ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Title Loan) ที่อยู่ในระดับปานกลาง ตลอดจนฐานทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรที่เพียงพอ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีปัจจัยสนับสนุนจากคุณภาพสินทรัพย์ที่บริหารจัดการได้ของบริษัท รวมทั้งสถานะเงินทุนที่อยู่ในระดับปานกลางและสภาพคล่องที่มีเพียงพออีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันและต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการทำกำไรของบริษัท ในขณะที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนก็อาจทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนแอลงซึ่งจะนำไปสู่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Credit Cost) ที่เพิ่มสูงขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางด้วยความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน
บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งประเมินให้สถานะทางการตลาดของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางตรงในอุตสาหกรรมผู้ประกอบการสินเชื่อมีหลักประกันตามฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เครือข่ายสาขาของบริษัทกระจุกตัวอยู่ในตลาดที่บริษัทให้ความสำคัญซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มเติมเพื่อที่จะขยายพอร์ตสินเชื่อในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยภายในสิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 (ไตรมาส 1/2566) บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายในปีนี้ที่จำนวนทั้งสิ้น 1,029 สาขา
ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.11 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 หรือคิดเป็นการเติบโตที่ระดับ 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเติบโตที่ระดับ 2.4% จากสิ้นปีก่อนหน้าโดยสอดคล้องกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม อัตราการเติบโตของสินเชื่อของบริษัทชะลอตัวลงจากระดับที่สูงมากถึง 32% ในปี 2564 ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญต่อสาธารณะครั้งแรกในปลายปี 2563 ทริสเรทติ้งประมาณการว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะยังคงเติบโตที่ระดับประมาณ 20% ต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากอุปสงค์ของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง ตลอดจนกลยุทธ์ทางการตลาดและการขยายเครือข่ายสาขาของบริษัท
การเติบโตที่มั่นคงช่วยสนับสนุนสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งประเมินให้สถานะเงินทุน (Capital) ของบริษัทอยู่ในระดับที่ ?แข็งแกร่ง? และมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ต่อไปในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital (RAC) Ratio) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 45% ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ากลยุทธ์การเติบโตอย่างมั่นคงของบริษัทในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ตลอดจนผลกำไรที่ดีและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวังของบริษัทที่ระดับ 40% จะช่วยสนับสนุนให้ฐานทุนของบริษัทยังคงแข็งแกร่งต่อไปได้
ในส่วนของภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity (D/E) Ratio) นั้นก็ยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ 1.2 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบกับเงื่อนไขทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า
การควบคุมต้นทุนช่วยสนับสนุนความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรที่แข็งแรง
ทริสเรทติ้งประเมินให้ความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ ?เพียงพอ? โดยกำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 175 ล้านบาทในไตรมาส 1/2566 หรือเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายพอร์ตสินเชื่อที่ช่วยสร้างการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในขณะที่บริษัทยังคงสามารถควบคุมผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Provision Expenses) ตลอดจนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Interest Spread) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenses) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (Earnings before Taxes to Average Risk-weighted Assets -- EBT/ARWA) นั้นอยู่ที่อัตรา 7.2% ในไตรมาส 1/2566 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วน EBT/ARWA ของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับ 5%-6% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าโดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่คาดว่าต้นทุนทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยรับจะลดลงซึ่งน่าจะส่งผลทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทลดลงมาอยู่ในช่วง 18%-19% จากระดับ 21% ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา
ในด้านของต้นทุนนั้น ถึงแม้ว่าทริสเรทติ้งจะคาดว่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีสัญญาณการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์ แต่ยังถือว่าอยู่ในวิสัยที่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้จากการที่บริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Coverage Ratio) ที่เพียงพอ ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้นมีแนวโน้มที่จะยังคงสามารถควบคุมได้ด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมไว้ที่ระดับประมาณ 50% ตามอัตราการขยายสาขาใหม่ในระดับที่วางไว้
คุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นความท้าทายท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน
คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของบริษัทค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางตรงถึงแม้ว่าจะมีการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์ในสินเชื่อบางประเภทก็ตาม อัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 (NPL) ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 2.5% ณ สิ้นปี 2565 จากระดับ 2.1% ณ สิ้นปี 2564 โดย NPL ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากคุณภาพสินทรัพย์ในกลุ่มของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (สินเชื่อนาโน (Nano Finance)) และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่และรถยนต์เก่า โดยในไตรมาส 1/2566 ลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) ของสินเชื่อในกลุ่มนี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้น แต่ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมได้ เนื่องจากสัดส่วนของสินเชื่อดังกล่าวข้างต้นนั้นมีน้อยกว่า 20% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ ผู้บริหารก็มีนโยบายในการชะลอการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มนี้และมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มของคุณภาพสินทรัพย์ในอนาคตนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่า NPL Ratio ของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพใกล้เคียงกับระดับเดิม ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดทางการเงินของสินเชื่อจากธนาคารนั้น บริษัทจะต้องดำรง NPL Ratio ให้ต่ำกว่า 3% ดังนั้น บริษัทจะต้องมีการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งต้องปรับกระบวนการจัดเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเร่งตัดหนี้สูญของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งซึ่งคาดว่าบริษัทจะมี NPL Formation อยู่ที่ระดับ 1.5% และจะมีอัตราส่วนการตัดหนี้สูญของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL Write-offs) ต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.5%-1% นั้น NPL Ratio ของบริษัทก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.6% โดยเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2566-2568 นอกจากนี้ เพื่อที่จะคงระดับการตั้งสำรองเพื่อรักษา NPL Coverage Ratio อย่างน้อยให้อยู่ที่ระดับเกินกว่า 100% นั้น บริษัทจำเป็นจะต้องมีอัตราส่วนต้นทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5% ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 NPL Coverage Ratio ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 105%
สถานะเงินทุนที่มีเสถียรภาพถูกลดทอนโดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนที่อยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งประเมินให้สถานะเงินทุนของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ ?ปานกลาง? เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบคละกัน โดยปัจจัยในด้านบวกนั้น ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าสถานะเงินทุนของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (ซึ่งเปรียบเทียบจากแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพกับความต้องการแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ) อยู่ที่ระดับ 189% ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งถึงแม้ว่าบริษัทจะพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะสั้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงซึ่งคิดเป็น 49% ของหนี้สินทั้งหมดหรือคิดเป็น 26% ของเงินทุนทั้งหมดก็ตาม
ส่วนปัจจัยในด้านลบนั้น บริษัทมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนที่ค่อนข้างสูงมาก ทั้งนี้ เนื่องจากข้อกำหนดของวงเงินสินเชื่อจากธนาคารส่วนใหญ่นั้นระบุให้บริษัทจะต้องนำพอร์ตลูกหนี้ไปวางเป็นหลักประกันซึ่งเป็นสัญญาณว่าบริษัทอาจมีข้อจำกัดในการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมในอนาคตในสถานการณ์ที่ตึงเครียด นอกจากนี้ หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งอยู่ในระดับที่สูงนั้นยังสะท้อนถึงความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญของการด้อยสิทธิ์ของภาระหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้? ของทริสเรทติ้งอีกด้วย
กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัทและวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากธนาคารกรุงเทพช่วยเสริมสภาพคล่อง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ ?เพียงพอ? โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 7.7 พันล้านบาท ซึ่งวงเงินในสัดส่วน 20% นั้นยังไม่มีการเบิกถอน ทั้งนี้ บริษัทประมาณการว่าจะได้รับชำระคืนเงินกู้จากลูกหนี้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 2.8 พันล้านบาท ในขณะที่ภาระผูกพันในการชำระคืนเงินกู้ของบริษัทนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.4 พันล้านบาทซึ่งไม่รวมเงินกู้ยืมจำนวน 2.8 พันล้านบาทจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดยในอนาคตบริษัทมีนโยบายที่จะรองรับการเติบโตของสินเชื่อโดยการใช้เงินกู้ยืมระยะยาวและการออกหุ้นกู้ให้มากขึ้น
ยังคงมีความท้าทายและความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน
อัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งของสินเชื่อที่มีหลักประกันน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะปานกลางจากปัจจัยสนับสนุนในเรื่องการขยายเครือข่ายสาขา ตลอดจนเป้าหมายการเติบโตในเชิงรุกของผู้ประกอบการในปัจจุบัน การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ และอุปสงค์ของสินเชื่อที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งสังเกตเห็นทั้งพัฒนาการและความท้าทายที่สำคัญหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินเชื่อที่มีหลักประกันและจำเป็นจะต้องได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง ประการแรก ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเนื่องจากการแข่งขันทางด้านราคาและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลกดดันความสามารถในการทำกำไร ความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากกลยุทธ์การเติบโตในเชิงรุกเมื่อผนวกกับความสามารถในการชำระหนี้ที่อ่อนแอลงของลูกค้าเป้าหมายได้ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ เป้าหมายในการขยายสินเชื่อในเชิงรุกก็ทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีฐานทุนอ่อนแอลงซึ่งหากยังคงดำเนินต่อไปก็อาจส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
? การขยายตัวของสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ต่อปี
? ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 18%-20%
? ต้นทุนด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 1.5% ของสินเชื่อถัวเฉลี่ย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาฐานทุนตลอดจนสถานะทางการตลาดและผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ในระยะยาว การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในระยะเวลาที่ต่อเนื่องในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ตลอดจนฐานทุนและการสร้างรายได้ของบริษัทยังคงแข็งแกร่งและสอดคล้องกับสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง
การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจน RAC Ratio ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง หรือคุณภาพสินทรัพย์ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทถดถอยลงจนส่งผลทำให้อัตราส่วน EBT/ARWA อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5%
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (SAK)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable