ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศของบริษัทจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีพื้นฐานมาจากอุปสงค์การเดินทางที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเปิดประเทศของจีน และแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นจากการที่รัฐบาลของประเทศกัมพูชามีนโยบายกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังวางแผนจะเปิดสนามบินนานาชาติใหม่อีก 3 แห่งในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ซึ่งจะเพิ่มความจุของสนามบินเพื่อรองรับเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ในช่วงประมาณการระหว่างปี 2566-2568 นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศและเที่ยวบินที่บินผ่านจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เติบโตขึ้น โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากบริการจัดการจราจรทางอากาศของบริษัทในประเทศกัมพูชาในปี 2566 จะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 75% ของระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด ก่อนที่จะเกินกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดในปี 2568
ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2566 การจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยมีเที่ยวบินรวมกว่า 22,000 เที่ยว หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของระดับก่อนมีการแพร่ระบาด ในขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศของบริษัทในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันล้านบาทจาก 456 ล้านบาทในปีก่อนหน้าและเปรียบเทียบกับ 2 พันล้านบาทในปี 2562
โครงการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding Project) เป็นไปตามแผน
บริษัทได้ทำการติดตั้งระบบสำหรับโครงการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์แล้วเสร็จและเริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา โดยบริษัทได้พิมพ์รหัสควบคุมที่ใช้สำหรับการชำระภาษีสรรพสามิตบนบรรจุภัณฑ์เบียร์มากกว่า 2,600 ล้านรหัสและสร้างรายได้ประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2565 โครงการนี้เป็นโครงการ ICT ของกรมสรรพสามิตระยะเวลาดำเนินการ 7 ปีมูลค่าประมาณ 8.03 พันล้านบาทซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเบียร์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการใหม่นี้จะสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอและแน่นอนให้แก่บริษัทประมาณปีละ 1 พันล้านบาทในระยะเวลา 7 ปี
ธุรกิจวิทยุสื่อสารมีรายได้เพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัล (Digital Trunked Radio System ? DTRS -- Business) จะเติบโตเนื่องจากโครงการที่บริษัทดำเนินการให้แก่กระทรวงมหาดไทยเริ่มกลับมาดำเนินการได้แล้ว โดยโครงการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลของกระทรวงมหาดไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการสื่อสารในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศจำนวน 75,000 หมู่บ้านซึ่งกระทรวง ฯ มีการสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องลูกข่ายวิทยุสื่อสารให้แก่ผู้ใช้งานรายย่อย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายอำเภอจำนวนทั้งสิ้น 76,236 เครื่องในปี 2565 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขาดแคลนชิป (Chip) สำหรับอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร ซัพพลายเออร์จึงไม่สามารถส่งมอบเครื่องลูกข่ายได้ตามกำหนดและทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไปอีก 1 ปี
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลจะเติบโตขึ้นทั้งในด้านของยอดขายอุปกรณ์และค่าบริการการสื่อสาร (Airtime Fee) โดยบริษัทจะส่งมอบเครื่องลูกข่ายสำหรับโครงการของกระทรวงมหาดไทยอีกกว่า 60,000 เครื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ และจะเริ่มมีรายได้จากการให้บริการการสื่อสารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ บริษัทยังได้งานโครงการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วย โดยบริษัทได้ส่งมอบเครื่องลูกข่ายประมาณ 9,000 เครื่องและเริ่มรับรู้รายได้ค่าบริการการสื่อสารในปี 2565 ซึ่งทำให้ฐานลูกค้าหลักในส่วนของบริการดังกล่าวของบริษัทในช่วงหลายปีข้างหน้าจะมาจากโครงการของ กฟภ. ซึ่งมีผู้ใช้งานรายย่อยประมาณ 9,000 รายและจากโครงการของกระทรวงมหาดไทยอีก 76,236 ราย นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนการที่จะเข้าถึงจำนวนผู้ใช้งานให้มากขึ้นจากโครงการรับมือด้านภัยพิบัติต่าง ๆ และ/หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงต่าง ๆ อีกด้วย
ผลการดำเนินงานจะฟื้นตัว
ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งซึ่งครอบคลุมช่วงระหว่างปี 2566-2568 คาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีโดยพิจารณาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ประจำจากธุรกิจให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศและโครงการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์รวมถึงการฟื้นตัวของโครงการต่าง ๆ ที่เคยมีความล่าช้า และงานในมือของโครงการในธุรกิจ ICT และสถานีไฟฟ้าย่อย
ธุรกิจ ICT Solutions เป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มสามารถโดยมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 50%-60% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2565 ธุรกิจนี้ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL) มีรายได้เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 4.9 พันล้านบาท บริษัทมีงานในมือในธุรกิจ ICT Solutions มูลค่ารวมทั้งสิ้นเกือบ 6 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2566 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจ ICT Solutions ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับปีละ 5-5.5 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยมีฐานรายได้จากการให้บริการที่ประมาณปีละ 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ แหล่งที่มาของรายได้จากการให้บริการที่สำคัญจะมาจากโครงการวางระบบ ICT แบบครบวงจรสำหรับสาขาธนาคาร โครงการมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Automatic Meter Reading -- AMR) และโครงการวางแผนระบบทรัพยากรในองค์กร (Enterprise Resource Planning -- ERP) ของ กฟภ. ในขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือจะมาจากโครงการแบบครบวงจร (Turnkey Projects)
นอกจากนี้ ในธุรกิจออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าย่อย (Power Systems and Substation Design and Installation Business) นั้น บริษัทยังมีงานในมือมูลค่าทั้งสิ้นอีกจำนวน 2.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งประมาณ 55% จะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2566 และประมาณ 45% จะรับรู้ในช่วงระหว่างปี 2567-2568 อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้บริษัทยังได้งานโครงการใหม่ในการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มูลค่าประมาณ 2.4 พันล้านบาทอีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของบริษัทในอุตสาหกรรม ICT แล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้งานโครงการใหม่ ๆ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการจำนวนมากทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและที่จะได้รับการผลักดันจากแนวโน้มการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ของประเทศไทย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการประมูลโครงการ ICT แบบครบวงจรโครงการใหม่ ๆ จะมีเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้นลง
กำไรและอัตรากำไรจะฟื้นตัวกลับมา
กำไรของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2563-2564 ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และความล่าช้าของโครงการ อย่างไรก็ตาม กำไรของบริษัทเริ่มฟื้นตัวในปี 2565 โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ระดับประมาณ 1.3 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 640 ล้านบาทในปี 2564 และมีอัตรา EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.7% ในปี 2565 หลังจากลดลงเหลือ 9% ในปี 2564
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อพิจารณาจากรายได้ประจำซึ่งมีอัตรากำไรสูงที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับปีละ 1.85-2.3 พันล้านบาทและอัตรา EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 15.5%-20% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาโดยอยู่ที่ระดับปีละ 1.3-1.6 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินจะปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรที่ปรับตัวดีขึ้นจะช่วยทำให้อัตราส่วนกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 9.5 พันล้านบาทจนถึง1.05 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2566-2568 เมื่อพิจารณาจากเงินลงทุนในโครงการ ICT ใหม่ ๆ ตลอดจนในธุรกิจให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ และการลงทุนในโครงข่ายวิทยุสื่อสาร ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ปีละ 1-1.6 พันล้านบาทและบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับ 5.6 เท่าในปี 2566 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4-4.5 เท่าในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ระดับ 12%-17% ในช่วงประมาณการ และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ระดับ 65%-72%
ประมาณ 58% ของหนี้ทั้งหมดของบริษัทเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งประกอบไปด้วยหนี้สินของบริษัทย่อยและหนี้เงินกู้โครงการซึ่งมีการโอนสิทธิ์รับเงินไปที่เจ้าหนี้โครงการ เนื่องจากสัดส่วนดังกล่าวมากเกินกว่าระดับ 50% ตามเกณฑ์ของทริสเรทติ้ง ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบในการเรียกร้องค่าทดแทนจากสินทรัพย์ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน
สภาพคล่องคาดว่าจะบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทน่าจะอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีความต้องการในการใช้เงินทุนทั้งเพื่อการลงทุนและเพื่อการชำระหนี้ที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ บริษัทมีหนี้สินระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566 จำนวนประมาณ 2.2 พันล้านบาทและตั้งงบประมาณสำหรับการลงทุนในปี 2566 ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 1.8 พันล้านบาทและยังมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวนประมาณ 3.4 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2566 ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3 พันล้านบาทในปี 2566
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการที่จะนำบริษัทย่อยในกลุ่ม คือ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (SAV) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย โดย SAV เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจควบคุมการจราจรทางอากาศซึ่งมีรายได้หลักจากการให้บริการจัดการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา บริษัทมีเป้าหมายที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (Initial Public Offering ? IPO) เพื่อนำบริษัทย่อยดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นไปใช้ชำระคืนหนี้สินที่มีอยู่และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเป็นหลัก ทั้งนี้ คาดว่า IPO จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานเงินทุนของบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
? รายได้จะอยู่ในช่วง 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 15.5%-20%
? เงินลงทุนโดยรวมทั้งสิ้นจะอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะในการเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจ ICT Solutions ในประเทศไทยได้ต่อไปและจะมีผลการดำเนินงานทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับประมาณการของทริสเรทติ้งเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินในทิศทางลดลงตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ การปรับขึ้นของอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีโครงสร้างเงินทุนปรับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอย่างต่อเนื่องจากแผน IPO ของบริษัท SAV ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัทถดถอยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก หรือสถานะทางการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนที่มีการก่อหนี้จำนวนมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable