ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จากเดิม ?Stable? หรือ ?คงที่? การปรับแนวโน้มดังกล่าวสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงและผลประกอบการทางการเงินที่อ่อนแอลงซึ่งต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ
ในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์นั้น ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างชัดเจนจนถึงระดับที่มากกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าเป็นผลมาจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วของบริษัทท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการอนุมัติสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวังและการทำการตลาดเชิงรุกของบริษัท ทั้งนี้ การสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัทในปี 2565 ยังส่งผลทำให้ลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (หรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 -- NPL) ที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) เพิ่มสูงขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 13.8% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 จากที่ระดับ 4.6% ณ สิ้นปี 2565
เมื่อพิจารณาจากลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเป็น 25% ในไตรมาสแรกของปี 2566 (เมื่อปรับตัวเลขเป็นอัตราส่วนเต็มปี) จากระดับ 2.8% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของผู้บริหารที่เน้นการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้น โดยการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บหนี้ และเร่งตัดหนี้สูญของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตให้เร็วขึ้นนั้น ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะจะค่อย ๆ ดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป
ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 936 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนจากมูลที่ลดลงสำหรับสินค้าคงคลังในส่วนของสินค้าที่ยึดคืนจำนวนมาก ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแรงกดดันทางด้านลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีผลขาดทุนสุทธิในปี 2566 และผลประกอบการจะเริ่มฟื้นตัวเป็นบวกในปี 2567-2568 ทั้งนี้ คาดว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) นั้นจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 2567-2568 เมื่อเปรียบเทียบกับที่ระดับ 4%-5% ในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากจะให้เห็นผลดังกล่าว บริษัทจะต้องมีการบริหารจัดการส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ายอดขายสินค้าของบริษัทจะชะลอตัวลง 50% ในปี 2566 และจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงที่ 10% ต่อปีในปี 2567-2568 อันเป็นผลจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ระมัดระวังมากขึ้นของบริษัทภายหลังจากที่คุณภาพสินทรัพย์ถดถอยลง อัตรากำไรขั้นต้นจากการขายผลิตภัณฑ์คาดว่าจะอยู่ในช่วงกลาง 30% ในปี 2567-2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมทั้งนโยบายของบริษัทในการขยายเครือข่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสินเชื่อของบริษัทจะเติบโตเพิ่มขึ้น 6% ในปี 2566 และ 16%-18% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ทั้งนี้ จากมุมมองของทริสเรทติ้ง บริษัทจะดำเนินกลยุทธ์การเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป (Conservative Growth) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance Hire Purchase)
เพื่อรักษาระดับการเติบโตของสินเชื่อและเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมให้แข็งแกร่งขึ้น บริษัทจะต้องเน้นที่ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันในกลุ่มรถบรรทุกซึ่งขยายไปยังตลาดลูกค้าขนาดเล็กและขนาดกลางที่ยังคงมีอุปสงค์ที่แข็งแกร่งและยังคงมีอัตราการค้างชำระหนี้ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่น
ฐานทุนของบริษัทซึ่งวัดโดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (RAC) ยังคงเป็นปัจจัยเสริมสร้างความแข็งแกร่งที่สำคัญสำหรับอันดับเครดิต โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 บริษัทมี RAC อยู่ที่ระดับ 67% ซึ่งยังคงประเมินว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก ฐานทุนที่แข็งแกร่งนี้เพียงพอต่อการสนับสนุนแผนการขยายสินเชื่อของบริษัทได้ในระยะปานกลาง บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.4 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 โดยอัตราส่วนดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 3 เท่า
อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตในการประเมินอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งได้แก่ การที่บริษัทมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ 15 พฤษภาคม 2566 บริษัทมีเงินสดรวมทั้งเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นและวงเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ที่เพียงพอซึ่งคิดเป็นมูลค่า 5.1 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับภาระหนี้ 1.8 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยรวมอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ถดถอยลงรวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้อย่างมาก
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตจะถูกปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการของบริษัทไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเปลี่ยนกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? ได้ หากคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยังคงรักษาฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative