ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการทบทวนอันดับเครดิตของบริษัทแม่ของบริษัทคือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA) (อันดับเครดิต ?A/Stable?) ซึ่งบริษัทมีสถานะเป็น ?บริษัทลูกหลัก? (Core Subsidiary) ของบริษัทดังกล่าว
ในการนี้ ทริสเรทติ้งประเมินอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ของบริษัทโดยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ ?a-? จากเดิมที่ระดับ ?a? ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานทางการเงินที่อ่อนแอลงของธุรกิจถุงมือยางอันเนื่องมาจากราคาขายเฉลี่ยของถุงมือยางที่ปรับลดลงอย่างมากซึ่งเกิดจากสภาวะอุปทานส่วนเกินที่คงอยู่ในอุตสาหกรรมหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
อันดับเครดิตเฉพาะดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตถุงมือยางของโลกซึ่งมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากธรรมชาติที่เป็นวงจรขึ้นลงและผันผวนของราคาวัตถุดิบ รวมทั้งราคาขายของผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการแข่งขันที่รุนแรงของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA ซึ่งหมายความว่าอันดับเครดิตของบริษัทนั้นอยู่ในระดับเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ สถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของบริษัททั้งสองในฐานะบริษัทแม่และบริษัทลูก โดย STA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 56% นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแม่ยังมีอิทธิพลต่อ
กลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ความสำคัญของบริษัทที่มีต่อบริษัทแม่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นสัดส่วนถึง 34% ของ EBITDA รวมของบริษัทแม่ในปี 2565 อีกด้วยเช่นกัน
การพิจารณาสถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทนั้นยังครอบคลุมถึงบูรณาการทางธุรกิจระหว่างบริษัทและบริษัทแม่ที่อยู่ในระดับสูงอีกด้วย ทั้งนี้ STA มีสัญญาในการจัดหาน้ำยางข้นธรรมชาติให้แก่บริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตถุงมือของบริษัท นอกจากนี้ บริษัททั้งสองก็มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในหลาย ๆ ด้านซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการขนส่ง อีกทั้งบริษัทยังมีความร่วมมือกับบริษัทแม่ในด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือจากน้ำยางข้นแบบใหม่ที่มีนวัตกรรมอีกด้วย
สถานการณ์อุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถุงมือยางยังคงอยู่
ผู้ผลิตถุงมือทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายจากสภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรควิด 19 สิ้นสุดลง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างขยายกำลังการผลิตในช่วงระหว่างปี 2564-2565 จนส่งผลทำให้ราคาขายเฉลี่ยของถุงมือยางปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาวะอุปทานส่วนเกินจะผ่อนคลายลงในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยอุปสงค์และอุปทานน่าจะกลับเข้าสู่สภาวะสมดุลได้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย หรือ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ว่าอุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกจะเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 8%-12% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2567 ทั้งนี้ การใช้ถุงมือที่เพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วนและหลายอุตสาหกรรมได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบใหม่ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังคงมีความสม่ำเสมอ
ยอดขายจากธุรกิจถุงมือยางของบริษัทเพิ่มขึ้นถึงระดับ 28.8 ล้านชิ้นในปี 2565 โดยเติบโตที่ระดับ 5.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ด้วยว่ายอดขายถุงมือยางของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 7% ต่อปีซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ MARGMA
ผลการดำเนินงานทางการเงินที่อ่อนแอลง
ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2565 ปรับตัวอ่อนแอลงกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมลดลง 51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 2.35 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 2.77 หมื่นล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ยางพารา) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 17% ในปี 2565 จากระดับ 55%-57% ในช่วงระหว่างปี 2563-2564 จากสาเหตุหลักคือราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ EBITDA ของบริษัทก็ปรับตัวลดลงอีกด้วย โดยในปี 2565 EBITDA ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6 หมื่นล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับ 1.73-2.73 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งส่งผลทำให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.44-2.37 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2563-2564
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวลง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากผลของราคาขายเฉลี่ยและยอดขายของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่ปรับตัวลดลง EBITDA ของบริษัทก็ลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 620 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทยังรายงานผลกำไรสุทธิที่ระดับ 132 ล้านบาท เทียบกับระดับ 1.1 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงปรับตัวลดลงอีกในปี 2566 และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงระหว่างปี 2567-2568 โดยคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2566 จะหดตัว 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยอยู่ที่ระดับ 2.05 หมื่นล้านบาท และจะเติบโตที่ระดับ 7% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13% ในปี 2566 และอัตรา EBITDA ต่อรายได้รวมจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14.8% หลังจากนั้นอัตรากำไรขั้นต้นจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14% ในขณะที่อัตรา EBITDA ต่อรายได้รวมน่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 15%-16% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568 จากผลของสภาวะไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานที่คลายตัวลง
โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนรวมของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2565 ยังคงอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากบริษัทยังมีเงินสดคงเหลือจากผลการดำเนินของบริษัทในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566 ระบุว่าบริษัทมีแผนการใช้เงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท เงินลงทุนตามแผนจำนวน 2.4 พันล้านบาท และการจ่ายเงินปันผลที่อัตรา 50% ในขณะที่แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทยังคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 พันล้านบาทอีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้รวมจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13% ในปี 2566 และจะเติบโตที่ระดับ 7% ในช่วงระหว่างปี 2567-2568
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 13%-14% ในช่วงระหว่างปี 2566-2568
? ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 2.4-2.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของ STA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมถุงมือยางเอาไว้ได้ด้วยการใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบทั้งความเสี่ยงจากราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อีกทั้งจะยังคงรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ได้ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทมีค่อนข้างจำกัด ในทางกลับกัน ปัจจัยกดดันที่อาจทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากที่อาจทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ของทริสเรทติ้งแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับสถานะเครดิตของ STA หรือการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและ STA ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (STGT)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
STGT259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
STGT299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
STGT329A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable