ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็น ?บริษัทลูกหลัก? (Core Subsidiary) ของ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART) เป็นสำคัญ ซึ่งตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตของบริษัทลูกหลักโดยปกติแล้วจะอยู่ในระดับเดียวกับสถานะเครดิตของกลุ่ม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีฐานะเป็นบริษัทลูกหลักของ SAMART
ทริสเรทติ้งประเมินให้บริษัทมีสถานะเป็น ?บริษัทลูกหลัก? ของ SAMART ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2566 SAMART มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 70% คณะผู้บริหารและกลยุทธ์กลุ่มของบริษัททั้ง 2 แห่งนั้นมีบูรณาการร่วมกันและพึ่งพากันในระดับสูง โดยบริษัทถือเป็นบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของกลุ่มที่มีความชำนาญพิเศษในการให้บริการวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร หรือ ICT Solutions รวมถึงการให้บริการด้านนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovations) แก่ลูกค้าทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ การดำเนินงานของบริษัทมีความสำคัญต่อกลุ่มเป็นอย่างมากโดยบริษัทสร้างรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้แก่กลุ่มในสัดส่วนประมาณ 60% โดยเฉลี่ยของรายได้และกำไรของกลุ่มในช่วงระหว่างปี 2562-2565
มีผลงานที่ปรากฏในการดำเนินโครงการภาครัฐ
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Solutions) และการรับจ้างให้บริการโดยบุคคลภายนอก (Outsourcing Services) กล่าวคือ บริษัทมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับคู่ค้าที่หลากหลายและลูกค้ารายสำคัญ ๆ บนพื้นฐานการดำเนินงานและประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัท ดังนั้น ความเชี่ยวชาญและผลงานในการรับงานโครงการภาครัฐจึงจะยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อกลุ่มในการรักษาความมั่นคงให้แก่ธุรกิจในด้านนี้ต่อไปในอนาคต
เป็นผู้สร้างรายได้หลักให้แก่ ?กลุ่มสามารถ?
จากการมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและผลงานที่เป็นที่ยอมรับ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะยังดำรงสถานะทางการแข่งขันในตลาดที่บริษัทดำเนินงานและจะยังคงเป็นผู้สร้างรายได้หลักให้แก่ ?กลุ่มสามารถ? (SAMART Group) ต่อไป ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ที่ระดับ 6.4 พันล้านบาทซึ่งประมาณ 2.5 พันล้านบาทจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2566 ในขณะที่จำนวน 1.8 พันล้านบาทจะรับรู้ในปี 2567 และอีกประมาณ 700 ล้านบาทจะรับรู้ในปี 2568
ผลการดำเนินงานของบริษัทอาจมีความผันผวนซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจที่มีลักษณะเป็นโครงการ ปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งท้าทายที่ทำให้บริษัทต้องหาโครงการใหม่ ๆ เข้ามาให้ได้อย่างต่อเนื่อง ในการนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้ด้วยการหางานที่มีรายได้จากสัญญาให้บริการให้มากขึ้น ในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากสัญญาให้บริการประมาณ 1.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในระยะอันสั้นทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากสัญญาให้บริการของบริษัทจะใกล้เคียงกับระดับในปี 2565 และรายได้จากงานขายและรับเหมาติดตั้งระบบ (Trading/Turnkey Project) จะยังคงเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทต่อไป ทริสเรทติ้งมองว่าฐานรายได้จากสัญญาให้บริการซึ่งสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้บริษัทมีรายได้ที่มีเสถียรภาพมากขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจตามแผน
จากการที่ลูกค้าหลักของบริษัทเป็นหน่วยงานภาครัฐ การเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 อาจส่งผลกระทบชั่วคราวต่อบริษัทในแง่ของการจัดสรรงบประมาณตลอดจนนโยบายของรัฐบาลใหม่ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งกระทบผลต่อบริษัทไม่มากนักเมื่อพิจารณาจากจำนวนโครงการที่บริษัทดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบ IT ของประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบไปด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 500 ล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 593 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ตลอดจนวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1.4 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีหนี้ที่จะต้องจ่ายชำระรวมจำนวน 1.7 พันล้านบาท
เนื่องจากหนี้สินของบริษัทส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นและเป็นเงินกู้โครงการซึ่งมีการโอนสิทธิ์รับเงินไปที่เจ้าหนี้โครงการตามเงื่อนไขของสัญญา ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทอาจมีสถานะที่ด้อยสิทธิ์อย่างมีนัยสำคัญในด้านลำดับสิทธิเรียกร้องเหนือสินทรัพย์ของบริษัทเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันหรือเจ้าหนี้โครงการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ของบริษัทขึ้นอยู่กับแนวโน้มอันดับเครดิตที่ทริสเรทติ้งจัดให้แก่ SAMART
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ SAMART ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการทบทวนหากทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะของบริษัทที่มีต่อกลุ่มสามารถนั้นเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable