ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลระดับโลก ตลอดจนแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับ กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ ฐานการผลิตที่กระจายตัว และแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความผันผวนของปริมาณอ้อยและราคาน้ำตาล ตลอดจนความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลของบริษัทในต่างประเทศ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปี 2565 อันมีสาเหตุมาจากราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตลอดจนปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในหลายพื้นที่ ธุรกิจเอทานอลและธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็ได้รับผลบวกจากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นและการผ่อนคลายจากสถานการณ์โรคโควิด 19 จากปัจจัยดังกล่าว รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 28.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.36 แสนล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 64.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 2.1 หมื่นล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาผลการดำเนินงานที่ดีไว้ได้ในปี 2566 จากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่นานนี้ ในขณะที่สามารถรักษาระดับปริมาณอ้อยในฤดูกาลปัจจุบันไว้ได้ ราคาน้ำตาลแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 20.8 เซนต์ต่อปอนด์ ในไตรมาสแรกของปี 2566 ในขณะที่ปริมาณอ้อยของบริษัทอยู่ในระดับคงที่ประมาณ 4.6 ล้านตันในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2565/66 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2567-2568 จะเผชิญแรงกดดันจากการลดลงของปริมาณอ้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องมาจากภัยแล้งอันเป็นผลมาจากสถานการณ์เอลนิโญ่
ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.36 แสนล้านบาทในปี 2566 และอยู่ที่ระดับ 1.2-1.25 แสนล้านบาทต่อปีในปี 2567-2568 จากปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะลดลง ราคาน้ำตาลโลกคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20 เซนต์ต่อปอนด์ในปีบัญชี 2566 และอยู่ที่ระดับ 15-17 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2567-2568 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 16% ในปี 2566 และจะอยู่ที่ระดับ 13%-15% ในปี 2567-2568
อัตราส่วนภาระหนี้สินลดลงอย่างมาก แต่ยังมีการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต
แม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนขนาดใหญ่และต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทก็ลดลงอย่างมากจากอัตรากำไรที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 9.57 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เพิ่มจาก 9.28 หมื่นล้านบาทในปี 2564 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 4.6 เท่าในปี 2565 จากระดับ 7.2-7.3 เท่าในปี 2563-2564 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.8% ในปี 2565 เทียบกับระดับ 56% ในปี 2563-2564 กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.4% ในปี 2565 จากระดับ 9%-10% ในปี 2563-2564
ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังมีภาระหนี้ในระดับที่สูงจากแผนการลงทุนจำนวนมาก อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 45%-50% ในปี 2566-2568 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2 เท่าในปี 2566 และอยู่ที่ระดับ 5-5.3 เท่าในปี 2567-2568 จากการคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตอ้อยจะลดลง
ธุรกิจพลังงานช่วยรองรับความผันผวนของรายได้
บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้ารวม 683.8 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้าที่ทำกับหน่วยงานราชการของไทยรวม 304.1 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตเอทานอลสูงสุดนั้นอยู่ที่ 1.5 ล้านลิตรต่อวัน
จากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น การขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ผ่อนคลายลง รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) ของบริษัทเพิ่มขึ้น 25.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.43 หมื่นล้านบาทในปี 2565
ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและเอทานอลรวมกันเกือบประมาณ 20% ของรายได้รวม ทั้งนี้ กระแสเงินสดที่มั่นคงจากการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในธุรกิจพลังงานมีส่วนช่วยพยุงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่เกิดภาวะราคาน้ำตาลตกต่ำได้บางส่วน
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทจะมีหุ้นกู้จำนวน 5.1 พันล้านบาทและเงินกู้ระยะยาวจำนวนประมาณ 2.1 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระรวมทั้งจะมีงบเพื่อการลงทุนอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนแหล่งเงินทุนนั้นจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทมาจากเงินสดในมือและหลักทรัพย์ระยะสั้นมูลค่ารวม 4.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ทริสเรทติ้งยังมองว่าความสามารถที่บริษัทจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกทั้งจากตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศและเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิเรียกร้องก่อน (Priority Debt) จำนวน 1.31 หมื่นล้านบาทจากจำนวนหนี้สินทางการเงินทั้งหมด (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) จำนวน 9.38 หมื่นล้านบาท หนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิเรียกร้องก่อนส่วนใหญ่เป็นหนี้สินของบริษัทย่อยของบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิเรียกร้องก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 14%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.36 แสนล้านบาท ในปี 2566 และ 1.2-1.25 แสนล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2567-2568
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ 16% ในปี 2566 และ 13%-15% ในปี 2567-2568
? ค่าใช้จ่ายส่วนทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.8-1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและประเทศจีนต่อไปได้ โดยบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันจากฐานการผลิตที่กระจายตัว และแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของธุรกิจน้ำตาลได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและมีระดับหนี้สินที่ลดลง และทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลานาน
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทมีภาระหนี้สูงเกินกว่าคาดหรือมีอัตรากำไรอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ซึ่งอาจมีแนวโน้มทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC236A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,610 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
MPSC256B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,210 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
MPSC259A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
MPSC26DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
MPSC286A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,630 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
MPSC28DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
MPSC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A
MPSC31NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
MPSC33NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable