ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่” ที่ “AA+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 26, 2023 11:29 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?AA+? โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง ?Stable? หรือ ?คงที่?

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทนั้นมีการปรับเพิ่มขึ้น 2 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Standalone Credit Profile ? SACP) ที่ระดับ ?aa-? สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศที่มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. อันดับเครดิต ?AAA/Stable?) และกลุ่ม ปตท. อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นในช่วงที่บริษัทกำลังขยายกิจการในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศ

ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีสินทรัพย์โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยมีกำลังการผลิตที่ดำเนินงานแล้วสุทธิตามสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 6,397 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดที่ขนาด 3,322 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 52% ของกำลังการผลิตรวม ตามมาด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ขนาด 2,261 เมกะวัตต์ (35%) และโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งมีกำลังการผลิตรวมที่ขนาด 814 เมกะวัตต์ (13%)

กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,974 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักซึ่งประกอบไปด้วยการขยายกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้ Avaada Energy Private Ltd. (Avaada) ในประเทศอินเดีย และการเปิดดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไต้หวัน ทำให้สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% ของกำลังการผลิตรวมในปี 2568 นอกจากนี้ บริษัทยังคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานหน่วยผลิตไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU) ภายในปี 2568 อีกด้วย

โรงไฟฟ้ามีความหลากหลาย

บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวหลากหลาย โดยบริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้ว 37 แห่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

โรงไฟฟ้าของบริษัทประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้า 6 แห่งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2,439 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 38% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท บริษัทยังมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอีก 20 แห่งที่อยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 2,115 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 33% ของกำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอีกด้วย ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีก 29% นั้นกระจายตัวอยู่ในโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

กำลังการผลิตประมาณ 66% ของบริษัทมาจากโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและกำลังการผลิตที่เหลืออีก 34% มาจากโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศทั้งประเทศอินเดีย ไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว

บริษัทมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการที่โรงไฟฟ้าของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 รายได้จาก กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 46% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท ส่วนไฟฟ้าและไอน้ำที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 51% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท

บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา IPP และ SPP โดยสัญญาที่มีกับ กฟผ. ส่วนใหญ่มีอายุสัญญาที่ประมาณ 21-25 ปี สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPP นั้น บริษัทจะได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment -- AP) เต็มจำนวนตราบเท่าที่โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความพร้อมในการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาถึงแม้ว่า กฟผ. จะไม่ได้สั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเลยก็ตาม ในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SPP นั้นมีความแตกต่างเล็กน้อยจากโรงไฟฟ้า IPP ซึ่งประกอบไปด้วย ภาระผูกพันในการซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ และกลไกการส่งผ่านราคาก๊าซในสูตรราคาค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา SPP แบบ Non-firm เพื่อช่วยบริหารจัดการเรื่องการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่มีข้อบังคับให้บริษัทต้องจ่ายกระแสไฟฟ้า อีกทั้งบริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าภาคอุตสาหกรรมหลายรายในเขตพื้นที่มาบตาพุดอีกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวมีอายุระหว่าง 5-15 ปี

ขยายกำลังการผลิตไปยังพลังงานหมุนเวียน

บริษัทมุ่งหวังที่จะขยายกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นจาก 2,261 เมกะวัตต์ในปี 2565 โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตภายในปี 2573 ทั้งนี้ หนึ่งในพื้นที่หลักที่จะเติบโตมาจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดียผ่านการลงทุนในบริษัท Avaada

ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 Avaada ชนะการประมูลโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดียโดยมีกำลังการผลิตรวม 1,886 เมกะวัตต์ เป็นผลให้กำลังการผลิตรวมของ Avaada เพิ่มขึ้นเป็น 6,520 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับ 2,799 เมกะวัตต์เมื่อคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของ Avaada บริษัทได้เพิ่มทุนให้แก่ Avaada จำนวน 2.5 พันล้านบาทเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 โดยเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อชำระคืนหนี้ที่มีอยู่เดิมของ Avaada และเพื่อลงทุนในโครงการใหม่ ๆ โดย ณ เดือนเมษายน 2566 บริษัทมีเงินลงทุนใน Avaada จำนวน 1.71 หมื่นล้านบาท

นอกเหนือจากโครงการในต่างประเทศแล้ว บริษัทยังเพิ่งได้รับเลือกให้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยโดยมีจำนวนกำลังการผลิตรวม 16 เมกะวัตต์หรือคิดเป็นกำลังการผลิตสุทธิจำนวน 8 เมกะวัตต์

ผลการดำเนินงานฟื้นตัวในปี 2566

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2566 โดยกำไรของบริษัทในปี 2565 ถูกกดดันจากจากราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมโดยอิงตามอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft อย่างไรก็ตาม การปรับค่า Ft นั้นจะล่าช้ากว่าและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าจะปรับในช่วงเวลาไหนและที่อัตราเท่าใด

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นจนทำสถิติที่ระดับสูงกว่า 550 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่การปรับเพิ่มค่า Ft ยังคงต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทลดลงเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จาก 2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 154.92 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจาก 93.43 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 เป็นผลให้ EBITDA ของบริษัทฟื้นตัวขึ้นเป็น 5.1 พันล้านบาทใน 3 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 25% จาก 4.1 พันล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในประมาณการกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2566 และจะค่อย ๆ ลดลงกลับสู่ระดับปกติตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจากการคาดการณ์ว่าความไม่สมดุลระหว่างระดับอุปสงค์และอุปทานจะผ่อนคลายลง ในขณะที่ค่า Ft จะยังคงมีการปรับปรุงเพื่อชดเชยเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวนมากที่ กฟผ. แบกรับ ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 1.8-2 หมื่นล้านบาทต่อปีระหว่างปี 2566-2568

ระดับภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าทั้งแบบดั้งเดิมและแบบพลังงานหมุนเวียน โดยเงินลงทุนจำนวนมากจะถูกใช้สำหรับโครงการ ERU ในประมาณการกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในช่วงปี 2566-2568 จำนวน 3.48 หมื่นล้านบาท หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ราว 1-1.2 แสนล้านบาทในช่วงปี 2566-2568 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ประมาณ 46%-51% ในปี 2566-2568 และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะอยู่ที่ราว 5-7 เท่า

เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท.

ทริสเรทติ้งคงมุมมองว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. จากวิสัยทัศน์ของ ปตท. คือ ?Powering Life with Future Energy and Beyond? (ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน) กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 15% จากระดับในปี 2563

บริษัทเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่มที่จะทำหน้าที่เป็นเรือธงในการขยายธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตตามกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. ซึ่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานและการจัดการพลังงาน ห่วงโซ่คุณค่าแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาดในรูปแบบอื่น ๆ เช่น พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้น

ได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากกลุ่ม ปตท.

เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทเรือธงในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานแห่งอนาคตของกลุ่ม ปตท. ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่า ปตท. จะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทอย่างเต็มที่ต่อไป

การสนับสนุนที่แข็งแกร่งจาก ปตท. ได้พิสูจน์ให้เห็นจากการที่ ปตท. ได้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือทั้งหมดของบริษัทเพื่อสนับสนุนการซื้อกิจการของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ในปี 2562 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 7.4 หมื่นล้านบาทครบทั้งจำนวนและ ปตท. ยังได้ให้เงินให้กู้ยืมอีกจำนวน 2 หมื่นล้านบาทเพื่อให้บริษัทนำไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ปตท. ยังสนับสนุนการจัดการสภาพคล่องให้แก่บริษัทในรูปแบบของการขยายเทอมการค้าและเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า ปตท. จะให้การสนับสนุนพิเศษแก่บริษัทต่อไปเมื่อมีความจำเป็น

สถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ

ในงบการเงินรวมนั้น บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ดังนั้น เงินสดในมือและเงินทุนจากการดำเนินงานจึงมีเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่ 1.4 หมื่นล้านบาท

โครงสร้างหนี้สิน

ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีภาระหนี้ตามงบการเงินรวมทั้งสิ้น (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) จำนวน 1.3 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมของบริษัทย่อย ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 12%

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 ดังต่อไปนี้

? ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 18,020-19,680 ล้านหน่วยต่อปี

? ปริมาณจำหน่ายไอน้ำอยู่ที่ประมาณ 14.1-14.5 ล้านตันต่อปี

? EBITDA อยู่ที่ราว 1.8-2 หมื่นล้านบาทต่อปี

? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวมถึงการลงทุนสุทธิจะอยู่ที่จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทในช่วงประมาณการ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจและสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ตามประมาณการ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงินในการดำเนินกลยุทธ์การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทนั้นมีจำกัดในช่วงหลายปีต่อจากนี้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตเฉพาะอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงไปจากที่ทริสเรทติ้งคาดหวังไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากซึ่งอาจเกิดจากการก่อหนี้เพื่อการลงทุนในระดับสูง

การเปลี่ยนแปลงของสถานะเครดิตของ ปตท. หรือการเปลี่ยนแปลงในความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและ ปตท. อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)

อันดับเครดิตองค์กร: AA+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

GPSC24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA+

GPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA+

GPSC258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA+

GPSC26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA+

GPSC276A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA+

GPSC29NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA+

GPSC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA+

GPSC308A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA+

GPSC31NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 AA+

GPSC326A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 AA+

GPSC34NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2577 AA+

GPSC354A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2578 AA+

GPSC358A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2578 AA+

GPSC376A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2580 AA+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ