ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความสามารถในการทำกำไรและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอันเป็นผลมาจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพและการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตของบริษัท
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจกุ้งแปรรูปในประเทศไทยและความคาดหวังว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะปรับตัวลดลงในอนาคต นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความผันผวนของตลาดกุ้งและสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ตลอดจนการเติบโตเพียงเล็กน้อยของรายได้ของบริษัท ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา สภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในตลาดหลักของบริษัท และการกีดกันทางการค้าอีกด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้เติบโตเพียงเล็กน้อย
บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ระดับ 6.8-7.0 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2565 เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.5-5.9 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2561-2563 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 450-550 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2565 จากที่ระดับต่ำกว่า 100 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2562-2563
รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากตลาดส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยในปี 2565 บริษัทมียอดขายจากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 97% ของรายได้รวม นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีส่วนทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2564-2565 ดีขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น 4% และ 6% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทตามลำดับ
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ในระดับคงที่ในปี 2566 และหลังจากนั้นจะเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ประมาณ 2% ต่อปีในช่วงปี 2567-2568 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่มองว่าอัตราการเติบโตของยอดขายจากการส่งออกของบริษัทจะช้าลงในตลาดหลัก เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ประเด็นกังวลดังกล่าวน่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากอัตราการเติบโตของรายได้ส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศแถบเอเชียและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า
ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวดีขึ้น
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงระหว่างปี 2564-2565 เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงเพิ่มมากขึ้นและมีการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น ในการนี้ บริษัทมีการจัดหาแหล่งวัตถุดิบส่วนใหญ่จากผู้จัดจำหน่ายทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศเพื่อให้มีวัตถุดิบที่เพียงพอและลดต้นทุนวัตถุดิบให้ต่ำลง ซึ่งทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในช่วงปี 2564-2565 จากที่ระดับประมาณ 9%-10% ในช่วงปี 2561-2563 นอกจากนี้ บริษัทยังมี EBITDA Margin ที่ปรับตัวดีขึ้นอีกด้วยเช่นกันโดยเพิ่มขึ้นเป็น 6.5%-8% ในช่วงปี 2564-2565 จาก 1%-5.5% ในช่วงปี 2561-2563 ทำให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 209-335 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2565 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิที่ระดับ 205-240 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2562-2563
กลยุทธ์ที่บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นต่อไปในอนาคตคือการมีผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลกำไรสูง นอกจากนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุนโดยการลดจำนวนพนักงานลงและใช้เครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานคนอีกด้วย ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่น่าพอใจเอาไว้ได้ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 13%-14% และ EBITDA Margin น่าจะอยู่ที่ระดับ 5%-6% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ตามอุปสงค์และราคากุ้งในตลาดโลกที่ค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา
ภาระหนี้ปรับตัวลดลง
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ในปี 2565 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.8 พันล้านบาท แต่ถือว่าลดลงจากระดับ 2.2-2.4 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2562-2563 เนื่องจากบริษัทมีรายค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่ลดลงในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 450-550 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2565 จากเดิมซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2562-2563 ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจึงปรับตัวดีขึ้นเป็น 3-4 เท่าในช่วงระหว่างปี 2564-2565 จากระดับที่มากกว่า 30 เท่าในช่วงระหว่างปี 2562-2563
เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนที่ค่อนข้างจำกัดของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 5 เท่าในช่วงปี 2566-2568 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 14%-15% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่และการซ่อมบำรุง
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วงเวลาอีก 1 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565 ระบุว่าบริษัทมีแผนการใช้เงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 52 ล้านบาท เงินลงทุนตามแผนจำนวน 100-150 ล้านบาท และการจ่ายเงินปันผลที่อัตรา 40% ในขณะที่แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 20 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 513 ล้านบาท ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 270 ล้านบาทในปี 2566
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานสำคัญ ๆ ที่ทริสเรทติ้งใช้ในการประมาณการสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 6.9-7.2 พันล้านบาทต่อปี
? อัตราส่วน EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 5%-6%
? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจะอยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางการตลาดในอุตสาหกรรมกุ้งได้ต่อไป ทั้งนี้ สถานะทางการเงินของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับปานกลางและความสามารถในการชำระหนี้ที่อยู่ในระดับเพียงพอ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถคงระดับความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้โดยมี EBITDA อยู่ในระดับที่มากกว่า 500 ล้านบาทและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 เท่าในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง หรือหากบริษัทมีการลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งอาจทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (CFRESH)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable