ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมุ่งเน้นคุณภาพและความยั่งยืน รวมถึงการสร้างความหลากหลายทางธุรกิจด้วยการขยายสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดลงทอนบางส่วนจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของธุรกิจปาล์มน้ำมันซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากการดำเนินการตามแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัท นอกจากนี้ ความผันผวนของราคายางตลอดจนราคาปาล์มน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ลดทอนอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีผลงานเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมยาง
สถานะทางธุรกิจของบริษัทเกิดจากการมีผลงานที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในธุรกิจยางธรรมชาติซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทที่คิดเป็นสัดส่วน 77% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2565 โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญที่ยาวนานกว่า 30 ปีในธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้ ในปี 2565 รายได้ประมาณ 94% ของบริษัทที่มาจากธุรกิจยางธรรมชาตินั้นมาจากยางแท่ง (Block Rubber) และส่วนที่เหลืออีก 6% มาจากน้ำยางข้น (Latex)
บริษัทมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว โดยรายได้จากธุรกิจยางในปี 2565 จำแนกออกเป็นรายได้จากการส่งออกซึ่งคิดเป็น 54% และอีก 46% เป็นรายได้จากการจำหน่ายยางภายในประเทศ ในขณะที่ประมาณ 35% ของรายได้จากการส่งออกเป็นการจำหน่ายไปยังตลาดในสหภาพยุโรป ส่วนอีก 26% ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และ 19% ไปยังประเทศญี่ปุ่น ส่วนที่เหลือ 20% เป็นการส่งออกไปยังประเทศจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ เนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นในด้านคุณภาพจึงส่งผลทำให้บริษัทกลายมาเป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายที่ผ่านการรับรองจากผู้ผลิตยางล้อชั้นนำทั่วโลก
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย กลยุทธ์ดังกล่าวได้ทำให้บริษัทสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากแนวโน้มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น ประเด็นในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Reduction) เป็นต้น
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจยางธรรมชาติของบริษัทจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2568 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากแผนการขยายตลาดผนวกกับการเติบโตที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่มีต่อวัตถุดิบที่มีความยั่งยืนอีกด้วย
คาดว่าผลการดำเนินงานในธุรกิจปาล์มน้ำมันจะฟื้นตัวกลับมา
แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายด้าน แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจปาล์มน้ำมันของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไปโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลผลิตที่ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากแผนการลงทุนของบริษัท
ผลผลิตหลักของบริษัทคือน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil ? CPO) น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (Crude Palm Kernel Oil ? CPKO) และเมล็ดในปาล์ม (Palm Kernel) บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปยังโรงกลั่นน้ำมันบริสุทธิ์ โรงงานไบโอดีเซล และกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ แต่เนื่องจากเครื่องจักรอยู่ในสภาพที่เก่าและกำลังการผลิตที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงส่งผลทำให้ธุรกิจปาล์มน้ำมันของบริษัทมีอัตราผลผลิตที่ต่ำ และมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาหลายปี
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจปาล์มน้ำมันของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นทั้งในเรื่องของยอดขายและกำไร ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้ง คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบและราคาน้ำมันเมล็ดในปาล์มจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากการปรับตัวลดลงของราคาที่กลับมาสู่ระดับปรกติ โดยทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีและรายได้จากธุรกิจปาล์มน้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 1.9-2.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 เราคาดว่าธุรกิจนี้จะสามารถสร้างกำไรได้ตลอดช่วงเวลาประมาณการซึ่งเป็นไปตามแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิตของบริษัท
ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนและธุรกิจบริหารจัดการกากอินทรีย์
ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาที่มีความยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจสีเขียว บริษัทจึงได้ขยายขอบเขตกิจการไปยังธุรกิจพลังงานทดแทนและธุรกิจบริหารจัดการกากอินทรีย์ แต่เดิมนั้นบริษัทใช้กากอินทรีย์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานของตนเองมาใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่โรงงานของบริษัทในจังหวัดชลบุรี ต่อมาบริษัทก็ได้เริ่มให้บริการจัดการกากอินทรีย์แก่โรงงานอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงอีกทั้งยังพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าชชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงอีก 1 แห่งเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 4 เมกะวัตต์ด้วยโดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 1 เมกะวัตต์ ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจนี้ยังมีน้อยมากที่สัดส่วน 1% ของรายได้รวมเนื่องจากการผลิตก๊าซชีวภาพและไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่นั้นเป็นไปเพื่อการใช้ภายในกิจการของบริษัทเพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากแผนการขยายกำลังการผลิตของบริษัท
ผลการดำเนินงานทางการเงินที่ฟื้นตัวดีขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากของรายได้และอัตรากำไรที่น่าพอใจจากธุรกิจยาง ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.54 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 8.6 พันล้านบาทในปี 2561 โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate --CAGR) ที่ระดับ 16%
กำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10%-11% ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 จากระดับ 7%-8% ในช่วงระหว่างปี 2562-2563 จากอานิสงส์ของอัตรากำไรที่ปรับตัวดีขึ้นในธุรกิจยางอันเป็นผลมาจากการมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นของบริษัทและการเพิ่มขึ้นของราคายางธรรมชาติ ดังนั้น กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 900-1,100 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2565 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับประมาณ 500 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2562-2563 ในขณะที่อัตรา EBITDA Margin ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.0%-8.1% ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 โดยเปรียบเทียบกับระดับ 5.8% ในช่วงระหว่างปี 2562-2563
ในอนาคตข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับการเติบโตที่ดีและอัตรากำไรที่เหมาะสมเอาไว้ได้แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความแปรปรวน แม้ว่าราคายางธรรมชาติและปาล์มน้ำมันคาดว่าจะปรับตัวลดลงจากระดับที่สูงผิดปกติในปี 2565 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่ารายได้ของบริษัทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.36-1.55 หมื่นล้านบาทและจะมี EBITDA Margin อยู่ที่ระดับ 7.2%-7.8% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายกำลังการผลิตและการเติบโตของอุปสงค์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนกลยุทธ์ของบริษัทที่จะพลิกฟื้นผลการดำเนินงานในธุรกิจปาล์มน้ำมัน
โครงสร้างเงินทุนแข็งแกร่งขึ้น
ในเดือนกันยายน 2565 บริษัทได้ทำการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) โดยสามารถระดมทุนได้ประมาณ 1.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำเงินประมาณ 55% ของเงินเพิ่มทุนดังกล่าวไปชำระคืนหนี้เดิมที่มีอยู่และส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจและเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ เนื่องจากฐานทุนที่เพิ่มขึ้นกอปรกับผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นจึงทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงเป็นอย่างมากโดยมาอยู่ที่ระดับ 2.8 เท่า ณ สิ้นปี 2565 เมื่อเทียบกับระดับ 4.3 เท่า ณ สิ้นปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3.3-4.3 เท่าในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 55% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ภาระหนี้สินในงบการเงินรวมทั้งหมดของบริษัทเป็นหนี้เงินกู้ธนาคารที่มีหลักประกันของบริษัทย่อย โดย ณ เดือนธันวาคม 2565 อัตราส่วนหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ต่อหนี้สินรวมของบริษัทมีสัดส่วนมากกว่า 50% อย่างมาก ซึ่งบ่งบอกว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันในการเรียกร้องสิทธิ์เหนือทรัพย์สินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเป็นไปตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้ง
มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ
ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดหวังว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงเพียงพอ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าระดับ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.0-1.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 215 ล้านบาทและยังมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 2 พันล้านบาท ในการนี้ บริษัทมีดอกเบี้ยจ่ายและภาระหนี้สินระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปีข้างหน้าที่จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 200 ล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.36 หมื่นล้านบาทในปี 2566 จากราคาปาล์มน้ำมันที่คาดว่าจะลดลงกลับสู่ระดับปกติก่อนที่รายได้จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.42-1.55 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568
? อัตรา EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 7.2%-7.8% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2566 และที่ระดับ 300-400 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้ต่อไปโดยที่บริษัทจะรักษาสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอและสร้างความแข็งแกร่งของงบดุลให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและปาล์มน้ำมันได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานดีกว่าที่คาดการณ์ไว้จนส่งผลทำให้ EBITDA สูงกว่าระดับ 2.5 พันล้านบาทและ/หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ต่ำกว่า 2.5 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างชัดเจน หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายการลงทุนจำนวนมากจนส่งผลทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงจนกระทบทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
?
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TEGH)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable