ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ระดับ ?BBB-? อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่?
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? สะท้อนผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาด ความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินของบริษัทที่คาดเคลื่อนไปจากประมาณการของปีที่แล้วค่อนข้างมาก โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้แก่ อัตราการทำกำไรขั้นต้นที่ต่ำลงและภาระหนี้ที่สูงขึ้น รวมทั้งภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนความต้องการเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ หากไม่รวมกำไรจากการขายที่ดินซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้ว บริษัทคงต้องประสบกับผลขาดทุนสุทธิ
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในการรับงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่และมูลค่างานในมือจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็ลดทอนลงจากความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง การเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัสดุและค่าแรง ลักษณะของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีวงจรธุรกิจผันผวนและการที่บริษัทพึ่งพางานก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการค่อนข้างสูง
อันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนถึงสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทที่ด้อยกว่าของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันเนื่องจากหนี้ส่วนของบริษัทมีหลักประกัน โดย ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีสัดส่วนระหว่างหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทที่ระดับ 57% ซึ่งเกินกว่า ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้งที่ระดับ 50%
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการเงินอ่อนแอลง
สถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระยะเวลาในการเรียกเก็บเงินที่ยาวนานขึ้นจนทำให้ลูกหนี้การค้าที่ยังไม่เรียกเก็บเงินและลูกหนี้การค้ารวมกันมีจำนวนมากส่งผลให้หนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ 2.18 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จากระดับต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงถึง 12.9 เท่าในปี 2565 จากอดีตที่อยู่ที่ระดับ 2-4 เท่า
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการลดลูกหนี้การค้าที่ยังไม่เรียกเก็บเงินและลูกหนี้การค้าเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนในระดับหนึ่ง ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอาจสูงเกินกว่า 8 เท่าในระยะเวลาที่นานขึ้น ในกรณีนี้ ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตได้ในอนาคต
อัตรากำไรลดลง
การที่บริษัทดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพียงอย่างเดียว บริษัทจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงจากลักษณะของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีความผันผวนและมีการแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนี้ ต้นทุนวัสดุและค่าแรงที่ปรับเพิ่มสูงยขึ้น กอปรกับงานก่อสร้างที่มีความล่าช้าและได้รับผลกระทบจาก โรคโควิด 19 ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยอัตรากำไรขั้นต้นลดลงสู่ระดับ 10%-15% ในช่วงปี 2564-2565 เทียบกับประมาณ 17%-20% ในอดีตที่ผ่านมา อัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยลดลงสู่ 12% ในปี 2565 ต่ำกว่าระดับ 19%-22% ในอดีตที่ผ่านมา
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในขณะที่บริษัทได้ปรับต้นทุนของโครงการก่อสร้างให้สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว บริษัทยังตรึงราคาเหล็กได้ในราคาที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้ในโครงการที่มีอัตรากำไรต่ำหรือติดลบน้อยลงในช่วงปีประมาณการ เนื่องจากโครงการเหล่านี้ใกล้จะแล้วเสร็จ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาเป็นประมาณ 15% ได้ในช่วงปี 2566-2568 จากประมาณ 10% ในปี 2565
ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่เหนือกว่าระดับ 16% ในช่วงปีประมาณการเนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตรากำไร นอกจากนี้ บริษัทยังมีการบริหารต้นทุนที่ดีผ่านการรวมศูนย์ต้นทุนไว้ที่ส่วนกลางและต้นทุนของบริษัทมีความยืดหยุ่นด้วยการใช้ผู้รับเหมาช่วงจำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มงบลงทุนในด้านเครื่องจักรในช่วงที่ผ่านมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานและลดความต้องการด้านแรงงาน
ความสามารถในการแข่งขันงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะในการเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเอาไว้ได้ โดยบริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 เมื่อพิจารณาจากรายได้ในปี 2565 ความแข็งแกร่งของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากผลงานการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่
ด้วยประวัติผลงานที่เข้มแข็ง บริษัทได้รับสัญญาก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการมูลค่ารวมกันประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งส่งผลให้มูลค่างานในมือของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ที่ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท โดยโครงการเหล่านี้ประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก โครงการรถไฟทางคู่ (บ้านไผ่-นครพนม) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
ด้วยมูลค่างานในมือในปัจจุบันเมื่อประกอบกับสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าบริษัทจะได้รับสัญญาก่อสร้างใหม่ ๆ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี คาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568
พึ่งพางานก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการ
มูลค่างานในมือของบริษัทมีการกระจุกตัวสูงในโครงการขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โครงการเนื่องจากบริษัทเน้นประมูลงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีขนาดใหญ่เป็นสำคัญ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โครงการขนาดใหญ่ที่สุด 5 โครงการของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 88% ของมูลค่างานในมือของบริษัท ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดในการส่งมอบงานเพียง 1 หรือ 2 โครงการ หรือเกิดเหตุขัดข้องที่มีนัยสำคัญที่ทำให้โครงการใดโครงการหนึ่งหยุดชะงักก็อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทได้
การดำเนินงานของบริษัทบางครั้งได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่การก่อสร้าง การทบทวนหรือการแก้แบบโครงการ หรือการแก้ไขงานก่อสร้างซึ่งเป็นลักษณะโดยทั่วไปของงานก่อสร้างของภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ นอกจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จแล้วนั้น ความล่าช้าในการชำระเงินจากเจ้าของโครงการก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างแรงกดดันให้กับสถานะทางการเงินและค่าใช้จ่ายทางการเงินของบริษัทอย่างมาก
สภาพคล่องสามารถบริหารจัดการได้
สภาพคล่องของบริษัทค่อนข้างตึงตัวแต่สามารถบริหารจัดการได้ บริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวนมาก ประกอบไปด้วยเงินกู้โครงการระยะสั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินจากธนาคารจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท หนี้สินระยะยาวจำนวน 61 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 3 พันล้านบาท การชำระหนี้ระยะสั้นค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในเรื่องของระยะเวลาในการชำระหนี้เนื่องจากโดยปกติธนาคารจะขยายหรือต่ออายุสัญญาใช้เงินให้เหมาะสมกับระยะเวลาของโครงการ โดยการชำระหนี้ระยะสั้นจะมาจากเงินที่จะได้รับจากเจ้าของโครงการ หนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดน่าจะได้รับการชำระจากเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัท ในขณะที่หุ้นกู้ได้รับการแทนที่ด้วยหุ้นกู้ชุดใหม่ที่ออกในเดือนมกราคม 2566 จำนวนรวม 2,281 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสดในมือประมาณ 4 พันล้านบาทและมีวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสภาบันการเงินอีกประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้สนับสนุนงานก่อสร้างในอนาคต
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่า ซึ่งบริษัทสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดเนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดช่วงเวลาประมาณการ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? บริษัทรายงานรายได้ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 2566-2568
? บริษัทจะได้รับสัญญาโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ มูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 15.5% ในช่วงปี 2566-2568
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 600-720 ล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งจากสถานะทางการเงินของบริษัทอาจจะอ่อนแอลงกว่าระดับปัจจุบันจากอัตรากำไรที่ลดลง และภาระหนี้และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทสูงเกินกว่า 8 เท่าโดยไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับสู่ระดับ ?Stable? หรือ ?คงที่? หากผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามประมาณการและบริษัทสามารถปรับปรุงสถานะทางการเงินให้ดีขึ้นจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงจนต่ำกว่าระดับ 8 เท่าได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (UNIQ)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
UNIQ248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 839.3 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-
UNIQ257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,440.1 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-
UNIQ262A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB-
UNIQ267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,441.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative