ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทที่ได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนโดย Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของ CGIF ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AAA/Stable? โดย CGIF มีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ของบริษัท
ส่วนอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทนั้นสะท้อนถึงพัฒนาการทางการเงินของบริษัทซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาสุกรและไก่ในประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจไปสู่กิจการร้านค้าปลีก ตลอดจนการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทด้วย
บริษัทเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศไทยโดยดำเนินธุรกิจแบบกึ่งครบวงจร (Vertically Integration) ในธุรกิจไก่เนื้อและสุกร ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งที่มีต่อความผันผวนของผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนความแปรปรวนของราคาอาหารสัตว์ และการก่อหนี้จำนวนมากเพื่อการลงทุนของบริษัทด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าการเติบโตของรายได้จะช้าลง
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.25 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.49 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ รายได้จากสุกรและไก่ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 61% ของรายได้รวมของบริษัทนั้นเติบโตที่ระดับ 36% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 3.19 หมื่นล้านบาท ในขณะที่รายได้จากธุรกิจร้านค้าปลีกซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 15% นั้นเติบโตมากกว่า 400% โดยมาอยู่ที่ระดับ 7.8 พันล้านบาท ส่วนรายได้ที่เหลือที่มาจากธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16% ธุรกิจอาหาร 7% และธุรกิจอื่น ๆ อีก 1% ของรายได้รวมนั้นเติบโตที่ระดับประมาณ 12%-30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การเติบโตของรายได้ดังกล่าวมาจากราคาขายเฉลี่ยของสินค้าปศุสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นถึง 8.8 พันล้านบาทในปี 2565 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 159% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลงเล็กน้อยในปี 2566 หลังจากนั้นจะเติบโตที่ระดับประมาณ 4%-10% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2567-2568 ทั้งนี้ รายได้ที่เติบโตเพียงเล็กน้อยนั้นสอดคล้องกับสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าบริษัทจะยังคงมีการขยายร้านค้าปลีกในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาหารสัตว์ ในขณะที่รายได้จากสินค้าปศุสัตว์จะลดลงตามราคาปศุสัตว์ที่ลดลง โดยราคาขายเฉลี่ยของสุกรนั้นลดลงจากการมีอุปทานส่วนเกินของสุกรที่มาจากประเทศในแถบยุโรปและประเทศอาฟริกาใต้ ส่วนราคาไก่ที่ลดลงนั้นเนื่องมาจากการบริโภคที่ล่าช้าจากการมีปริมาณสินค้ากักตุนจำนวนมากในตลาดหลักหลาย ๆ แห่ง
ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวดีขึ้นโดยเป็นผลจากราคาเนื้อสัตว์ที่ทำสถิติเพิ่มสูงขึ้น
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดที่ 18.4% ในปี 2565 จาก 8%-15% ในช่วงปี 2560-2564 โดยได้รับอานิสงส์จากราคาสุกรและไก่ในประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ซึ่งเกิดจากภาวะผลผลิตขาดแคลนอย่างต่อเนื่องและอุปสงค์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ทั้งนี้ กำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12.6% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.8%
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรขั้นต้นของบริษัทจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยต้นทุนอาหารสัตว์นำเข้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงหลังจากผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนคลี่คลายลง โดยในอนาคตข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงให้มากขึ้นและเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีก ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 11%-13% ในระหว่างปี 2566-2568
เงินลงทุนจะส่งผลกระทบทำให้ภาระหนี้สินทางการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 62% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนรายปีของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.8-5.5 พันล้านบาทในระหว่างปี 2566-2568 ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ แผนการลงทุนของบริษัทจะครอบคลุมไปถึงการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจปศุสัตว์และธุรกิจอาหารสัตว์รวมทั้งการลงทุนในร้านค้าปลีก เมื่อพิจารณาจากแผนซึ่งคาดว่าบริษัทจะขยายสาขาอย่างต่อเนื่องที่ราวๆ 100-120 สาขาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดแล้วก็น่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทคงอยู่ที่ระดับ 56%-58% ในระหว่างปี 2566-2568 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA จะอยู่ที่ประมาณ 3-3.6 เท่าในช่วงเดียวกัน และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 23%-26% จากระดับ 33% ในปี 2565
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีแผนการในการใช้จ่ายซึ่งประกอบด้วยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนทั้งสิ้น 4.6 พันล้านบาท เงินลงทุนตามแผนจำนวน 5.5 พันล้านบาท และการจ่ายเงินปันผลที่อัตรา 40% ในขณะที่แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 897 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 4.8 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.7 พันล้านบาทในปี 2566
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวกับภาระหนี้สินทางการเงินได้ โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 1.7 เท่าซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดทางการเงินซึ่งอยู่ที่ระดับ 2 เท่า
บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 2.79 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงภาระหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 9.18 พันล้านบาท ทั้งนี้ อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางที่ 42%
สถานะเครดิตของ CGIF
อันดับเครดิตของ CGIF สะท้อนถึงสถานะของ CGIF ที่เป็นสถาบันระหว่างประเทศแบบพหุภาคี (Multilateral Institution) ซึ่งมีเจ้าของที่เป็นผู้จัดตั้งอันประกอบด้วยรัฐบาลของกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอีก 3 ประเทศ (ASEAN+3) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งเรียกรวมกันว่า ?กลุ่มผู้ร่วมทุน? (Contributors) ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ CGIF จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกหลักของกลุ่มผู้ร่วมทุนในยามที่มีปัญหาทางการเงิน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงเงินทุนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง และสภาพคล่องที่แข็งแรงของ CGIF อีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 2566 และจะเติบโตที่ระดับ 4%-10% ต่อปีในระหว่างปี 2567-2568
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 11%-13% ต่อปีในระหว่างปี 2566-2568
? ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.8-5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันในธุรกิจไก่และสุกรภายในประเทศเอาไว้ได้ อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะเครดิตในปัจจุบันเอาไว้ได้ในขณะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการแผนการใช้จ่ายและลงทุนที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ของตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันของบริษัทนั้นสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันคือ CGIF แต่เพียงประการเดียว
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่เป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้งและสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ให้ต่ำกว่าระดับ 3 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA สูงเกินกว่าระดับ 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อันดับเครดิตตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงหากอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกันคือ CGIF มีการเปลี่ยนแปลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TFG)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TFG251A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AAA
TFG26NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้: Stable