อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งมากของบริษัทในธุรกิจตราสารอนุพันธ์ (Derivative Warrant Business) ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ดี และแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางส่วนจากการที่บริษัทต้องพึ่งพากำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินเป็นหลัก
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KGI Group
แม้ว่า บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินโดยตรงจาก KGI Taiwan และบริษัทลูกต่าง ๆ แต่ทริสเรทติ้งยังคงประเมินให้บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทในเครือที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ KGI Taiwan ต่อไปซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานมาจากการถือหุ้น รวมถึงตัวแทนคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหาร ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจเป็นสำคัญ
สำหรับการถือหุ้นนั้น KGI Taiwan ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 34.97% โดยผ่าน KGI Asia (Holdings) Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลูก 100% ของ KGI Taiwan ทั้งนี้ ตัวแทนที่มาจาก KGI Taiwan ประกอบด้วยคณะกรรมการบริษัทจำนวน 3 คนจากทั้งหมด 9 คน นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยังได้รับการเสนอชื่อโดย KGI Taiwan อีกด้วย
KGI Taiwan ยังให้การสนับสนุนทางธุรกิจและความรู้ความเชี่ยวชาญแก่บริษัทตามความต้องการด้วยเช่นกัน ซึ่งการสนับสนุนของ KGI Taiwan ช่วยทำให้บริษัทกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดตราสารอนุพันธ์ในประเทศไทย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการสนับสนุนดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ที่จ่ายเงินปันผลให้แก่กลุ่มอย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงบทบาทของบริษัทที่มีความสำคัญต่อกลุ่มอีกด้วย
ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดในธุรกิจตราสารอนุพันธ์
นอกเหนือจากการเป็นหนึ่งในผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivatives Warrant ? DW) รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทยแล้ว บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านปริมาณการซื้อขาย DW เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้ออกทั้งหมดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 47.75% ในปี 2565 จาก 42.98% ในปี 2563 ซึ่งความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนประสบการณ์ในตลาดต่างประเทศ และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าจากบริษัทแม่และบริษัทในเครือของ KGI Group
ตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจการให้บริการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ High Frequency Trade (HFT) ดีขึ้น
ในระหว่างปี 2564-2565 บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จัดอยู่ในลำดับที่ 2 ในแง่ของส่วนแบ่งรายได้ของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนโดยเพิ่มขึ้นเป็น 4.0% ในปี 2565 จาก 0.6% ในปี 2562 ซึ่งได้แรงหนุนจากตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการให้บริการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT ให้แก่ลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำมาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะเพิ่มจำนวนลูกค้าแบบ HFT ให้มากขึ้นซึ่งจะช่วยทำให้ตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทในกลุ่มลูกค้าต่างชาติดียิ่งขึ้น
สำหรับธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์นั้น บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ยังคงรักษาตำแหน่งในลำดับที่ 3 เอาไว้ได้ในแง่ของส่วนแบ่งรายได้ โดยส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 10% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2563 บริษัทมีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของประเทศไทย (Thailand Futures Exchange ? TFEX) ในปี 2565 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 13.8% เพิ่มขึ้นจาก 9.4% ในปี 2563 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจาก HFT เป็นหลัก
สถานะเงินทุนยังคงอยู่ในระดับเพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะเงินทุนของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จะยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เงินทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital Ratio -- RAC) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 18.8% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 จากระดับ 17% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยได้รับแรงหนุนหลักมาจากการสะสมกำไรอย่างต่อเนื่องของบริษัท บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio -- NCR) ที่ยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 80% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งสูงกว่าอัตราขั้นต่ำของทางการที่ระดับ 7% เป็นอย่างมาก
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 17%-18% ในระยะ 3 ปีข้างหน้าโดยได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการสร้างรายได้ที่แข็งแกร่ง
ความสามารถในการทำกำไรจะยังคงแข็งแกร่งแม้จะมีความผันผวน
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ซึ่งวัดจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงถัวเฉลี่ยจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อไปในช่วงปี 2566-2568 แม้ว่าจะมีความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากกำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินที่ลดลงในปี 2566 ก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 2%-3% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งช่วยสนับสนุนสถานะอันดับเครดิตที่ระดับปัจจุบันได้โดยอยู่ภายใต้ความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะใกล้เคียงกับระดับเดิมโดยที่รายได้ค่าธรรมเนียมตลอดจนดอกเบี้ยและเงินปันผลจะปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมของบริษัทจะลดลงจากปี 2565 พอสมควรเนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองพิเศษจากความเสียหายด้านเครดิตของการส่งมอบหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
ยังคงพึ่งพากำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินเป็นหลักต่อไป
ทริสเรทติ้งมองว่าการพึ่งพากำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) นั้นเป็นปัจจัยด้านลบต่ออันดับเครดิตเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความผันผวน ทั้งนี้ ในปี 2565 กำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินของบริษัทลดลงเหลือ 1.2 พันล้านบาทจาก 2 พันล้านบาทในปี 2564 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 39% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกำไรที่ลดลงในธุรกิจ DW จากการมีกิจกรรมในตลาดที่เบาบางลงและความผันผวนที่มีมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564
กำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินคิดเป็นสัดส่วนที่สูงของรายได้รวมของบริษัทโดยอยู่ในช่วง 30%-40% ในเวลาปกติ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่น้อยกว่า 10% การพึ่งพากำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินที่สูงดังกล่าวเป็นสิ่งสะท้อนความผันผวนของรายได้ของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งประเมินว่ากำไรจากผลิตภัณฑ์ตราสารทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568 ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ปรับความเสี่ยงถัวเฉลี่ยได้ โดยมีพื้นฐานจากความคาดหวังของทริสเรทติ้งที่มองว่าตลาดจะฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยคาดว่าแนวโน้มในเชิงบวกดังกล่าวจะดำเนินต่อไปตลอดช่วงปี 2567-2568
การบริหารความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ทริสเรทติ้งประเมินให้สถานะความเสี่ยงของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) อยู่ในระดับที่เหมาะสมแม้ว่าจะมีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางก็ตาม ทั้งนี้ บริษัทได้ประโยชน์จากทั้งการสนับสนุนและแนวปฏิบัติในด้านการบริหารความเสี่ยงที่ต่อเนื่องจาก KGI Group ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ แพลตฟอร์มหรือช่องทางการซื้อขายแบบอัตโนมัติ กลยุทธ์การซื้อขาย และการจัดการความเสี่ยง ซึ่งในส่วนของแนวปฏิบัติจากกลุ่มนั้น บริษัทยังมีการพัฒนาต่อยอดรวมทั้งกำหนดนโยบายและกระบวนการบริหารความเสี่ยงของตนเองที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานด้วย โดยนโยบายดังกล่าวนั้น บริษัทได้กำหนดระดับเพดานความเสี่ยงที่รับได้และระบบติดตามตรวจสอบตลาดตามเวลาจริง (Real Time) ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขความเสียหายด้านเครดิตจากการส่งมอบหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 บริษัทจึงได้ทำการปรับปรุงนโยบายเครดิตในเชิงรุกด้วยการจำกัดวงเงินการให้สินเชื่อให้เข้มงวดยิ่งขึ้นทั้งสำหรับลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบัน
สถานะเงินทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ส่วนสถานะสภาพคล่ออยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะเงินทุนของ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในช่วง 2 ปีข้างหน้า อัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพ (Gross Stable Funding Ratio ? GSFR) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพกับความต้องการแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพนั้นอยู่ที่ระดับ 161% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังคงสูงกว่า 150% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็มองว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอเนื่องจากบริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่มากพอจากสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินและน่าจะเพียงพอสำหรับการดำเนินงานในระดับปัจจุบันและสำหรับแผนการขยายธุรกิจ
ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 580 ล้านบาทจากหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยรวมจำนวนทั้งสิ้น 4.1 พันล้านบาท ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 14% ทั้งนี้ อัตราส่วนที่เกินกว่า 50% จะส่งผลทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตตราสารหนี้ของบริษัทที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตลง 1 ขั้นอันเป็นผลจากการด้อยค่าในเชิงโครงสร้างของหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของผู้ออกตราสาร
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 ดังนี้
? อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.03%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 43%-46%
? อัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2%-3%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงเพิ่มความหลากหลายของแหล่งที่มาของรายได้ต่อไปด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมและการรักษาความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาฐานเงินกองทุนให้อยู่ในระดับปานกลางเอาไว้จากการมีระดับความสามารถในการทำกำไรที่มีความแข็งแกร่งและการจ่ายเงินปันผลในระดับที่เหมาะสม รวมถึงรักษาการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจมาจากการที่บริษัทสามารถเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สถานะทางธุรกิจได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับเครดิตก็อาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีฐานทุนซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาที่ต่อเนื่องซึ่งอาจเกิดจากการขาดทุนที่ทำให้ส่วนทุนลดลงหรือจากการขยายตัวของงบดุลอย่างรวดเร็วจากการขยายธุรกิจในเชิงรุก
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่อสถานะเครดิตของ KGI Group หรือมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับสถานะของบริษัทที่มีต่อ KGI Group ที่เปลี่ยนไปก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565
- Securities Company Rating Methodology, 9 เมษายน 2563
บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน (KGI)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KGI23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 535 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
อันดับเครดิตตราสารหนี้: Stable