ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ไพร์ม โรด เพาเวอร์” ที่ “BBB-” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น “Negative” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 8, 2023 09:22 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? แต่ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตลงเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่? เพื่อสะท้อนสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงของบริษัทจากการลงทุนจำนวนมากรวมถึงการขยายไปสู่ธุรกิจที่มีอัตรากำไรต่ำ

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงประสบการณ์ของบริษัทในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนจากการที่ธุรกิจของบริษัทมีขนาดเล็กและความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงกลยุทธ์ในการเติบโตของบริษัทและแนวโน้มที่จะยังพึ่งพิงแหล่งเงินกู้อย่างมากอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สถานะทางการเงินอ่อนแอลง

สถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลการดำเนินงานสำหรับปี 2565 นั้นต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เนื่องจากบริษัทได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ต่าง ๆ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ อีกทั้งธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ระบบโซล่าร์และการติดตั้งระบบหลังคาโซล่าร์ก็มีผลการดำเนินงานไม่ดีนัก ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทในปี 2565 อยู่ที่ 345 ล้านบาทซึ่งลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หนี้สินทางการเงินก็เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่ามาอยู่ที่ 4.6 พันล้านบาทจาก 2.3 พันล้านบาทในปีก่อน การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สินดังกล่าวเกิดจากการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างรวดเร็วของบริษัทรวมถึงเงินทุนที่ต้องใช้เพิ่มมากขึ้นสำหรับธุรกิจใหม่

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จากระดับประมาณ 4 เท่าในปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินถดถอยลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จากที่เคยสูงกว่าระดับ 15% ในช่วงหลายปีก่อนหน้า

มีประสบการณ์ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์

อันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ของบริษัทในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์หลายแห่งในประเทศไทย โดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากการเริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในปี 2554 ซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 72 เมกะวัตต์

บริษัทยังคงขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2566 กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัทอยู่ที่ 262 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศไทย (128 เมกะวัตต์) ประเทศกัมพูชา (60 เมกะวัตต์) ไต้หวัน (56 เมกะวัตต์) และประเทศญี่ปุ่น (18 เมกะวัตต์) ในจำนวนนี้ประมาณ 225 เมกะวัตต์ได้ดำเนินการผลิตแล้ว

มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัทต่อไป โดย ณ ปัจจุบัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้าง EBITDA ให้แก่บริษัทคิดเป็นสัดส่วนเกือบทั้งหมดของ EBITDA รวม

อันดับเครดิตพิจารณาถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงจากสินทรัพย์ผลิตไฟฟ้าของบริษัทซึ่งเกิดจากความเสี่ยงในการดำเนินงานและความเสี่ยงด้านอุปสงค์ตลอดจนความเสี่ยงในการได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ โดยพลังแสงอาทิตย์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปริมาณที่คาดการณ์ได้และสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอน ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณไฟฟ้ารวมต่อปีที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัทนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจและมี EBITDA Margin ที่ระดับ 70%-80%

ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีความเสี่ยงในด้านอุปสงค์และการได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าในระดับต่ำเพราะโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานด้านไฟฟ้าของภาครัฐ ขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวมีระยะเวลาสูงสุดถึง 25 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายไปสู่การจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนโดยทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงในการได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตภายใต้รูปแบบสัญญาดังกล่าวมีสัดส่วนที่น้อยกว่า 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัท

ความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ

เช่นเดียวกับบริษัทพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ารายอื่น ๆ บริษัทได้ขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ โดยนอกจากไต้หวันที่เป็นเป้าหมายแล้วบริษัทยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของบริษัทในประเทศกัมพูชาซึ่งเริ่มดำเนินงานในช่วงปลายปี 2565 ทั้งนี้ โครงการ National Solar Park ขนาด 60 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 23% ของกำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัท

การลงทุนในประเทศกัมพูชามีความเสี่ยงจากประเทศและกฎระเบียบที่สูงกว่าในประเทศไทย โดยประวัติผลงานในการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ในประเทศกัมพูชานั้นยังมีจำกัดเนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเห็นว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้ากัมพูชา (Electricity of Cambodia ? EDC) ที่เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าภาครัฐนั้นไม่เข้มแข็งเท่ากับของผู้รับซื้อไฟฟ้าภาครัฐในประเทศไทย แต่การเข้ามามีบทบาทของธนาคารพัฒนาเอเชียซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการและผู้สนับสนุนทางการเงินหลักก็ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนลงได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนั้น โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศกัมพูชาดังกล่าวมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในระดับต่ำที่ 3.877 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงซึ่งเป็นสิ่งท้าทายผลการดำเนินงานของโครงการ บริษัทได้ทำสัญญาจ้างดำเนินการปฏิบัติงานและบำรุงรักษาในราคาที่ตกลงกันไว้แล้วเพื่อควบคุมต้นทุนในการดำเนินงาน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวผลิตไฟได้ในระดับที่น่าพอใจตั้งแต่ดำเนินงาน แต่ผลการดำเนินงานในระยะยาวก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ เนื่องจากกำลังการผลิตของโครงการนี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมของบริษัท ผลการดำเนินงานของโครงการนี้จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัท

มีความต้องการเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจใหม่

บริษัทเพิ่งขยายธุรกิจไปสู่การจำหน่ายอุปกรณ์ระบบโซล่าร์และการติดตั้งระบบหลังคาโซล่าร์โดยมีสัดส่วนรายได้รวมกันประมาณ 60% ของรายได้รวมในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทน่าจะได้ประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรเนื่องจากการจำหน่ายอุปกรณ์ระบบโซล่าร์และการติดตั้งระบบหลังคาโซล่าร์รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์นั้นมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop Service) น่าจะช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจซึ่งรวมถึงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนตามที่บริษัทได้ตั้งเป้าหมายไว้

อย่างไรก็ตาม การขยายไปสู่ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ก็อาจกดดันกระแสเงินสดของบริษัทได้เช่นกัน ด้วยอัตรากำไรที่อยู่ในระดับต่ำธุรกิจดังกล่าวจึงยังมีผลขาดทุน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถฟื้นฟูกำไรได้เนื่องจากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นน่าจะนำมาซึ่งการประหยัดจากขนาด โดยประมาณการในกรณีฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะทรงตัวที่ระดับต่ำประมาณ 2%-3% ในปี 2566 และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็น 8%-10% ในปี 2568 ทั้งนี้ การแข่งขันที่รุนแรงก็ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญ

นอกจากอัตรากำไรที่อยู่ในระดับต่ำแล้วธุรกิจดังกล่าวยังต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินงาน ลูกหนี้การค้าและสินค้าคงเหลือของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 459 ล้านบาทในปี 2565 จาก 70 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทนั้นไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างเพียงพอและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทติดลบประมาณ 700 ล้านบาทในปี 2565 ทั้งนี้ บริษัทพยายามจับคู่เทอมลูกหนี้การค้าและเจ้าหนี้การค้าให้มีระยะเวลาที่สอดคล้องกันเพื่อลดความต้องการเงินทุนหมุนเวียน

ธุรกิจมีขนาดเล็กแต่กำลังเติบโตอย่างมาก

บริษัทมีขนาดธุรกิจค่อนข้างเล็ก อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะสนับสนุนการเติบโต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านบาทในปี 2568 จาก 1.1 พันล้านบาทในปี 2565 โดยรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเป็น 1.1 พันล้านบาทภายใต้สมมติฐานว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ปีละ 30 เมกะวัตต์นอกเหนือไปจากกำลังผลิตเดิมที่มีอยู่แล้ว

ประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้งยังไม่รวมโครงการขนาดใหญ่ในไต้หวันเนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ขณะที่รายได้จากธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ระบบโซล่าร์และการติดตั้งระบบหลังคาโซล่าร์น่าจะอยู่ในระดับประมาณ 850-950 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568

กำไรจะเพิ่มขึ้นแต่อัตรากำไรลดลง

ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเติบโตขึ้นต่อเนื่องจนถึงประมาณ 800 ล้านบาทในปี 2568 จากระดับต่ำสุดที่ 345 ล้านบาทในปี 2565 โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทน่าจะเพิ่มกำไรให้มากขึ้นจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ น่าจะช่วยชดเชยผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าขนาด 72 เมกะวัตต์ที่จะถดถอยลงจากการหมดอายุของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในปี 2567 ได้ บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 30% ในโครงการโรงไฟฟ้าแบบ Adder เหล่านี้โดยรับรู้ผลกำไรในรูปส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผล

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรที่ลดลงจากแรงกดดันของธุรกิจจำหน่ายและติดตั้ง โดย EBITDA Margin น่าจะอยู่ที่ระดับ 37%-40% ในระยะ 3 ปีข้างหน้าลดลงจากประมาณการเดิมของทริสเรทติ้งที่ระดับ 55%-75% การลดลงดังกล่าวสะท้อนถึงสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจใหม่ดังกล่าว

ภายใต้สมมติฐานว่างบลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1-2 พันล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9-10 เท่าในระยะ 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะปรับตัวดีขึ้นและทรงตัวอยู่เหนือระดับ 6% ตลอดช่วงประมาณการ ทั้งนี้หากรวมโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างพัฒนาในไต้หวันเข้าไปด้วยระดับหนี้สินก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดการระดับหนี้สินได้อย่างเหมาะสมโดยอาจพิจารณาเพิ่มทุนเพื่อรองรับการเติบโต

โครงสร้างหนี้

ณ เดือนมีนาคม 2566 หนี้สินรวมของบริษัทไม่นับหนี้สินตามสัญญาเช่ามีจำนวน 5.9 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) จำนวน 3.6 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ 60% ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาถึงสิทธิในการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท

ความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินทดแทนคาดว่าจะจัดการได้

บริษัทน่าจะบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเพียงพอ โดยในระยะ 12 เดือนข้างหน้าบริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1.2 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 178 ล้านบาท เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 541 ล้านบาท และหุ้นกู้อีกจำนวน 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีแหล่งเงินสดรวมกันจำนวน 796 ล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินสดและวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวนรวมกัน 418 ล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 378 ล้านบาท โดยส่วนต่างจำนวน 420 ล้านบาทดังกล่าวน่าจะได้รับชำระจากเงินกู้โครงการจากธนาคารและเงินที่จะได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่

บริษัทมีข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ที่ต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่เกิน 3 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.7 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2566 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทย่อยแห่งหนึ่งของบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินของเงินกู้ธนาคารที่กำหนดให้ต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนทุนไม่เกิน 2 เท่าได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทย่อยดังกล่าวจะได้รับยกเว้นข้อกำหนดดังกล่าวเมื่อพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานสำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งในช่วงระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้

? บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 30 เมกะวัตต์

? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

? EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 37%-40%

? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับ 1-2 พันล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้สินของบริษัทที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทตลอดจนการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีอัตรากำไรต่ำน่าจะทำให้ภาระหนี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นและทรงตัวในระดับสูงต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทไม่สามารถฟื้นฟูสถานะทางการเงินให้ดีขึ้นได้ ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับไปเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? ได้หากบริษัทสามารถเพิ่มฐานกำไรและกระแสเงินสดขณะที่ยังควบคุมระดับหนี้สินเอาไว้ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่โครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและมีผลการดำเนินงานน่าพอใจประกอบกับโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนานั้นประสบความสำเร็จในการพัฒนาตามแผนและสร้างผลกำไรที่น่าพอใจ ขณะที่ธุรกิจใหม่นั้นจะไม่ทำให้กำไรและกระแสเงินสดของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (PRIME)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ