดลง นอกจากนี้ สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเช่นกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
? สินเชื่อรวมคงค้างจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 6%-12% ต่อปี
? อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยรับจะอยู่ในช่วงประมาณ 14.8%
? ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในช่วง 3.1%-3.5%
? ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 5.1%-6.2%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดของธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเอาไว้ได้ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งด้วยว่าฐานทุนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและคุณภาพสินทรัพย์จะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดย RAC Ratio อยู่ในระดับเกินกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หาก RAC Ratio ของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 12% หรือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลกระทบทำให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยเพิ่มสูงเกินกว่า 10% ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทได้อีกด้วย
นอกจากนี้ หากระดับการสนับสนุนที่ KTB มีต่อบริษัทเปลี่ยนแปลงไปหรือมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ KTB เปลี่ยนแปลงไปก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KTC239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
KTC23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,140 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
KTC23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
KTC241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
KTC243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
KTC247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
KTC248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
KTC24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 415 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
KTC24NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
KTC24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 830 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-
KTC253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
KTC254A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
KTC259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
KTC259B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
KTC25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
KTC25NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
KTC262A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-
KTC262B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-
KTC269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-
KTC26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,030 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-
KTC26NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-
KTC26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-
KTC277A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,232 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
KTC278A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
KTC278B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
KTC27OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
KTC27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
KTC282A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA-
KTC288A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,065 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AA-
KTC297A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA-
KTC29OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA-
KTC301A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA-
KTC318A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 AA-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable