บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทย ตลอดจนการดำเนินกิจการที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพทั้งด้านการกลั่นน้ำมันและการผลิตอะโรเมติกส์ รวมทั้งตราสัญลักษณ์ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันที่มีชื่อเสียง งบดุลการเงินที่อยู่ในระดับดี และการสนับสนุนจาก Exxon Mobil Corporation และบริษัทในเครือ (ExxonMobil) ทั้งนี้ ในการให้อันดับเครดิตยังคำนึงถึงความผันผวนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี รวมถึงราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่มีความผันแปรสูง โดยที่กำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของโรงกลั่นและพาราไซลีน ตลอดจนอุปสงค์ด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ลดลงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งทั้งในส่วนของการดำเนินงานและฐานะทางการตลาดเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแรง รวมถึงค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่ต่ำ และภาระการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ที่มีการกระจายตัวดีน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถผ่านพ้นวงจรขาลงของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันและอะโรเมติกส์ไปได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ ExxonMobil ในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในโรงกลั่นจำนวน 38 แห่งที่ ExxonMobil บริหารงานอยู่ทั่วโลก บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจน้ำมันในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2437 และเริ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในปี 2514 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มแรกที่ 35,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันบริษัทประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบซับซ้อน (Complex Refinery) และดำเนินการผลิตด้วยกำลังการผลิตสูงสุดที่ 177,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 16% ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของไทย ในขณะที่มียอดขายผ่านสถานีบริการน้ำมันภายใต้ชื่อการค้า “เอสโซ่” จำนวน 2,500-3,000 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็น 15%-18% ของยอดขายปลีกน้ำมันของประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ในฐานะบริษัทในเครือ บริษัทได้นำแบบแผนที่มีระเบียบวินัยสูงของ ExxonMobil มาใช้ในธุรกิจการกลั่นทั้งในส่วนของการปฏิบัติการและระบบการบริหารจัดการของกลุ่ม และด้วยการใช้เทคโนโลยีและดำเนินตามปรัชญาของ ExxonMobil ส่งผลให้โรงกลั่นของบริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและมีความพร้อมของหน่วยผลิตในระดับสูงในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค นอกจากนี้ บริษัทยังได้ใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถระดับโลกของ ExxonMobil ในการจัดหาน้ำมันดิบและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย ภายหลังการปรับโครงสร้างองค์กรและการเพิ่มทุนในปี 2550-2551 ExxonMobil International Holdings Inc. และบริษัทในเครือยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดยปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นของบริษัทประกอบด้วย ExxonMobil 66% กระทรวงการคลัง 7.3% และนักลงทุนทั่วไป 26.7%
การดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการเลือกผลิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าระหว่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยสัดส่วนน้ำมันสำเร็จรูปที่บริษัทผลิตได้ในช่วงปี 2548-2550 ประกอบด้วย น้ำมันดีเซล 34.5% น้ำมันเบนซิน 22% รีฟอร์เมต (Reformate) 12% น้ำมันเตา 11.7% น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน 7.5% และผลิตภัณฑ์อื่น 12.3% ในขณะที่มีการผลิตพาราไซลีนโดยเฉลี่ยที่ 400,000 ตันต่อปี บริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปผ่านเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันของเอสโซ่ในสัดส่วน 32% ที่เหลือมีการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2551 บริษัทมีสถานีบริการน้ำมันภายใต้เครื่องหมายการค้า “เอสโซ่” ทั้งสิ้น 555 แห่ง ซึ่งช่วยให้บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายและยืดหยุ่น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วงปี 2548-2550 รายได้ของบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) ประมาณ 91% มาจากธุรกิจการกลั่นน้ำมันและการจัดจำหน่ายน้ำมัน ส่วนอีก 9% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 83.7% จากการที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ทำให้บริษัทมีค่าการกลั่นในระดับสูงถึง 15.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งปรับลดจากระดับสูงสุดที่ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลลงมาอยู่ที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ทำให้คาดว่าค่าการกลั่นของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังจะต่ำกว่าช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้ ค่าการกลั่นเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว
โครงสร้างทางการเงินของบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) ปรับตัวดีขึ้นมากภายหลังจากการเพิ่มทุนในปี 2550 และการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 โดยเงินกู้รวมของบริษัทลดลงจาก 62,316 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 30,577 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2551 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจาก 106% ในปี 2549 เป็น 58.73% ในปี 2550 และเป็น 49.87% ณ เดือนกันยายน 2551 การมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาททำให้บริษัทมีเงินทุนเพียงพอสำหรับใช้ในโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้ได้ตามมาตรฐานใหม่ (EURO IV) และจ่ายชำระเงินกู้โดยเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาทได้โดยมีความต้องการใช้เงินทุนจากภายนอกไม่มากนัก นอกจากนี้ ณ เดือนกันยายน 2551 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับวงเงินสินเชื่อเงินกู้หมุนเวียนจาก ExxonMobil อีก 54,000 ล้านบาทแล้ว ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งพอที่จะรองรับภาวะวงจรขาลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้ ทริสเรทติ้งกล่าว -- จบ
อันดับเครดิตองค์กร: A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2551 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงมิได้รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้น ผลที่ได้รับ หรือการกระทำใดๆ โดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว