บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นระดับ “A+” จากระดับ “AA-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” การปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Rating) ของ ธพว. ที่อ่อนแอลงแม้จะยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่แข็งแกร่งจากกระทรวงการคลังเนื่องจาก ธพว. มีบทบาทสำคัญในเชิงนโยบายของประเทศในการเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อันดับเครดิตเฉพาะของ ธพว. ตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากธนาคารมีผลประกอบการต่ำกว่าที่คาดการณ์และการขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอันเกิดจากการควบคุมภายในที่หละหลวมและการบริหารความเสี่ยงที่ไม่มีประสิทธิภาพ การพิจารณาอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารยังคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร แนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจถดถอยยิ่งขึ้น และภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงต่อไปในระยะปานกลาง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของ ธพว. อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าคณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ของธนาคารจะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีการกำกับดูแลที่ดีเพื่อควบคุมความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินงานภายในได้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของธนาคารกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินในรูปของการให้ทุนและเงินชดเชยจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธพว. ก่อตั้งในปี 2545 ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยการรับโอนสายงานสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งงานด้านการเงินและปฏิบัติการจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บอย.) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ธนาคารหลายครั้ง โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 เงินเพิ่มทุนของธนาคารคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,500 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2551 กระทรวงการคลังได้เพิ่มเงินให้อีก 600 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มให้อีก 2,000 ล้านบาทภายในปี 2552 นี้ การที่กระทรวงการคลังแสดงเจตนารมณ์ในการเพิ่มทุนเป็นสิ่งยืนยันถึงการสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่ที่รัฐบาลมีต่อ ธพว. ในเวลาที่ธนาคารประสบปัญหา การสนับสนุนดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้ธนาคารสามารถให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและเพื่อให้บรรลุบทบาทของ ธพว.
ธพว. มีผลประกอบการขาดทุนสูงถึง 1,388 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 หลังจากที่มีผลขาดทุนสูงถึง 1,065 ล้านบาทในปี 2550 ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะมีข้อจำกัดจากปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและภาวะธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อถดถอยลงเร็วกว่าคาด นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะมีหนี้สูญตัดบัญชีเพิ่มขึ้นจากแผนการแก้ปัญหาสินเชื่อที่ระงับรับรู้รายได้ด้วย ค่าใช้จ่ายจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอาจมีผลกระทบต่อกำไรและเงินกองทุนของธนาคารในระยะใกล้ อีกทั้งผลกระทบจากหนี้สินผูกพันที่อาจเกิดขึ้นจากค่าปรับตามสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยจะกดดันความสามารถในการทำไรของธนาคาร โดยอาจทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองสำหรับค่าปรับดังกล่าวเป็นจำนวนเงินประมาณ 800 ล้านบาทต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า
อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ระงับรับรู้รายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยของ ธพว. เพิ่มขึ้นจาก 23% ในปี 2548 เป็น 45% ในปี 2549 เป็น 44% ในปี 2550 และเท่ากับ 51% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ระงับรับรู้รายได้ยังคงเพิ่มขึ้นจาก 19% ในปี 2548 เป็น 43% ในปี 2549 เป็น 44% ในปี 2550 และเท่ากับ 51% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ระงับรับรู้รายได้จำนวน 99% เกิดจากสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติก่อนปี 2549 การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ระงับรับรู้รายได้ส่งผลทำให้อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินกองทุนและสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 2.1 เท่า ณ สิ้นปี 2548 เป็น 3.5 เท่า ณ สิ้นปี 2549 และปี 2550 และเป็น 4.2 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ซึ่งสูงกว่าระดับเฉลี่ยที่ 0.9 เท่าสำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง และที่ 0.65 เท่าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ทั้งนี้ สัดส่วนดังกล่าวคาดว่าจะปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากการเพิ่มทุนครั้งใหม่จำนวน 2,000 ล้านบาทภายในปี 2552 นี้
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความท้าทายของ ธพว. ในอนาคตคือการรักษาสมดุลระหว่างภารกิจในการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในฐานะที่เป็นหน่วยงานเชิงนโยบายของรัฐบาลและการปรับปรุงผลและประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยการปฏิบัติตามระบบบริหารความเสี่ยงที่มีมาตรฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภารกิจหลักสำหรับปี 2552 ภายใต้การบริหารงานของกรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 คือการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร การแก้ปัญหาสินเชื่อที่ระงับรับรู้รายได้ และการเพิ่มความรัดกุมในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ — จบ
อันดับเครดิตองค์กร: ลดลงเป็น A+ จาก AA- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2552 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงมิได้รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้น ผลที่ได้รับ หรือการกระทำใดๆ โดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว