ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?AA-? แนวโน้ม ?Stable? หรือ ?คงที่? จากระดับ ?AA? โดยการปรับลดอันดับเครดิตนี้สะท้อนถึงภาระหนี้สินของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน ในขณะเดียวกันแผนการลดภาระหนี้ของบริษัทก็ถูกขยายระยะเวลาออกไปนานกว่าประมาณการเดิมของทริสเรทติ้ง
อันดับเครดิตที่ระดับ ?AA-? นี้ยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งรวมถึงการเป็นบริษัทโฮลดิ้งหลักรายหนึ่งของกลุ่มสหพัฒน์ตลอดจนการลงทุนที่หลากหลายในบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภคภายในกลุ่มสหพัฒน์ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งและความยืดหยุ่นทางการเงินที่มากเพียงพอของบริษัทอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ภาระหนี้สินทางการเงินยังคงอยู่ในระดับสูงเพื่อสนับสนุนการเติบโต
ภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการขยายการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มเติมใน บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) (TNL) รวมถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ระดับหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้ว ณ เดือนธันวาคม 2565 เพิ่มไปถึง 1.48 หมื่นล้านบาท จาก 9.8 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2563 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุนของบริษัทในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 25.0% จาก 20.1% ในปี 2563 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 6.9 เท่าในปี 2565 จาก 5.3 เท่าในปี 2563
ในประมาณการกรณีพื้นฐานนั้น ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะลงทุนในช่วงปี 2566-2568 รวมประมาณ 6.5 พันล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ โดยจะส่งผลให้ระดับหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะยังคงอยู่ในระดับประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทตลอดช่วงปี 2566-2568 ซึ่งเกินกว่าประมาณการเดิมของทริสเรทติ้งที่ 1.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะลดลงชั่วคราวเป็น 5.7 เท่าในปี 2566 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นจนเกิน 6 เท่าในปี 2567-2568 โดยคาดว่า EBITDA ในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 พันล้านบาทจากเงินปันผลรับที่สูงเป็นพิเศษและการขายที่ดินแปลงใหญ่ ก่อนที่จะทยอยลดลงเหลือ 2.0-2.2 พันล้านบาทต่อปีในปี 2567-2568
เป็นหนึ่งในบริษัทโฮลดิ้งหลักของกลุ่มสหพัฒน์
บริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งหลักของกลุ่มสหพัฒน์ โดยกลุ่มสหพัฒน์เป็นกลุ่มบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าหลายประเภทภายใต้แบรนด์ชั้นนำมากมายในตลาดที่หลากหลาย อาทิ มาม่า วาโก้ เปา เอสเซ้นซ์ มิสทีน เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มสหพัฒน์ได้พัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งแบบครบวงจรตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการผลิตและการจัดจำหน่าย
บริษัทยังเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสวนอุตสาหกรรมของกลุ่มสหพัฒน์ซึ่งให้บริการสาธารณูปโภคและบริการอื่น ๆ แก่บรรดาบริษัทที่ประกอบกิจการในสวนอุตสาหกรรมดังกล่าว
การขยายบทบาทในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์
จากการที่บริษัทมีบทบาทนำในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเครือสหพัฒน์นั้น บริษัทได้เน้นลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565-2566 บริษัทได้จัดสรรเงินลงทุนประมาณ 50% ของเงินลงทุนทั้งหมดเพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและพื้นที่ค้าปลีก รวมถึงการลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ทั้งนี้ โครงการที่บริษัทลงทุนประกอบด้วย โครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน คิง สแควร์ (King Square Mix-used Complex) โครงการอาคารสำนักงาน คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ (KingBridge Tower) และโครงการอสังหาริมทรัพย์อื่น โดยในช่วงปี 2564-2565 บริษัทได้ลงทุนในหุ้นของโครงการเหล่านี้รวม 1.1 พันล้านบาท และบริษัทมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีกรวม 1.1-1.3 พันล้านบาทในปี 2566 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงการดังกล่าว
บริษัทขยายบทบาทในภาคธุรกิจ REIT โดยได้จัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไฮโดรเจน (HYDROGEN) ขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทได้ขายสิทธิการเช่าระยะยาวของทรัพย์สินบางส่วนในสวนอุตสาหกรรมให้ทรัสต์ ฯ และได้ขายเครื่องจักรด้านโลจิสติกส์ในโครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี ให้แก่ทรัสต์ ฯ ทั้งนี้ บริษัทได้รับเงินจากการจำหน่ายและให้เช่าระยะยาวดังกล่าวรวมประมาณ 1.0 พันล้านบาท และได้นำเงินจำนวน 252 ล้านบาทกลับเข้าลงทุนในหน่วยทรัสต์ HYDROGEN ด้วยสัดส่วนการถือครอง 12% ซึ่งถือเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนที่มากที่สุดของ HYDROGEN นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัทได้ลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อื่นด้วยจำนวนเงินประมาณ 520 ล้านบาท
การขยายเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะช่วยให้แหล่งรายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวที่เพิ่มขึ้น โดยมาจากรายได้ค่าบริหารและการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนใน REIT เงินปันผลจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า และโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงจากการขายทรัพย์สินในโครงการที่อยู่อาศัย การดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความหลากหลายในการลงทุนของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงต้องให้ความสำคัญในการจัดการกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
โอนธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้ TNL
ในปี 2564 บริษัทได้เข้าสู่ธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ผ่าน บริษัท ออกซิเจน แอสเซ็ท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงรายเดียว และในปี 2565 บริษัทได้ขายหุ้นจำนวน 90% ของบริษัทออกซิเจน แอสเซ็ทเป็นจำนวนเงิน 835 ล้านบาท ให้แก่ TNL ซึ่งยังคงเป็นบริษัทย่อยของบริษัทอยู่ในขณะนั้น ต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 TNL ได้เพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทใน TNL ลดลงเหลือ 41% และต่อมาในเดือนมีนาคม 2566 บริษัทได้เพิ่มเงินลงทุนจำนวน 1.4 พันล้านบาทให้กับ TNL ซึ่งได้เสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น และหลังจากที่ธุรกรรมดังกล่าวแล้วเสร็จ ธุรกิจหลักของ TNL
จะประกอบด้วยธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ การบริหารสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย โดยที่ยังคงดำเนินธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปต่อไป
การลงทุนที่หลากหลายช่วยลดความผันผวนของกระแสเงินสด
กระแสเงินสดหลักของบริษัทมาจากเงินปันผลรับจากการลงทุน และแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากทั้งการระบาดของโรคโควิด 19 การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกบริษัทก็ยังสามารถรักษาระดับของเงินปันผลรับให้อยู่ในช่วง 1.0-1.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 2563-2565 เอาไว้ได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการลงทุนที่หลากหลายของบริษัทจะยังคงช่วยให้กระแสเงินสดมีความมั่นคงต่อไป อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าเงินปันผลรับของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 1.5-1.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 2566-2568 โดยการเพิ่มขึ้นนี้จะได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของเงินปันผลจากบริษัทร่วมในธุรกิจอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงเงินปันผลรับจากเงินลงทุนอื่น
กลุ่มสหพัฒน์มักจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่าง ๆ และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับพันธมิตรทางธุรกิจจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ การร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนทางธุรกิจช่วยลดภาระการลงทุนของบริษัทในระยะเริ่มต้นและช่วยให้บริษัทได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายยังช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพันธมิตรทางธุรกิจเพียงรายใดรายหนึ่งได้อีกด้วย
ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทลงทุนในบริษัทต่าง ๆ จำนวน 175 แห่งรวมมูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทภายในกลุ่มสหพัฒน์ การลงทุนของบริษัทครอบคลุมกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภค และอื่น ๆ โดยในปี 2565 บริษัทมีเงินปันผลรับจากกลุ่มบริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นสัดส่วน 48% ของเงินปันผลทั้งหมดที่บริษัทได้รับ ในขณะที่เงินปันผลจากกลุ่มบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า และเครื่องสำอางมีสัดส่วน 26% 11% และ 6% ตามลำดับ
สภาพคล่องที่เพียงพอและมีความยืดหยุ่นสูง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมจำนวน 1.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินหลายแห่งรวมมูลค่า 6.1 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1.7 พันล้านบาท ในขณะที่ภาระในการชำระหนี้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าของบริษัทประกอบไปด้วยหนี้ระยะยาวจำนวน 3.0 พันล้านบาทและหนี้ระยะสั้นจำนวน 1.8 พันล้านบาท โดยในปี 2566 บริษัทมีงบลงทุนรวมประมาณ 3.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทยังคงมีความสามารถที่จะกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อชำระคืนหนี้สินทางการเงินที่ใกล้ครบกำหนดและเพื่อการลงทุนใหม่ตามแผน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนขนาดใหญ่ในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเพื่อเป็นความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัท ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของเงินลงทุนของบริษัทในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 47 แห่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 คิดเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท หรือเป็นอัตราส่วนประมาณ 2.9 เท่าของหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัท ระดับหนี้สินของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลให้อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจากเดิมซึ่งมากกว่า 3 เท่า ณ สิ้นปี 2563
ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทไม่มีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานรวม 3.4 พันล้านบาทในปี 2566 และ 3.1-3.3 พันล้านบาทต่อปีในปี 2567 และ 2568 (ไม่รวมกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์)
? กำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างปี 2566-2568 รวม 1.5-1.6 พันล้านบาท
? ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 2.5-2.9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568
? EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 61%-71% ในช่วงปี 2566-2568
? งบลงทุนรวมในช่วงปี 2566-2568 รวมประมาณ 6.5 พันล้านบาท
? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 21%-24% ในช่วงปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับเงินปันผลที่แน่นอนจากการลงทุน และยังคงสามารถรักษาความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนขนาดใหญ่ในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดได้ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถปรับปรุงระดับภาระหนี้สินทางการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญด้วยการลดระดับหนี้สินทางการเงินหรือมีกระแสเงินสดรับที่ดีขึ้นจากผลการดำเนินงานของธุรกิจในเครือ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจากที่คาดการณ์ไว้ หรือมีการก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SPI256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
SPI276A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA-
SPI306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 AA-
SPI326A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้: Stable