ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์อันยาวนานของบริษัทในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ตลอดจนภาระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ การบริหารความเสี่ยงที่ดี และความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับปานกลาง
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสถานะทางการตลาดในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ของบริษัทที่ค่อนข้างต่ำ ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่ไม่มีความหลากหลาย และสถานะสภาพคล่องที่อยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงลักษณะธุรกิจของบริษัทที่มีความเสี่ยงในด้านการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์และการจำหน่ายหลักประกันอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีประสบการณ์ที่ยาวนานด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ยังมีขนาดเล็ก
ปัจจุบันสถานะทางธุรกิจของบริษัทได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับ ?ปานกลาง? เมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับปานกลางและประสบการณ์ที่ยาวนานของคณะผู้บริหาร โดยหากบริษัทสามารถขยายธุรกิจได้อย่างมั่นคงผ่านการซื้อสินทรัพย์และการจัดเก็บเงินสดที่สม่ำเสมอและต่อเนื่องก็อาจส่งผลในด้านบวกต่อสถานะเครดิตของบริษัทได้
ในแง่ของสถานะทางการตลาดนั้น ในขณะที่ในปี 2565 แม้บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในประเทศไทย แต่บริษัทก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดตามขนาดของสินทรัพย์เพียงเล็กน้อยที่ระดับ 2.2% เท่านั้น โดยสินทรัพย์รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของอุตสาหกรรมที่ระดับ 2.73 แสนล้านบาท การซื้อสินทรัพย์ที่เป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่องโดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของหลายครั้งนั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การเติบโตของสินทรัพย์ของบริษัทเป็นไปอย่างเชื่องช้าในอดีต
อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทก็มีปัจจัยสนับสนุนบางส่วนจากกระแสเงินสดรับจากการจัดเก็บเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอนแม้ว่าบริษัทจะมีการซื้อสินทรัพย์ที่ไม่สม่ำเสมอก็ตาม นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีมุมมองในเชิงบวกเกี่ยวกับประสบการณ์ที่กว้างขวางและความเชี่ยวชาญของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่อยู่ในแวดวงธุรกิจนี้มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเอาไว้ได้
ทริสเรทติ้งยังเชื่อว่าระบบปฏิบัติงานและการจัดการข้อมูลของบริษัทที่มีอยู่นั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตในอนาคตและลดความเสี่ยงที่มีอยู่ในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้
มีภาระหนี้ในระดับต่ำ
ทริสเรทติ้งประเมินให้สถานะเงินทุนและการก่อหนี้ของบริษัทในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ ?แข็งแกร่ง? โดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity (D/E) Ratio) แม้บริษัทจะมีแผนการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ตาม ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเฉลี่ยที่ถ่วงน้ำหนักของบริษัทในช่วง 5 ปีจะอยู่ที่ 1.17 เท่าเมื่อเทียบกับ 0.71 เท่า ณ สิ้นปี 2565 โดยอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest-bearing Debt to Equity (IBD/E) Ratio) ของบริษัทนั้นอยู่ที่ระดับ 0.67 เท่า ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าข้อกำหนดของสัญญาเงินกู้ที่น้อยกว่า 2.0 เท่าอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทมีแผนการที่จะซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ราคาทุนประมาณ 1.5-4.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ทั้งนี้ เพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตตามแผนดังกล่าว บริษัทอยู่ในช่วงของการยื่นเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering -- IPO) และการยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้
เมื่อพิจารณาจากแผนการซื้อสินทรัพย์แล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทในกรณีพื้นฐานที่ไม่ยังไม่รวม IPO จะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าและจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการประเมินของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับสถานะเงินทุนและการก่อหนี้ที่ระดับ "แข็งแกร่ง" ของบริษัทต่อไป จากการคาดการณ์ว่ามูลค่าการเสนอขาย IPO จะอยู่ที่ 2-3 พันล้านบาทและอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 40% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทมีแนวโน้มจะลดต่ำลงกว่า 1 เท่า แม้ว่าปัจจัยดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การประเมินสถานะเงินทุนและการก่อหนี้ที่สูงขึ้นที่ระดับ ?แข็งแกร่งมาก? แต่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจไม่เกิดขึ้นในทันทีเนื่องจากกรณีดังกล่าวยังอาจขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางธุรกิจที่ดีขึ้นซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากการที่บริษัทมีการซื้อสินทรัพย์ใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลางโดยมีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้น
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Assets -- ROAA) นั้นได้รับการประเมินที่ระดับ ?ปานกลาง? โดยทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าต้นทุนในการดำเนินงานอาจจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ จากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.0% ในปี 2565 นั้น ทริสเรทติ้งประเมินว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับ 4%-5% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
ในปี 2565 บริษัทมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 223 ล้านบาทจาก 1 ล้านบาทในปี 2564 จากการปรับตัวที่ดีขึ้นของธุรกิจบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-performing Loan -- NPL) และธุรกิจบริหารสินทรัพย์รอการขาย (Non-performing Asset -- NPA) รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 53% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมาอยู่ที่ระดับ 894 ล้านบาทโดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากรายได้ที่มาจากการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งประกอบด้วยดอกเบี้ยรับและกำไรจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ บริษัทมีรายได้จากการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นสัดส่วน 75% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้น 58% เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนรายได้จากการบริหารสินทรัพย์รอการขายนั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 21% ของรายได้รวม โดยปรับเพิ่มขึ้น 67% จากปีก่อนหน้า ในแง่ของกระแสเงินสดรับจากการจัดเก็บเงินสดนั้นทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดเก็บเงินสดได้สูงถึงประมาณ 2.5 พันล้านบาทในปี 2568 จาก 1.5 พันล้านบาทในปี 2565 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่คาดว่าอัตราการจัดเก็บเงินสดต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Cash Collection to Average Asset Ratio) ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 22%-25% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
ส่วนในด้านต้นทุนนั้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทอยู่ในช่วง 30%-40% ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ดอกเบี้ยจ่ายสำหรับภาระหนี้ต่าง ๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและค่าธรรมเนียมทางกฎหมายนั้นถือเป็นส่วนสำคัญของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีค่าธรรมเนียมทางกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเนื่องจากความซับซ้อนและกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30% ในปี 2568 จากระดับ 38% ในปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ที่แข็งแกร่งขึ้นเนื่องจากบริษัทมีการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพิ่มมากขึ้น
แหล่งเงินทุนที่ไม่มีความหลากหลายด้วยสถานะสภาพคล่องปานกลาง
ทริสเรทติ้งประเมินให้สถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับ ?ปานกลาง? เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทเพิ่งกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเนื่องจากในอดีตนั้นบริษัทพึ่งพาส่วนของผู้ถือหุ้นและเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการซื้อสินทรัพย์มากกว่า ทั้งนี้ บริษัทมีการใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารน้อยกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ซึ่งมักมีการผสมผสานกันระหว่างการกู้ยืมจากธนาคารรวมทั้งการออกหุ้นกู้และตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหลักสำหรับใช้ในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
บริษัทมีภาระหนี้ซึ่งจะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวนประมาณ 1.7 พันล้านบาท ในขณะเดียวกันบริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้นจำนวน 800 ล้านบาท อีกทั้งยังมีหุ้นกู้ระยะยาวจำนวน 1.6 พันล้านบาทที่ออกโดยบริษัทลูกคือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไวร์เลส จำกัด (WAMC) ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมิถุนายน 2566 นี้อีกด้วย ในการนี้ บริษัทมีแผนจะรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ของ WAMC ด้วยหุ้นกู้ใหม่ที่ออกโดยบริษัทเอง
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็มองว่าบริษัทมีความเสี่ยงจากความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สิน ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2565 ประมาณ 77% ของภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทเป็นหนี้ระยะสั้นเมื่อเทียบกับอายุเฉลี่ยของการครบกำหนดในช่วง 5-7 ปีของสินทรัพย์ โดย 69% ของภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทที่เป็นหนี้ระยะสั้นนี้เป็นส่วนของหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในวิสัยที่สามารถจัดการได้ โดยเงินสดที่เรียกเก็บจากการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขายนั้นสามารถนำมาใช้เสริมสภาพคล่องและใช้ชำระหนี้อื่น ๆ ได้ในกรณีที่จำเป็น นอกจากนี้ แผนการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทก็น่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทในอนาคตได้อีกด้วย
มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีแต่มีปัจจัยลดทอนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัว
ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับ ?ปานกลาง? ซึ่งใกล้เคียงกับบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทได้นำเอากรอบการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบซึ่งมีการจัดการฐานข้อมูลและระบบปฏิบัติการที่เหมาะสมเพียงพอ โดยช่องทางการทำธุรกรรม (Operating Platform) ได้รับการพัฒนามาจากระบบที่ บริษัท บริหารสินทรัพย์อัลฟา แคปปิตอล จำกัด (ALPHA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกอีกรายหนึ่งของบริษัทนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงการก่อตั้งในปี 2541 เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพของ GE Capital ทั้งนี้ ระบบการจัดการความเสี่ยงซึ่งได้รับการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตลาดในปัจจุบัน เมื่อผนวกกับฐานข้อมูลที่กว้างขวางและพนักงานที่มีประสบการณ์แล้วก็คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพซึ่งรวมไปถึงการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ การกำหนดราคา และการจำหน่ายหลักประกันได้
อย่างไรก็ตาม มุมมองในเชิงบวกของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงของบริษัทก็ถูกลดทอนโดยความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งมีบัญชีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 20 อันดับแรกคิดเป็น 54% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพทั้งหมดของต้นทุน ณ สิ้นปี 2565 หากเกิดกรณีที่บัญชีสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ใหญ่ที่สุด 2 บัญชีซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 40% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพทั้งหมดมีการชำระคืนหนี้ที่ใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่มีนัยสำคัญได้ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสองบัญชีใหญ่นี้แล้ว ส่วนที่เหลือของสินเชื่อด้อยคุณภาพของบริษัทถือว่ามีขนาดที่เล็กกว่ามากโดยมีขนาดไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อบัญชีและมีความหลากหลายค่อนข้างดีในแง่ของประเภทและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวก็มีปัจจัยที่ช่วยลดทอนลงได้บางส่วนจากต้นทุนการซื้อสินทรัพย์ที่ต่ำของบริษัทเมื่อเทียบกับราคาประเมินของหลักประกันและจากการที่มูลค่าหลักประกันอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อด้อยคุณภาพจะค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากบริษัทมีแผนมุ่งเน้นที่จะซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีขนาดเล็กลงให้มากขึ้น
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ดังนี้
? การซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพใหม่จะอยู่ที่ระดับ 1.5-4.0 พันล้านบาทต่อปี
? อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 2 เท่า
? เงินสดที่จัดเก็บได้จากการบริหารสินทรัพย์ต่อสินทรัพย์เฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 24%
? อัตราส่วนต้นทุนทางการเงินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7% ของเงินกู้ยืมเฉลี่ย
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 35%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะเงินทุนและผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่งได้ต่อไป อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถรักษาเสถียรภาพทางธุรกิจได้ด้วยการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพใหม่ที่มีความสม่ำเสมอมากขึ้นและปรับปรุงสถานะเงินทุนให้ดีขึ้นในขณะที่ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรพร้อมทั้งดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.0 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลงหากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกินกว่าสมมติกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งที่ 1.5 เท่า หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทลดลงต่ำกว่า 3.50% อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ACPG)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html