ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A+? รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ที่ระดับ ?A-? โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง ?Stable? หรือ ?คงที่?
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.4 หมื่นล้านบาทกำหนดไถ่ถอนภายใน 15 ปีของบริษัทที่ระดับ ?A+? ด้วยเช่นกัน โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวจะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือของบริษัทในกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหารดังต่อไปนี้ (1) ดำเนินธุรกิจ และ/หรือ (2) ขยายธุรกิจ และ/หรือ (3) ลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ และ/หรือ (4) ชำระคืนหนี้ และ/หรือ (5) ให้กู้ยืมแก่บริษัทในกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือเพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหาร
อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมระดับโลกของบริษัท ตลอดจนการมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านโปรตีน ตลอดจนความผันผวนของรายได้ที่มีอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำ กอปรกับการลงทุนและการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องซึ่งทำให้บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 อันเป็นผลมาจากธุรกิจสัตว์บกภายในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากราคาสุกรและไก่ที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอื่นของบริษัทยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากราคาธัญพืชที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 6.2 แสนล้านบาท ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 17.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 6.1 หมื่นล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นต่อไป บริษัทน่าจะยังคงได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากราคาเนื้อสัตว์ภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูงจากผลของภาวะขาดแคลนอุปทานและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในต่างประเทศของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่คลี่คลายลง ในขณะที่การผสานพลังทางธุรกิจร่วมกับบริษัทในเครือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพก็น่าจะช่วยทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าอีกด้วย ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 6.4-6.9 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 อัตราส่วน EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 10%-10.4% ในขณะที่ EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 6.4-7.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ภาระหนี้อยู่ในระดับที่สูงแต่คาดว่าจะลดลง
การลงทุนจำนวนมากและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนอาหารสัตว์ได้ส่งผลทำให้บริษัทมีหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 3.8 แสนล้านบาทในปี 2563 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทถดถอยลงมาอยู่ที่ระดับ 8.2 เท่าในปี 2565 เมื่อเทียบกับระดับ 4.5 เท่าในปี 2563 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.2% ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 59.6% ณ สิ้นปี 2563
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงจากแผนการดำเนินงานและการลงทุนจำนวนมากของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนการจะปรับปรุงสถานะทางการเงินโดยมีการพิจารณาแนวทางการลดหนี้ในหลาย ๆ ทางเลือกซึ่งรวมถึงแผนการนำบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจค้าเนื้อสดและผลิตภัณฑ์อาหารเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) ในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 7.8 เท่าในปี 2566 จากการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปแต่อัตราส่วนดังกล่าวน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 7 เท่าในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ตามแผนการลดหนี้ของบริษัท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนนั้นคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 62% ในปี 2566 และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57% ในปี 2568
สภาพคล่องที่พอเพียง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566 ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท ส่วนแหล่งที่มาของเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้โดยหลัก ๆ นั้นจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ในขณะที่บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นรวมกันทั้งสิ้นที่จำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 เป็นเงินสำรองที่มีสภาพคล่อง นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนจำนวนมากใน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) และ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 34.1% และ 8.9% ตามลำดับ โดยมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าวเมื่อคิดตามราคาตลาด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 แล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.1 แสนล้านบาทและ 3.7 หมื่นล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากเงินลงทุนเหล่านี้เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาด เงินลงทุนดังกล่าวจึงน่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทในช่วงที่ขาดแคลนสภาพคล่องได้
ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และผลิตภัณฑ์
ฐานการผลิตและตลาดที่มีความหลากหลายในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ช่วยลดความเสี่ยงในด้านการดำเนินงานให้แก่บริษัทลงได้บางส่วน ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีฐานการผลิตอยู่ใน 17 ประเทศซึ่งตั้งอยู่ใน 4 ทวีป และในปี 2565 รายได้รวมของบริษัทประมาณ 36% มาจากฐานการผลิตในประเทศไทยและอีก 64% มาจากฐานการผลิตในต่างประเทศ
แหล่งรายได้หรือตลาดของบริษัทนั้นมีการกระจายตัวในหลากหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ยอดขายในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 31% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2565 ในขณะที่ยอดขายในทวีปเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตในปัจจุบันนั้นมีสัดส่วนมากที่สุดซึ่งคิดเป็น 49% ของยอดขายรวม ส่วนประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 13% และ 6% ตามลำดับเท่านั้น ทั้งนี้ ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายฐานธุรกิจให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางยิ่งขึ้นนั้นยังช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดจากโรคระบาดและการกีดกันทางการค้าอีกด้วย
ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ก็ช่วยลดความผันผวนของกำไรของบริษัทลงได้อีกส่วนหนึ่งด้วย บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าสัตว์บกและสัตว์น้ำที่ครบวงจรโดยมีผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อสุกร และกุ้ง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทมากที่สุดในปี 2565 คือธุรกิจฟาร์มซึ่งประกอบด้วย ไก่ สุกร และกุ้งซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 55% ของรายได้รวม ตามมาด้วยรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์ 24% และธุรกิจอาหาร 21%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6.4-6.9 แสนล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2568
? EBITDA จะอยู่ในระดับประมาณ 6.4-7.2 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2568
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2568 โดยไม่รวมการซื้อกิจการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเอาไว้ได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าความหลากหลายของการดำเนินงาน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ และตลาดของบริษัทจะช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของสินค้าการเกษตรซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสินค้าโภคภัณฑ์และจากโรคระบาดลงได้บางส่วน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับที่คาดการณ์ไว้ หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อซื้อกิจการจนส่งผลให้งบดุลและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CPF235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,940 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPF244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,407.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF246B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,725 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPF251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,460 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPF257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPF261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 13,064.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
CPF268A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,989.1 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
CPF276A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,164.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF276B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,643 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF277A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPF281A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,540 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF281B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,028.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF288A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,079.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF28NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPF308A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,806 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
CPF30NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
CPF311A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,034.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPF314A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPF326A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 940 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+
CPF328A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A+
CPF331A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,372.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A+
CPF356A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,120 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2578 A+
CPF418A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+
CPF41DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 A+
CPF22PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 15,000 ล้านบาท A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 14,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 15 ปี A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable