อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทสะท้อนถึงประวัติผลงานที่ยาวนานในการธุรกิจผลิตชิ้นส่วน และการให้บริการผลิตสินค้า OEM (Original Equipment Manufacturing) ในอุตสาหกรรมครื่องปรับอากาศของประเทศไทย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการจัดการต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง และการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ดี อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาวะการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า และความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการใหม่ที่บริษัทมีประสบการณ์จำกัด
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ในประเทศไทย
บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทนั้นจำหน่ายให้กับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60%-75% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ท่อทองแดง ท่ออะลูมิเนียม แผ่นโลหะ ชุดท่อ ชิ้นส่วนพลาสติก และเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการผลิตและประกอบ (OEM) เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น และกล่องเครื่องมือ ให้แก่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านตามแบรนด์ของลูกค้าด้วย
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ประวัติที่ยาวนานของบริษัทในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศที่เชื่อถือได้และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดีมีส่วนช่วยให้บริษัทได้รับความน่าเชื่อถือและสามารถรักษาฐานรายได้ไว้ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกเครื่องปรับอากาศรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะตั้งฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดดำเนินการมานานกว่า 29 ปี และได้สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศระดับโลกในประเทศไทยหลายราย อาทิเช่น Daikin, Mitsubishi, Fujitsu, Sharp และ Toshiba
ด้วยรายได้ขนาด 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 บริษัทจึงเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือ OEM รายใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของประเทศไทย ธุรกิจหลักของบริษัทสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า (Part) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ (Auto) และธุรกิจรับจ้างผลิตและประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า (OEM) ทริสเรทติ้งมองว่า ธุรกิจ Part เป็นธุรกิจหลักของบริษัทเนื่องจากสร้างผลกำไรที่สม่ำเสมอและมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ในขณะเดียวกัน ธุรกิจ OEM มีการเติบโตของรายได้และผลกำไรที่สูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในปี 2565 รายได้จากธุรกิจ OEM นั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดโดยคิดเป็น 76% ของทั้งหมด รองลงมาคือธุรกิจ Part ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 19% และธุรกิจ Auto ที่สัดส่วน 5% ในขณะที่สัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ OEM อยู่ที่ 51% ในขณะที่ธุรกิจ Part มีสัดส่วน 41% และธุรกิจ Auto อยู่ที่ 7%
รายได้เติบโตจากการขยายไปสู่ธุรกิจ OEM
ทริสเรทติ้งมองว่าการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในการขยายเข้าสู่ธุรกิจ OEM มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้บริษัทคว้าโอกาสในการเติบโตจากตลาดเครื่องปรับอากาศในต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้ที่ค่อนข้างคงที่จากตลาดในประเทศมาเป็นเวลานาน เนื่องจากการเติบโตที่จำกัดรวมถึงการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บริษัทเริ่มรับคำสั่งซื้อ OEM จากลูกค้าชาวจีนและเวียดนาม รายได้ก็เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็น 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จาก 6.7 พันล้านบาทในปี 2562 โดยการเติบโตนี้มีปัจจัยหนุนส่วนใหญ่มาจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศจีนมายังประเทศไทยในช่วงที่มีสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2562
เนื่องจากคำสั่งซื้อ OEM ทั้งหมดเป็นการส่งออก แหล่งที่มาของรายได้ของบริษัทจึงมีการกระจายทางด้านภูมิศาสตร์มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเวียดนาม โดยส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเป็น 48% และ 15% ตามลำดับในปี 2565 ในขณะที่รายได้จากประเทศไทยคิดเป็น 31% และจากประเทศฝรั่งเศสคิดเป็น 5% ของทั้งหมด แม้ว่าอัตรากำไรของแต่ละธุรกิจจะค่อนข้างคงที่ แต่สัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจ OEM ซึ่งมีอัตรากำไรที่บางนั้น ได้ส่งผลทำให้อัตรากำไรในภาพรวมนั้นลดลง โดยทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 7.2% ในปี 2565 จากที่สูงกว่า 11% ในปี 2562
สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และแรงกดดันด้านกำไรจากลูกค้า
บริษัทดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง โดยเผชิญแรงกดดันจากลูกค้าที่มีอำนาจต่อรองสูงและมักต้องการราคาสินค้าที่ต่ำลง ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ บริษัทจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่องผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพและการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ
ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตจากการใช้ความรู้ด้านหุ่นยนต์
การปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต ถือเป็นข้อได้เปรียบหลักที่ช่วยให้บริษัทสามารถรักษาคำสั่งซื้อจากลูกค้าไว้ได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนนี้ได้รับการสนับสนุนจากผลประโยชน์จากการผลิตที่มีขนาดใหญ่ ความเชี่ยวชาญด้านการผลิต สายการผลิตที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสินค้า และประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วยการใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ โรงงานขนาดใหญ่ของบริษัทซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 450 ไร่พร้อมสายการผลิตจำนวนมาก รวมถึงคลังสินค้าที่กว้างขวาง ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการผลิตสินค้าที่หลากหลาย และมีความสามารถในการรับคำสั่งซื้อ OEM ขนาดใหญ่ได้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีชื่อเสียงในด้านการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิตโดยมีการพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญภายในบริษัทเอง โดยบริษัทสามารถการออกแบบและผลิตหุ่นยนต์รวมถึงระบบควบคุมได้เอง จึงทำให้บริษัทได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและค่าบำรุงรักษาของหุ่นยนต์เหล่านั้น บริษัทมีแผนจะแทนที่แรงงานด้วยหุ่นยนต์ที่บริษัทพัฒนาขึ้น โดยในปี 2565 บริษัทใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตสินค้าจำนวน 400 ตัว และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์เป็น 1,000 ตัวภายในสิ้นปี 2566
ทริสเรทติ้งเชื่อว่านโยบายของบริษัทในการมุ่งสู่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติและการนำหุ่นยนต์มาใช้จะช่วยเพิ่มผลผลิต และเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจะเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการด้านการผลิตของบริษัทมากยิ่งขึ้น การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตน่าจะส่งผลทำให้ความสามารถในการทำกำไรมีการปรับตัวดีขึ้นและช่วยลดแรงกดดันด้านต้นทุนจากลูกค้าได้ ทริสเรทติ้งมองว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลาด เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและต้องการความรู้ในการจัดการ
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าที่สูง
การกระจุกตัวของลูกค้าอาจทำให้ธุรกิจของบริษัทนั้นมีความไม่แน่นอนมาก ในปี 2565 ลูกค้า OEM ที่สำคัญ 5 รายของบริษัทสร้างรายได้ประมาณ 75% ของรายได้ทั้งหมด โดยลูกค้ารายใหญ่ที่สุด คือ Hisense International (Hongkong) (Hisense) มีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 41% ของทั้งหมด
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการกระจุกตัวของลูกค้าของบริษัทน่าจะยังคงดำเนินต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า เนื่องจากรายได้จากลูกค้ารายใหญ่ดังกล่าวยังมีโอกาสขยายตัวขึ้นไปอีก โดยพิจารณาจากความพยายามของ Hisense ในการขยายฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าถูกลดทอนบางส่วนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ Hisense และความร่วมมือที่มีกับบริษัท โดยเห็นได้จากการที่ Hisense มีการลงทุนในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของสายการผลิตและประกอบใหม่ที่ตั้งอยู่ในโรงงานของบริษัท
ความเสี่ยงจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะและการพัฒนาสวนอุตสาหกรรม
ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายกิจการของบริษัทไปสู่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะและธุรกิจพัฒนาสวนอุตสาหกรรมนั้นเพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะเครดิตของบริษัท บริษัทกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะขนาด 3 เมกะวัตต์ที่จังหวัดยะลา ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 550 ล้านบาท ซึ่งจะใช้หนี้เงินกู้ในสัดส่วนประมาณ 80% ของเงินลงทุน ทริสเรทติ้งมองว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมีความเสี่ยงในการดำเนินงานสูงจากความซับซ้อนและคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอของขยะชุมชน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะซื้อที่ดินจำนวน 1,104 ไร่ในจังหวัดชลบุรีเพื่อพัฒนาสวนอุตสาหกรรมสีเขียว โดยการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้นจะนำจุดเด่นด้านเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยบริษัทมาใช้ ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนในการพัฒนาโครงการมูลค่า 2,579 ล้านบาท และจะใช้หนี้เงินกู้ในสัดส่วน 67% ของเงินทุนนั้นถือว่ามีขนาดใหญ่สำหรับงบดุลของบริษัทเอง นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทไม่เคยมีประวัติในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งมีความตั้งใจที่จะถือหุ้นในสัดส่วน 100% ในโครงการดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงมองว่าความเสี่ยงในการพัฒนาและดำเนินการของสวนอุตสาหกรรมนั้นได้สร้างแรงกดดันต่อสถานะเครดิตอย่างมีนัยสำคัญ
คาดว่ารายได้จะลดลงในปี 2566 จากการชะลอตัวของตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าธุรกิจ OEM ของบริษัทจะเผชิญกับความเสี่ยงที่รายได้จะลดลงในปี 2566 โดยมาจากความต้องการซื้อที่อ่อนแอลงในประเทศสหรัฐอเมริกาและความไม่แน่นอนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ บริษัทใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นจากตลาดเวียดนาม โดยได้ลดปริมาณการขาย OEM กับลูกค้าชาวเวียดนามตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จากเหตุดังกล่าว รายได้ของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2566 นั้นลดลง 43% เหลือ 3.9 พันล้านบาทจาก 6.8 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทน่าจะลดลงในปี 2566 ก่อนที่รายได้ของบริษัทจะฟื้นตัวในปีต่อ ๆ ไป โดยการฟื้นตัวนั้นน่าจะเกิดจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจาก Hisense และความพยายามของบริษัทในการหาคำสั่งซื้อใหม่ทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจ Part ของบริษัทจะยังค่อนข้างมั่นคงและสร้างรายได้และผลกำไรหลักให้แก่บริษัท นอกจากนี้ เรายังคาดว่ารายได้ใหม่จากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะและการจำหน่ายที่ดินของสวนอุตสาหกรรมสีเขียวจะเริ่มในปี 2568
ในปี 2566 รายได้ของบริษัทน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท ก่อนที่จะฟื้นตัวเป็น 1.85 หมื่นล้านบาทในปี 2568 ในทำนองเดียวกัน EBITDA คาดว่าจะลดลงเหลือ 1.25 พันล้านบาทในปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นตัวเป็น 1.9 พันล้านบาทในปี 2568 ซึ่งจะรวมกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าและการจำหน่ายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมประมาณ 250 ล้านบาทด้วย ทั้งนี้ อัตรากำไร EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 8%-10% ในช่วงประมาณการ
สัดส่วนภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในธุรกิจใหม่
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสัดส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะสูงขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้จากการลงทุนขนาดใหญ่ โดยในช่วงปี 2566-2567 บริษัทจะมีการลงทุนรวมประมาณ 4.8 พันล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนสำหรับการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมจำนวน 2.58 พันล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังงานขยะจำนวน 0.55 พันล้านบาท และการลงทุนสำหรับหุ่นยนต์และเครื่องจักรต่างๆอีกจำนวน 0.9 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทน่าจะแตะจุดสูงสุดที่ประมาณ 6 พันล้านบาทในปี 2567 ก่อนที่จะลดลงในปี 2568 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทคาดว่าจะแตะ 3-3.5 เท่าในปี 2567 ในขณะที่อัตราส่วนของเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินสุทธิจะลดลงแต่น่าอยู่สูงกว่า 20% ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์
มีนโยบายทางการเงินและการบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างรอบคอบ
สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับการสนับสนุนโดยนโยบายทางการเงินที่รอบคอบและการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าการให้บริการการผลิตแบบ OEM จะต้องมีการเก็บสต๊อกสินค้าไว้ล่วงหน้า 2-3 เดือนก่อนส่งมอบ แต่บริษัทก็สามารถรักษาความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ต่ำไว้ได้ โดยเป็นผลมาจากความสามารถของบริษัทในการเจรจากับผู้ค้าเพื่อขยายระยะเวลาเครดิตให้สอดคล้องกับลูกหนี้และจำนวนวันของสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นโยบายของบริษัทในการถือครองเงินสดในระดับสูงยังเป็นส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องอีกด้วย
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทจะยังครอบคลุมแผนการใช้เงินทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.91 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2566 และเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินกู้ประมาณ 1.73 พันล้านบาทเพื่อสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะและการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมสีเขียว ในขณะที่ การใช้เงินทุนจะประกอบด้วยการชำระคืนเงินกู้ระยะยาวจำนวน 0.57 พันล้านบาท เงินลงทุนต่าง ๆ จำนวน 3.4 พันล้านบาท และเงินปันผลโดยประมาณ 0.28 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ไม่รวมสัญญาเช่าการเงินจำนวน 3.14 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน ซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ของบริษัทย่อยมีมูลค่ารวมประมาณ 2.17 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดประมาณ 69% เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนสูงกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งที่ 50%
ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันของบริษัทจะเสียเปรียบเจ้าหนี้มีประกันอย่างมากในเรื่องการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะลดลงเหลือ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ก่อนจะเติบโต เป็น 1.85 หมื่นล้านบาทในปี 2568
? EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 8%-9% ในช่วงปี 2566-2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปี 2568 เนื่องจากผลกำไรจากโรงไฟฟ้าและสวนอุตสาหกรรม
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 4.8 พันล้านบาทในช่วงปี 2566-2567 และ 0.6 พันล้านบาทในปี 2568
? อัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ 50%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะมีผลประกอบการที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าตลาดเวียดนามจะมีแนวโน้มเชิงลบ แต่บริษัทก็น่าจะสามารถรักษาธุรกิจ OEM กับลูกค้าที่สำคัญรายอื่นๆไว้ได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจ Part ของบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดหลักในช่วงระยะเวลาคาดการณ์
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดขึ้นได้หากกระแสเงินสดของบริษัทขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญและคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีการกระจายตัวของรายได้ที่มากขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้หากรายได้ของบริษัทจากลูกค้าในธุรกิจ OEM หรือธุรกิจ Part ลดลงไปจากระดับปัจจุบันอย่างมาก นอกจากนี้ สถานะทางการเงินที่อ่อนแอจากการลงทุนที่ใช้หนี้ระดับสูง หรือการขาดทุนจำนวนมากจากการลงทุนใหม่ ๆ ก็อาจจะส่งผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้เช่นกัน
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ที่ได้รับการค้ำประกันของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงได้หากอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกัน (CGIF) มีการเปลี่ยนแปลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) (SNC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SNC281A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน จำนวน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable