ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?
ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติทั่วโลกที่มีอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดจนการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (Vertical Integration) และประวัติผลงานที่เข้มแข็งของคณะผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของธุรกิจถุงมือยางของบริษัทที่คาดว่าจะอ่อนแอลง ตลอดจนธรรมชาติที่เป็นวงจรขึ้นลงและผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งความท้าทายต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้จะเติบโตในระดับปานกลาง
บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ระดับ 1.11 แสนล้านบาทในปี 2565 ลดลงจากระดับ 1.19 แสนล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ รายได้จากผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติซึ่งคิดเป็น 79% ของรายได้รวมของบริษัทนั้นเติบโตในอัตรา 24% มาอยู่ที่ระดับ 8.77 หมื่นล้านบาท ในขณะที่รายได้จากถุงมือยางซึ่งคิดเป็น 21% ของรายได้รวมนั้นปรับตัวลดลง 52% มาอยู่ที่ระดับ 2.29 หมื่นล้านบาทอันเนื่องมาจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลงอย่างมากภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อยู่ภายใต้การควบคุมและอุปทานถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.04 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จาก 3.25 หมื่นล้านบาทในปี 2564
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ลดลง 13% มาอยู่ที่ระดับ 2.45 หมื่นล้านบาทเนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติและถุงมือยางปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอุปทานส่วนเกินของถุงมือยางที่มีอย่างต่อเนื่อง
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเติบโตเพียงเล็กน้อยในปี 2566 และจะเติบโตเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 5%-16% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ทั้งนี้ อัตราการเติบโตในระดับปานกลางดังกล่าวยังสอดคล้องกับสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าบริษัทจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมได้และการคาดการณ์ที่สต็อกยางธรรมชาติในตลาดหลัก ๆ เช่น จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาจะปรับตัวลดลง
ผลการดำเนินงานเป็นที่ยอมรับ
อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ยางพารา) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14.8% ในปี 2565 จากระดับ 30.7% ในปี 2564 ด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยยอดขายในธุรกิจถุงมือซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่านั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 21% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2565 ซึ่งลดลงจาก 40% ในช่วงระหว่างปี 2563-2564
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12.1% อันเป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์หลักทั้ง 2 ประเภทที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าราคายางธรรมชาติจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2566 จากการที่อุปสงค์ยางธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นและผู้ผลิตยางล้อคาดว่าจะมีระดับสต็อคสินค้าคงเหลือที่ลดลง ทั้งนี้ ธุรกิจถุงมือยางยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลงและการแข่งขันที่รุนแรง
บริษัทมีนโยบายที่ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดต้นทุนโดยการลดจำนวนพนักงานลงและใช้เครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานคนบางส่วน ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทน่าจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ที่ระดับประมาณ 12% เอาไว้ได้ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรง
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนรวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 21.1% ณ เดือนธันวาคม 2565 และที่ระดับ 19.9% ณ เดือนมีนาคม 2566 อันเนื่องมาจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ปรับลดลง โดยเฉพาะระดับของสินค้าคงคลัง
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7.3 พันล้านบาทในปี 2566 และจะอยู่ที่ระดับ 3.6-5.2 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ซึ่งค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนส่วนใหญ่นั้นบริษัทจะนำไปใช้ในการขยายโรงงานยางแท่งและขยายกำลังการผลิตถุงมือยาง ซึ่งภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 23%-25% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566 ระบุว่าบริษัทมีแผนการใช้เงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนทั้งสิ้น 1.0 หมื่นล้านบาท เงินลงทุนตามแผนจำนวน 7.3 พันล้านบาท และการจ่ายเงินปันผลที่อัตรา 50% ในขณะที่แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.04 หมื่นล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 4.23 หมื่นล้านบาท รวมถึงเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.9 พันล้านบาทในปี 2566 อีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวกับภาระหนี้สินทางการเงินได้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 0.24 เท่า ซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดทางการเงินที่ระดับ 3 เท่าเป็นอย่างมาก
ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 3.84 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงภาระหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนที่ระดับ 1.94 ล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทประกอบด้วยหนี้สินที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทลูก ทั้งนี้ อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ในระดับต่ำที่ 5%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้รวมจะเติบโตที่ระดับ 1% ในปี 2566 และจะเติบโตที่ระดับ 5%-16% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 12% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
? ค่าใช้จ่ายโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 7.3 พันล้านบาทในปี 2566 และ 3.6-5.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ถุงมือยางและอุปสงค์ยางธรรมชาติทั่วโลกที่ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญจนส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 3 เท่าและ EBITDA อยู่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
STA247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
STA24DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
STA253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
STA257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
STA25DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
STA264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
STA26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 679 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
STA26NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 979 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A
STA273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
STA277A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
STA28DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
STA293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
STA297A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
STA314A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
STA31DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
STA323A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A
STA324A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,180 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A
STA327A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A
STA343A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2577 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable